“อัตราดอกเบี้ย” ไม่ว่าจะขาขึ้นหรือขาลงล้วนส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันชีวิตหลายด้าน ที่ผ่านมาธุรกิจประกันชีวิตได้รับผลกระทบจากภาวะ “ดอกเบี้ยต่ำ” ทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนไม่เพียงพอต่อการจ่ายผลตอบแทนให้ “ผู้เอาประกันภัย” ตามที่ระบุไว้ในสัญญา ส่งผลให้หลายบริษัทประกันชะลอหรือหยุดการขายแบบประกันบางแบบที่การันตีผลตอบแทน อย่าง “แบบสะสมทรัพย์ (Endowment)” และประกัน “แบบบำนาญ (Annuity)”
“ดอกเบี้ยขึ้น” ก็ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันชีวิตในหลายด้านเช่นกัน โดยเฉพาะการไถ่ถอนกรมธรรม์เพื่อนำเงินไปลงทุนในกรมธรรม์ใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหรือไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทั้ง “ผู้เอาประกันภัย” และ “ธุรกิจประกันชีวิต”
คุณพิชา สิริโยธิน ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า “อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นหลายคนอาจมองว่าเป็นสิ่งที่ดี ประกันชีวิตสามารถลงทุนได้ผลตอบแทนสูงมากขึ้น เป็นผลดีกับบริษัทประกันชีวิตและกับ ผู้เอาประกันภัย ที่ถือกรมธรรม์ประเภทที่มีเงินปันผล แต่รายละเอียดจริงๆแล้วไม่ใช่ มันกลับสร้างความยุ่งยากขึ้นมาหลายอย่างด้วยกัน”
ด้าน คุณพิตราภรณ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ สมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยทั้งขาขึ้นและขาลงได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันชีวิตในหลายประการ ทางสมาคมประกันชีวิตไทย จึงได้จัดโครงการสัมมนาให้ความรู้สื่อมวลชน เรื่อง ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นมีผลกระทบอย่างไรต่อธุรกิจประกันชีวิต เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจธุรกิจประกันชีวิตต่อสถานการณ์ดังกล่าว โดยมี วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ คุณอิฎฐ์ อภิรักษ์ติวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์ บมจ.พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) และนายปาณัท สุทธินนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ร่วมให้ความรู้เชิงวิชาการ
@ IRR “สะสมทรัพย์” ระยะสั้นเป็นโอกาส
นายปาณัท สุทธินนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ให้ข้อแนะนำ ว่า ลูกค้าที่ยังลังเลกับอัตราดอกเบี้ยว่าจะขึ้นต่อไปหรือพีคสุดแล้วหรือจะลงนั้น แน่นอนว่า ประกัน “แบบสะสมทรัพย์ (Endowment)” หากอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาลงไม่เป็นผลดีกับธุรกิจประกันชีวิต แต่หากมองว่า อนาคตดอกเบี้ยทรงหรือลดลงควรล็อกอินผลตอบแทน (IRR) ไว้ตั้งแต่ตอนนี้เลย และแนะนำให้แบ่งเงินบางส่วนซื้อแบบประกันสะสมทรัพย์ไว้ อาจใช้วิธีการการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน ( DCA : Dollar-Cost Averaging) เหมือนหุ้น แม้ว่าสัญญาเอาประกันจะระยะสั้น แต่ก็ยังมีข้อดีที่หากอนาคตผลตอบแทน IRR ขึ้นจะได้มีเงินซื้อโปรดักส์ใหม่
@ 3 ข้อเสี่ยงเวนคืนกรมธรรม์
สำหรับผู้เอาประกันภัย ที่ได้รับแรงจูงใจให้เวนคืนกรมธรรม์ (Surrender Policy) เพื่อสภาพคล่อง ในช่วงนี้ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ยังมีแนวทางอื่นที่ไม่จำเป็นต้องเวนคืน ผู้เอาประกันภัยสามารถกู้เงินสดจากกรมธรรม์ของตัวเองได้ตามสิทธิ์อยู่แล้ว ส่วนการเวนคืนกรมธรรม์เก่าเพื่อนำเงินไปลงทุนในกรมธรรม์ใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่านั้น นายปาณัท กล่าวว่า มีความเสี่ยง 3 ข้อที่ต้องคำนึงคือ
- เรื่องของภาษี บางคนซื้อประกันสะสมทรัพย์เพื่อลดหย่อนภาษี ด้วยหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป ดังนั้นหากยกเลิกก่อนในเวลา 10 ปี อาจเป็นประเด็นทางภาษีกับสรรพากร ได้
- ถ้ากรมธรรม์หลักของผู้เอาประกันภัยมีสัญญาเพิ่มเติมแนบท้าย เช่น สัญญาสุขภาพเพิ่มเติมหรือโรคร้ายแรง (ซีไอ CI) เมื่อเวนคืนไปแล้วกรมธรรม์หลักจบ สัญญาเพิ่มเติมก็จะจบไปด้วย กลายเป็นว่า ผู้เอาประกันภัยขาดความคุ้มครองลง ถ้าซื้อกรมธรรม์ใหม่ลูกค้าจะต้องถูกพิจารณาการรับประกันภัยใหม่และลูกค้าอาจต้องคำนึงถึงโรคที่เป็นมาก่อนด้วย
- Cash Value หรือมูลค่าเงินสดที่ได้จากกรมธรรม์อาจได้น้อยกว่าเบี้ยประกันที่จ่ายไปตอนแรกหรือได้น้อยกว่าที่คาดหวังไว้
@ เปิด 4 เหตุผล ซื้อ “เฮ้ลท์-คุ้มครอง- โรคร้ายแรง” ยิ่งเร็วยิ่งดี
นายปาณัท กล่าวว่า มีข้อแนะนำสำหรับลูกค้าที่สนใจซื้อผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตช่วงนี้ คือ
1.ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ขาลงหรือทรงๆ แนะนำผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขึ้นลงของดอกเบี้ยเพราะราคาไม่ได้ปรับขึ้นตาม
2. ลูกค้าควรซื้อ “เฮลท์ – โรคร้ายแรง (CI ซีไอ) -ความคุ้มครอง” ยิ่งซื้อเร็วยิ่งดี เหตุผลคือ
2.1 ถ้าทิ้งไว้นานมีเรื่องให้พิจารณาโรคที่เป็นมาก่อนรวมถึง ช่วงนี้มีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นและไม่รู้จะเกิดโรคอะไรขึ้นอีกในอนาคต จึงควรมีความคุ้มครองด้านสุขภาพ
2.2ดอกเบี้ยขาขึ้นจะมีความสัมพันธ์กับเงินเฟ้อ แม้ว่าเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยแตะที่ระดับ 2 กว่า แต่ เมดิคอล คอร์ส โดยเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 6-7% นับว่าสูงมาก
2.3 สำนักงานคปภ.ได้ออกมาตรฐานใหม่ New Health Standard ทุกบริษัทจะอยู่บนมาตรฐานเดียวกันหมด ลูกค้าไม่ต้องสับสนเรื่องการอ่านสัญญา สามารถเปรียบเทียบได้ง่าย
2.4 การแข่งขันในตลาดสูง ผู้บริโภค มีโปรดักส์ให้เลือกมากมายหลากหลาย และราคาสมเหตุสมผล
@ บริษัทประกันไม่ขายโปรดักส์ที่มีผลกระทบต่อดอกเบี้ย
นายปาณัท กล่าวด้วยว่า ในแง่ของบริษัทประกันชีวิตแล้วแม้จะให้ความสนใจในเรื่องของผลกำไร แต่สำคัญกว่าผลกำไร บริษัทจะมองในเรื่องของความมั่นคงของธุรกิจในระยะยาวมากกว่าการมองผลกำไรในระยะสั้น ดังนั้น บริษัทประกันชีวิตจะไม่ขายโปรดักส์ที่ เซ้นสิทีฟต่อดอกเบี้ย
@ แนะปรับโหมด นักขายเป็นผู้ให้คำปรึกษา-ไม่จูงใจลูกค้าเวนคืนกรมธรรม์
ทั้งนี้ แบบประกัน ยูนิต ลิ้งค์ เฮ้ลท์ และ ซีไอ ที่ไม่เซ้นสิทีฟต่อยีลด์ แต่ต้องยอมรับว่าแบบประกันนี้ค่อนข้างซับซ้อนมากกว่าแบบประกัน สะสมทรัพย์เนื่องจากมีผลประโยชน์และเงื่อนไขมากมาย ฉะนั้นสิ่งที่ตัวแทนประกันชีวิต ควรทำ อาจต้อง อันเลิร์น ที่จากเดิมเป็นคนขายก็เปลี่ยนบทบาทเป็น “ผู้ให้คำปรึกษาลูกค้าแทน”
แต่ทั้งนี้การให้คำปรึกษาลูกค้าได้ก็จะต้องเป็นผู้มีความรู้รอบตัวด้วยเช่นกัน เช่น เรื่อง อัตราดอกเบี้ยขึ้น ลง มีผลกระทบต่อธุรกิจประกันชีวิตอย่างไร ไม่สร้างแรงจูงใจลูกค้าให้เวนคืนกรมธรรม์เก่าเพื่อซื้อกรมธรรม์ใหม่อย่างเดียว นักขายต้องมีข้อมูล ความรู้รอบด้านให้ลูกค้าได้พิจารณาผลิตภัณฑ์ได้อย่างรอบด้าน
@ Wealth ต้องเดิน 2 ขา ตอบโจทย์ สูงวัย
ส่วนผลิตภัณฑ์สำหรับสังคมสูงวัยนั้น ต้องบอกว่า วันนี้เป็นเทรนด์ ทุกบริษัทประกันชีวิตเริ่มให้ความสำคัญ สิ่งที่แนะนำได้คือ อยากให้มองแบบประกันแบบเน้นให้ความคุ้มครอง (Protection) อย่าง เฮ้ลท์ ซีไอ ยิ่งซื้อเร็วยิ่งดี เพราะช่วงวัยที่อายุยังน้อยยังไม่เกิดโรคใดราคาเบี้ยไม่สูงมาก แต่ถ้ารอค่อนข้างใกล้วัยสูงอายุ อาจมีเรื่องโรคที่เป็นมาก่อน ทำให้ลูกค้าอาจต้องเพิ่มค่าเบี้ยประกัน
อย่างไรก็ตามการสร้างสินทรัพย์รองรับสูงวัยเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมอง มี 2 ด้าน คือ
1. Wealth Creation เน้นสร้างความมั่งคั่ง
2. Wealth Preservation การบริหารจัดการความมั่งคั่งไม่ให้ลดลง ส่วนนี้หลายคนมักมองข้ามไป
วิธีการจัดการคือ เฮ้ลท์ และ ซีไอ สามารถช่วยตอบโจทย์ด้านนี้ได้ บางคนสามารถทำเงินได้ 5 ล้านบาท 10 ล้านบาทเมื่อถึงคราวเจ็บป่วยขึ้นมาเงินจำนวนนี้ก็หมดไปกับการรักษาพยาบาล
ฉะนั้น Wealth Preservation สามารถช่วยตอบโจทย์ผู้สูงวัยที่ต้องการมีอายุยืนยาวและมีสินทรัพย์ได้ ซึ่งภาคธุรกิจต่างพยายามออกผลิตภัณฑ์หลากหลายมาตอบโจทย์ตรงนี้กัน.
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com