10 จังหวะดีๆ ที่ทำไมเราควรซื้อประกันบำนาญ
ในวันที่ดอกเบี้ยติดลบ ธนาคารเป็นเพียงแหล่งเก็บเงินไว้เพื่อใช้จ่ายในยามจำเป็น การคาดหวังเงินฝากให้งอกเงยไว้ใช้หลังเกษียณเป็นเรื่องที่หลายคนอาจนึกภาพของแหล่งลงทุนเพื่อความมั่งคั่งหรือการลงทุนเพื่อความมั่นคงที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดในแบบไหนดี
วันนี้ คุณพิเชษฐ์ เจียรมณีทวีสิน นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือ ทอมมี่ แอ๊คชัวร์รี่ มี 10 จังหวะดีๆ ที่ทำไมเราควรซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญ มาฝากกันค่ะ
- Inventory ของพันธบัตรดอกเบี้ยสูงๆ ที่ก่อนนี้บริษัทประกันเคยเก็บเอาไว้เริ่มที่จะหมด ส่วนดอกเบี้ยจากพันธบัตรรัฐบาลปัจจุบันลดลงมาแตะที่ประมาณ 2% ทำให้คาดเดาได้ว่า จะต้องมีการเพิ่มเบี้ยประกันสูงขึ้น 10% – 20% ในเร็ววันนี้ อย่างแน่นอน เปรียบเหมือนกับ ราคาน้ำตาลที่มีราคาสูงขึ้น ราคาขนมเค้กก็ต้องขึ้นตามทันที แต่เนื่องจากมีสต็อกน้ำตาลในราคาเดิมเหลืออยู่ จึงรอจนใช้น้ำตาลในสต็อกให้หมดก่อนแล้วค่อยปรับราคาขนมเค้กขึ้น เช่นเดียวกับ ดอกเบี้ยพันธบัตรที่ลดลงถอยลงมาเกือบครึ่งปี บริษัทประกันเองได้เตรียมปรับขึ้นราคากันถ้วนหน้า โดยเฉพาะประกันบำนาญที่จะขึ้นเบี้ยหนักสุด เนื่องจากเป็นประกันระยะยาว
- เปลี่ยนเงินก้อนจาก Active income ในวันนี้ ให้กลายเป็น Passive income ในอนาคต ด้วยผลตอบแทนที่การันตี เช่นพันธบัตร แต่สิ่งที่ทำมากไปกว่านั้นก็คือการ lock อัตราดอกเบี้ยไปจนถึงอายุ 80 – 90 ปี ซึ่งไม่มีพันธบัตรไหนในประเทศไทยที่ยาวถึงขนาดนี้ มีแต่ประกันบำนาญเท่านั้น
- ซื้อไปแล้วจะถอนเงินคืนออกมาเมื่อไรก็ได้ (หรือจะกู้กรมธรรม์ออกมาก็ได้) ซึ่งมีสภาพคล่องได้เปรียบกว่า RMF หรือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ต้องรอจนถึงอายุ 55 ปี
- ไม่ต้องเสียภาษี 15% ของผลตอบแทนที่ได้รับ เหมือนอัตราดอกเบี้ยจากเงินฝากประจำ พันธบัตร หุ้นกู้ หรือตราสารหนี้อื่นๆ
- ลดหย่อนภาษีได้ สูงสุด 200,000 บาท เป็นของแถม ถ้าใครฐานภาษี 20% ก็เท่ากับเหมือนได้ลดเบี้ยไป 20% เป็นการจูงใจการออมที่น่าสนใจมาก
- ตลาดพันธบัตรในอนาคตยังคงดอกเบี้ยต่ำ เหมือนญี่ปุ่นที่ผ่านมาเกือบ 20 ปี แล้วอัตราดอกเบี้ยไม่เคยสูงขึ้น นับวันมีแต่น้อยลงจนติดลบไปแล้ว ซึ่งถ้าเวลาผ่านไปอีก 20 ปี แล้วพันธบัตรในประเทศไทยคงไม่สามารถกลับมาให้ดอกเบี้ยได้สูงดังเดิมอีกต่อไป
- แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ดอกเบี้ยในตลาดกลับมาสูงกว่าผลตอบแทนการันตีที่แบบประกันบำนาญจะให้ได้ เราก็มีสิทธิ์ refinance เปลี่ยนเงิน Passive income นี้ไปเป็นเงินก้อนอีกครั้ง (ยกเลิกกรมธรรม์เพื่อถอนเงินออกมา) เพื่อที่จะนำไปลงทุนในตลาดพันธบัตรอื่นๆ ได้อีกครั้งนึง (เปรียบเหมือนเราได้ถือ puttable bond เอาไว้ จะใช้สิทธิ์ถอนเงินก้อนเมื่อไรก็ได้ ที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดนั้นดีกว่าของที่เรามีอยู่ในมือ) – จุดนี้เพื่อผลประโยชน์ของผู้บริโภค จึงขออนุญาตชี้ช่องไว้ตรงนี้
8. LTF ในจังหวะนี้ ไม่น่าดึงดูดอีกต่อไป เพราะต้องถือไว้ 7 ปี และเสี่ยงต่อภาวะวิกฤตติดดอยได้สูงมาก โดยทุกคนต่างทราบกันดีว่า หุ้นในตอนนี้ เป็นราคาที่เหมาะสม (ด้วยปัจจัยที่สภาพคล่องล้นเหลือ และสินทรัพย์อื่นผลตอบแทนต่ำมาก เงินจึงมากองในตลาดหุ้น) แต่ถ้ามองในระยะยาว 3 –5 ปี จะมองว่าแพงเกินพื้นฐาน ไปค่อนข้างมาก การลงทุนใน LTF ในจังหวะนี้ จึงต้องเตรียมใจรับสภาพความผันผวนและขาดทุนเมื่อเกิด ภาวะวิกฤตในภายภาคหน้า
9.การถือประกันบำนาญเป็นการกระจายความเสี่ยง ให้มองว่าเหมือนเป็นพันธบัตรชนิดหนึ่งที่ไม่เสียภาษี และในการจัดพอร์ต ถ้ามีเงินอยู่ 1 ล้าน บาท อาจจะจัดได้ดังนี้ (ขึ้นกับการรับความเสี่ยงของแต่ละคน
A : รับความเสี่ยงสูง – หุ้น 8 แสน / พันธบัตร 1 แสน / เงินสด 1 แสน
B: รับความเสี่ยงปานกลาง -หุ้น 4 แสน/พันธบัตร 5 แสน/เงินสด 1 แสน
C : รับความเสี่ยงต่ำ – หุ้น 1 แสน / พันธบัตร 8 แสน/ เงินสด 1 แสน
- ประกันบำนาญถือเป็น Passive income แบบหนึ่ง ซึ่งถ้าจะให้ดี ควรจะรอบรับปัญหาเงินเฟ้อใน อนาคต 20 – 40 ปีข้างหน้าได้ด้วย
ทั้งนี้ คุณทอมมี่ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า การวางแผนการเกษียณสำหรับคนไทยนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่วันนี้จังหวะดีๆ ในการสะสมประกันบำนาญมาถึงแล้ว ซื้อวันนี้จ่ายเงินบำนาญตลอดชีพ บางแบบเมื่อสมัย 20 ปีที่แล้ว ที่ใครถือเอาไว้จนถึงตอนนี้ ก็ยังได้ผลตอบแทนเกิน 5% การันตีกันถ้วนหน้า
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
อย่าหยุดที่จะพัฒนา เพราะไม่มีอะไรยาก ถ้าเราพยายาม…