“แผนที่ชี้รวย” โดย Wealthy Man หลังจากกั๊กเรื่องมาพอสมควรในที่สุด ครม. ก็อนุมัติแพ็คเกจบูมอีวีออกมาเน้นไปที่ผู้ใช้งานเป็นหลัก มาตรการส่งเสริมมีทั้งให้เงินอุดหนุนรถยนต์และรถกระบะคันละ 7 หมื่นบาท 1.5 แสนบาทต่อคัน ส่วนรถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน แถมลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% และรถกระบะเป็น 0% รวมถึงการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ทั้งคัน รวมแพ็คเก็จทั้งหมดน่าจะทำให้ราคาอีวีลดลงได้ 20-30% หรือคิดง่ายๆ จากที่เคยซื้อรถอีวี 1 ล้านบาท ก็จะได้ราคาที่ถูกลง 2-3 แสนบาท จ่ายแค่ 7-8 แสนบาทเท่านั้น

ซึ่งเรื่องนี้นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย “กฤษฎา อุตตโมทย์” มองจะช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์อีวีไทยให้สุดคึก แต่ที่โล่งที่สุดก็คือ บรรดาผู้ซื้อรถอีวี ที่เคยชะลอการซื้อ หรือจองไว้ก็ยังไม่จ่ายรับรถ เพื่อรอแพ็คเก็จอีวีออกมาจะได้ลุยซื้อได้เลย แหมกว่าจะออกมา เล่นเอาผู้ประกอบการสตั๊นท์

ขณะที่นักวิเคราะห์ชื่อดัง อย่าง “สุวัฒน์ สินสาฎก”  กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟ เอส เอส อินเตอร์เนอร์เนชั่นแนล จำกัด มองว่า ผู้ใช้รถอีวีน่าจะพุ่งขึ้นสูง จากปีที่ผ่านมา 9 พันคัน จะกระโดดขึ้นมาสู่ 3-5 หมื่นคันได้ในปีนี้ แต่ถ้าเทียบกับรถที่แล่นอยู่ในไทยในส่วนรถยนต์-กะบะส่วนบุคคล 20 ล้านคัน และมอเตอร์ไซค์อีก 20 ล้านคัน ยังเติบโตอีกมาก หุ้นที่ชอบผู้ผลิตชอบ EA NEX หุ้นชิ้นส่วนยานยนต์ AH SAT ส่วนหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ก็จับตาให้ดี DELTA KEC พวกนี้อนาคตดีทั้งน้าน

ด้านบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) มอง ผู้ผลิตยานยนต์ได้ดี PTT EA ชิ้นส่วนยานยนต์ ชอบ AH -SAT- STANLY ส่วนท่าเรือที่นำเข้าส่งออกรถยนต์อย่าง NYT ก็ได้ด้วย เช่นเดียวกับนิคมอุตสาหกรรมได้ด้วยเพราะผู้นำเข้าต้องผลิตคืน นำเข้า 1 คันต้องผลิตคืน 1.5 คันภายใน 2 ปี งานนี้ WHA- AMATA ติดโผ

ส่วนผู้ให้สินเชื่ออย่าง TISCO- TTB ก็เล็งไว้ แต่ต้องชั่งน้ำหนักว่าในอนาคตราคารถในภาพรวมจะตกหรือไม่

ความคาดหวังว่า BTS จะได้ต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียวออกไปอีก 30 ปีแบบง่ายๆ แลกกับการรับหนี้ กทม. กำลังสลายหายไป หลังจากเจอแรงต้านค่อนข้างมาก มหาดไทย เอาเข้า ครม. มาหลายรอบจะอนุมัติ  พรรคร่วมอย่างภูมิใจไทยที่กุม คมนาคม อยู่ก็ไม่ยอม รู้หรือไม่ว่าหลายครั้งแล้วคือ ที่ ครม. นำเรื่องต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว เข้ามาพูดคุย แต่ก็จบแบบไม่สมหวัง BTS ซักที

ที่มาที่ไปจะเล่าให้ฟังแบบง่ายๆ นั้นก็คือ สมัยก่อนนู้นมีความพยายามแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพ ดังนั้น กทม. จึงได้ ทำสัญญาสัมปทานกับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เซ็นสัญญาสัมปทาน กับ กทม. 30 ปี ลงวันที่ 9 เมษายน 2535 เริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 หมดอายุปี 2572

สัญญาสัมปทานนี้ชุดนี้เฉพาะสายสีลม 7 สถานี ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร  และ สายสุขุมวิท ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช ระยะทาง 17 กิโลเมตรเท่านั้น!!!

จากนั้นฝั่งกทม.ก็มีการก่อสร้างเส้นทางต่อขยายเรื่อยๆ จนปี 2555 BTSC ได้รับสัญญาว่าจ้างโดยบริษัทย่อยของ กทม. ในการให้บริการเดินรถส่วนต่อขยายสายสีลม ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ และ วงเวียนใหญ่ถึงบางหว้า และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท อ่อนนุช-แบริ่ง เป็นการวางสัมปทานปี 2555-2585 หรือว่ากันง่ายๆ คือ หลังจากหมดสัมปทานเดิม BTSC จะได้สิทธิเดินรถเส้นนี้อีก 13 ปี ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ฝั่ง กทม. โดนมองใช้อำนาจไม่ชอบ อดีตผู้ว่า กทม. ผู้อนุมัติถูกสอบสวน

ส่วนต่อขยายสายสีเขียวยังขยายต่อเนื่องและเกิน กทม. ออกไปกินเขต สมุทรปราการ ปทุมธานี จากเส้นทาง ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่งผู้สร้างก็คือ รฟม.

ทำให้ ครม. มีมติในปี 2561 เห็นชอบให้โอนส่วน ส่วนต่อขยายนี้ ให้ กทม. จัดการแทน พร้อมกับรับภาระหนี้สิ้นต่าง ๆ จาก รฟม. ซึ่งในฝั่ง กทม. ก็ให้ BTS บริการ และยังไม่ได้จ่ายเงิน

มีข้อครหาว่า กทม. เอื้อกับ BTS เกิดขึ้นมาเป็นระยะ เพราะทุกขั้นตอนไม่ได้มีการใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งต้องมีขั้นตอนการแข่งขันเข้ามาเกี่ยวข้อง

การที่กระทรวงมหาดไทยพยายามให้ ครม. ต่อสัมปทาน โดยอ้างว่า ให้ BTS แบกรับหนี้ กทม.วันนี้จึงเป็นประเด็นการเมือง แต่บรรดาผู้สมัครชิงผู้ว่าขณะนี้ ต่างแสดงความไม่เห็นด้วย และพร้อมเอาสายสีเขียวมาหาเสียง หรือ ลดราคาอีก

เรียกได้ว่า สปอร์ตไลท์ จับตาแบบนี้ BTS ก็ถึงทางตัน วันนี้จึงได้แต่ร้อง เพื่อจะข้ามกำแพงไป แต่โอกาสริบหรี่เหลือเกิน ล่ะครับ!!

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....