ผมขอเชิญชวนทุกท่านให้เริ่มวางแผนเกษียณด้วยขั้นตอนง่าย ๆ ภายใต้แนวคิดไม่ซับซ้อน ยุ่งยากจนเกินไป โดยเริ่มต้นจาก กฎ 50/20/30 คือสัดส่วนของ NEEDs/SAVINGs/WANTs คือการแบ่งรายได้ออกเป็น 3 ส่วนคือ
(1)NEEDs คือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในต่อการดำรงชีพ ซึ่ง จากเพจชื่อ นักลงทุนบ้านนอก ได้แบ่งออกเป็น 4 เรื่องคือ ความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ความจำเป็นต่อการหารายได้ ความจำเป็นต่อความปลอดภัย และความจำเป็นต่อการปกป้องหรือชดเชยรายได้ในอนาคต
(2)SAVINGs คือส่วนเก็บออม ซึ่งจะกลายเป็น เงินฉุกเฉิน, เบี้ยประกัน และ กองทุนเกษียณต่อไป
(3)WANTs คือส่วนที่ทำให้ชีวิตของเรามีรสชาติ มีสีสัน สนองความต้องการที่มีอย่างไม่จำกัด
เมื่อเราสามารถจัดสรรรายได้ของเราออกเป็น 3 ส่วนข้างต้นได้แล้ว โดยที่สัดส่วนอาจจะไม่ใช่ 50/20/30 ก็ได้ บางคนที่เริ่มทำงานมีรายได้น้อย อาจใช้สัดส่วน 70/5/25 ก็ได้ แต่อย่างน้อยขอให้ส่วนที่เป็น SAVINGs มีค่ามากกว่า 0 คือมีการเก็บออม ทุกครั้งที่รับรายได้
ดังนั้น ไม่ว่าเราจะเป็นคนทำงานประจำ หรือ ไม่ประจำก็ตามทุกครั้งที่มีรายรับเข้ามา ควรแบ่งรายรับก้อนนั้นออกเป็น 3 ส่วน และส่วนที่ต้องนำไป บริหารจัดการต่อคือ ส่วน SAVINGs
คำถามคือ จะนำเงินออมไปเก็บไว้ตรงไหนดี
ก็ต้องตอบคำถามด้วย เป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ของการเก็บออม
เป้าหมายแรกคือ การสร้างเงินกองทุนฉุกเฉิน เพื่อรองรับเหตุการณ์ทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด เช่น ตกงาน ไม่มีรายได้ รวมทั้ง การเจ็บป่วย และอุบัติเหตุรุนแรงจนไม่สามารถทำงานได้
จำนวนเงินที่ควรมีในส่วนนี้คืออย่างน้อยเท่ากับรายจ่าย 6 เดือน ถ้าเก็บได้ถึง 12 เดือนยิ่งดี เผื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดยาวนาน เราจะสามารถเตรียมรับมือกับเหตุการณ์นั้นได้นานถึง 12 เดือน
และเครื่องมือทางการเงินที่ควรเลือกใช้กับเงินกองทุกฉุกเฉิน ควรเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ ถอนง่าย มีความผันผวนต่ำ ไม่มีโอกาสขาดทุน ซึ่งก็หนีไม่พ้น เงินฝากธนาคาร หรือกองทุนตลาดเงิน
จะเห็นได้ว่า แค่เป้าหมายแรกก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยทีเดียว ขนาดคนที่เก็บเงินในสัดส่วนสูงถึง 20% อาจต้องใช้เวลานานถึง 80×12÷20 = 48 เดือน หรือ 4 ปีเลยทีเดียวเชียว หากตั้งเป้าเงินกองทุนฉุกเฉินที่ 12 เดือน หรือ 2 ปีหากตั้งเป้ากองทุนฉุกเฉินจำนวน 6 เดือนของค่าใช้จ่าย
สมมติว่าเราสามารถผ่านด่านแรกมาได้ คือ มีเงินกองทุนฉุกเฉินตามเป้าหมายที่เราต้องการเรียบร้อยแล้ว
เป้าหมายต่อไปคือ การทำประกันเพื่อโอนความเสี่ยง ซึ่งในประเด็นนี้อาจต้องควาญหาตัวแทนประกันชีวิตที่เป็นมืออาชีพ ไม่ใช่ใครก็ได้ แค่เพื่อนหรือคนรู้จักที่มีใบอนุญาตขายประกันชีวิตอาจไม่ใช่ตัวแทนที่เป็นมืออาชีพมากพอที่จะจัดแผนประกันที่เหมาะสมให้กับตัวเรา และถ้าเราไม่ เลือกตัวแทนมืออาชีพ คิดว่าทำกับใครก็ได้ เพราะไม่คิดว่าจะต้องใช้ ทำเผื่อไว้ เมื่อถึงวันที่ได้ใช้ และต้องการคำแนะนำ บริการจากตัวแทน แล้วพบว่า ตัวแทนไม่อยู่แล้ว ออกจากอาชีพไปแล้ว กรมธรรม์ท่านเป็นกำพร้า มีปัญหาจากความต้องการบริการบางอย่างจากตัวแทนฯ ท่านต้องทำใจน่ะครับ ขอบอกไว้ตรงนี้ล่วงหน้า เพราะเรื่องราวแบบนี้มีให้เห็นมาตั้งแต่ผมเริ่มเข้ามาในอาชีพนี้ จนถึงวันนี้ผ่านไป 30 ปีก็ยังมีเรื่องราวแบบนี้ให้เห็นอยู่ ไม่หายไปตามกาลเวลา ตราบเท่าที่ คนเรายังทำประกันเพื่อช่วยตัวแทน ไม่เลือกตัวแทนที่เป็นมืออาชีพ
มาถึงตรงนี้ อาจมีบางท่าน คิดว่า แค่ 2 ส่วนที่ว่า เงินส่วน SAVINGs ก็ไม่เหลือไปทำอย่างอื่นแล้ว เพราะเบี้ยประกันอาจมากถึง 10%-20% ของรายได้ แล้วจะมีเงินที่ไหนเหลือไปสร้างกองทุนเกษียณ
ท่านอาจจะลืมไปว่า เมื่อเวลาผ่านไป เราควรจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เพราะความสามารถมากขึ้น แล้วรายได้ส่วนที่เพิ่มขึ้น ท่านนำไปทำอะไร
มีคนบอกว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถเพิ่มรายจ่ายให้เท่าทันรายได้ตลอดเวลา หรืออาจจะเพิ่มรายจ่ายจนแซงรายได้ คือเป็นหนี้ก็เป็นได้
ดังนั้น เราควรนำรายได้ส่วนที่เพิ่มไปเพิ่มเป็นส่วนของ SAVINGs ไม่ใช่นำไปเพิ่มส่วน NEEDs หรือ WANTs
รู้แบบนี้แล้ว แปลว่า จะมี เงินออม เพิ่มขึ้นจาก รายได้ที่มากขึ้น และ รายได้ที่เพิ่มขึ้น นี่แหละที่เราจะนำไปสร้างกองทุนเกษียณ แล้วควรใช้เครื่องมือทางการเงินอะไรดีถึงจะเหมาะสม
ผมขอแนะนำ RMF หรือ กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ เพราะนอกจากจะได้ประโยชน์จากการออมในระยะยาว บังคับให้เก็บ ถอนก่อนอายุ 55 ไม่ได้(ที่จริงถอนได้ แต่ต้องคืนภาษี เสียค่าปรับ เสียหายมากมาย ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ คงไม่มีใครขายก่อนอายุ 55 ปีแน่) ยังลดหย่อนภาษีได้ และได้โอกาสกำไรจากการลงทุนในระยะยาวอีกด้วย
จำนวนเงินที่เราสามารถลงทุนใน RMF ได้เพื่อลดหย่อนภาษีคือ ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปีและเมื่อนับรวมกับกองทุนอื่น ๆ เช่น Provident Fund, SSF, กบข. และประกันบำนาญ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท แต่อย่าลืมเงื่อนไขที่สำคัญคือ
1)ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง หรืออย่างน้อยที่สุดคือปีเว้นปี ถ้าเว้นมากกว่าหนึ่งปีจะถือว่าทำผิดเงื่อนไข
2)ต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปีต่อเนื่อง และต้องมีอายุครบ 55 ปี ถึงจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนมาใช้ได้
3)ไม่มีกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำต่อปี ปีไหนไม่สะดวก รายได้น้อย อาจเลือกออมหรือลงทุนเพียงหลักร้อย ก็ได้ แต่ไม่แนะนำให้หยุดลงทุน เพราะอาจลืมลงทุนในปีถัดไปจนทำให้ผิดเงื่อนไขในข้อ 1)
แล้วก็อาจจะมีคำถามว่า เลือกกองไหนดี และมักจะได้ยินคำตอบว่า เลือกลงทุนตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และอะไรคือความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ก็คงตอบแบบที่ชาวบ้านอย่างผมเข้าใจคือ
ถ้าอายุยังน้อยเหลือระยะเวลาลงทุนยาวนานขนาด 20 ปี(แปลว่าอายุน้อยกว่า 35 ปี) ควรเลือกลงทุนกองตราสารทุน โดยอาจเลือกกองทุนที่ลงทุนใน ดัชนีของประเทศหรือของโลกก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้เงินของเราเติบโตหรือเคลื่อนไหวไปตามเศรษฐกิจโลก ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ในระยะยาวเศรษฐกิจโลกหรือประเทศ ควรต้องเติบโต ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม หรือจะหาผู้เชี่ยวชาญที่เรียกว่า FA Financial Advisor (น่าจะเรียกว่า RIA Registered Investment Advisors เหมือนในอเมริกา) มาช่วยให้คำแนะนำก็ได้
จะขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น สมมติว่า เริ่มต้นรายได้หลังหัก กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสังคม ภาษีแล้ว เหลือ 14,000 บาทต่อเดือน แจกแจงแต่ละปีแล้วเป็นดังนี้
ปีที่ 1 สัดส่วน NEEDs/SAVINGs/WANTs เป็น70/5/25 คิดเป็นจำนวนเงิน 9,800/700/3,500 สรุปเป็นเงินเก็บเดือนละ 700 บาท และเงินใช้เดือนละ 13,300 บาท สัดส่วน เงินออม:ค่าใช้จ่าย เป็น 5:95
ดังนั้น ถ้าจะสร้างกองทุนฉุกเฉิน 6 เดือนควรต้องมีเงิน 79,800 บาท(=13,300 x 6) เป็นเป้าหมายแรก แต่ปีแรกจะสามารถเก็บเงินได้เพียง 8,400 บาท(=700 x 12)
ปีที่ 2 รายได้เพิ่มขึ้นเดือนละ 1,000 บาท ดังนั้นจะสามารถเก็บเงินเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 1,700 บาทคิดเป็นเงินเก็บทั้งปีจำนวน 20,400 บาท เมื่อรวมกับเงินเก็บปีแรกจะเป็นเงินทั้งสิ้น 28,800 บาท
ปีที่ 3 รายได้เพิ่มขึ้นเดือนละ 1,200 บาท ดังนั้นจะสามารถเก็บเงินเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 2,900 บาทคิดเป็นเงินเก็บทั้งปีจำนวน 34,800 บาท เมื่อรวมกับเงินเก็บปีที่สองจะเป็นเงินทั้งสิ้น 63,600 บาท
ปีที่ 4 รายได้เพิ่มขึ้นเดือนละ 1,500 บาท ดังนั้นจะสามารถเก็บเงินเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 4,400 บาทคิดเป็นเงินเก็บทั้งปีจำนวน 52,800 บาท เมื่อรวมกับเงินเก็บปีที่สามจะเป็นเงินทั้งสิ้น 116,400 บาท
จะเห็นได้ว่า เมื่อเข้าปีที่ 4 จะพบว่า
1)มีเงินเก็บเป็น กองทุนฉุกเฉิน เกินเป้าหมาย 6 เดือน และจะมีเงินเหลือเพื่อทำประกันเป็นจำนวน 36,600 บาท(=116,400 – 79,800)
2)รายได้เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 17,700 บาท หักเพื่อออมเดือนละ 4,400 บาท และสัดส่วน เงินออม:ค่าใช้จ่าย ถูกเปลี่ยนเป็น 24.86 : 75.14 ประมาณ 25 : 75 ไม่น่าเชื่อว่า จะสามารถมีสัดส่วนการออมเพิ่มขึ้นจาก 5% ในปีแรกเป็น 25% ในปีที่ 4 ได้
จะเห็นได้ชัดเจนว่า กลยุทธ์นี้ จะทำให้เราเพิ่มสัดส่วนเงินออมโดยที่เราไม่รู้ตัว และอาจจะคาดไม่ถึงว่าเราจะสามารถออมเงินในสัดส่วนที่สูงได้มากขนาดนี้
นับตั้งแต่ในปีที่ 4 เราอาจจะสำเร็จทั้งเป้าหมายแรกและเป้าหมายที่สองในปีเดียวกัน เพราะมีเงินเก็บเหลือเป็นจำนวน 36,600 บาท ซึ่งมากพอที่จะทำประกันชีวิตและอนุสัญญาเพื่อโอนความเสี่ยงได้ตามต้องการ
นั่นหมายความว่า ตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป ยังไม่นับรวมรายได้ที่เพิ่มขึ้น เราจะมีเงินออมอย่างน้อยเดือนละ 4,400 บาทหรือปีละ 52,800 บาท ซึ่งสามารถนำไปแบ่งออกเป็น 2 ส่วนเพื่อ จ่ายเบี้ยประกันและนำไปลงทุน RMF เพื่อสร้างกองทุนเกษียณ
หวังว่า ทั้งหมดข้างต้นที่กล่าวมา จะทำให้มองเห็นภาพของการสร้างกองทุนเกษียณ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ การวางแผนเกษียณ เพื่อนำไปสู่ การวางแผนสร้างรายได้หลังเกษียณ ต่อไป
ขอให้ทุกท่านเกษียณอย่างมีความสุขสงบ(Peace of MIND)
หมายเหตุ
เจ้าของแนวคิดแบ่งรายได้เป็น 3 ส่วนคือ Senator Elizabeth Warren อยู่ในหนังสือชื่อ. All Your Worth: The Ultimate Lifetime Money Plan.
https://www.thebalance.com/the-50-30-20-rule-of-thumb-453922
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com