ส.ประกันวินาศภัยฯ ผนึก ภาครัฐคิกออฟ Training ฯ ชาวนา

เล็งชงประกัน “ข้าวโพด-มันฯ” ต่อ

 

 

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมเปิดโครงการ “อบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers)” ประจำปี 2561 กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)  เมื่อวันที่  29 – 30 เมษายน 2561 ที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า ทางสมาคมได้เดินสายร่วมกับสำนักงาน คปภ. ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรเพื่อรับฟังความคิดเห็น ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการประกันภัยข้าวนาปีในปีที่ผ่านมา และจัดอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) และการเปิดตัวโครงการ Training for the Trainers จังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ เนื่องจากปีที่ผ่านมาพบว่า  จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่เพาะปลูก จำนวน 509,104.1 ไร่ พื้นที่รับประกันภัย จำนวน 154,247.75 ไร่ มีอัตราการเอาประกันภัย คิดเป็น 30.30% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งจังหวัด มีเบี้ยประกันภัย จำนวน 11,614,237 บาท มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน จำนวน 1,189,831 บาท ซึ่งเกิดจากอุทกภัย 100% (ข้อมูล ณ วันที่ 25 เมษายน 2561)

ทั้งนี้สมาคมฯ ได้เตรียมนำเสนอโครงการประกันภัยข้าวโพดและมันสำปะหลังซึ่งคาดว่าจะมีความพร้อมในการรองรับการประกันภัยให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชดังกล่าวในกลางปีนี้ ขณะเดียวกัน สมาคมฯ พร้อมด้วยภาคธุรกิจประกันภัยจะเดินทางไปศึกษาดูงานด้านการประกันภัยพืชผลในเดือนกรกฎาคม 2561 ณ ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อศึกษาแนวทางการทำประกันภัยพืชผลนอกเหนือจากข้าว เพื่อนำกลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยพืชในประเทศไทยต่อไป

ส่วน การประกันภัยข้าวนาปี ประจำปี 2561 รวม 10 จังหวัดครอบคลุมทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ ลพบุรี กำแพงเพชร พะเยา มหาสารคาม ชัยภูมิ สุรินทร์ ศรีสะเกษ กาญจนบุรี และพัทลุงตามลำดับ ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกทั้ง 10 จังหวัดรวม 12,810,329 ไร่ และในปีที่ผ่านมามีการจัดอบรม จำนวน 9 จังหวัด มีพื้นที่เพาะปลูกรวม 14,262,833 ไร่

 

ทั้งนี้ ผลการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 ที่ผ่านมาพบว่า มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 1.76 ล้านราย มีพื้นที่รับประกันภัย จำนวน 22.12 ล้านไร่ มีเบี้ยประกันภัยรับ จำนวน 1,990,836,638 บาท และมีจำนวนความเสียหาย 1,577,874 ไร่ รวมทั้งสิ้น 53 จังหวัด มียอดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกร 172,882 ราย คิดเป็นค่าสินไหมทดแทนรวม 1,987,882,332 บาท ซึ่งแบ่งเป็นความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัย 99.98% วาตภัย 0.01% และศัตรูพืชระบาด 0.01% โดยจังหวัดที่มียอดการจ่ายสินไหมทดแทนสูงสุด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดร้อยเอ็ด คิดเป็น 30.82 % ของยอดค่าสินไหมทดแทนทั้งหมด (ข้อมูล ณ วันที่ 25 เมษายน 2561)

นายจีรพันธ์ กล่าวด้วยว่า  หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายการรับประกันภัยไว้ที่ 30 ล้านไร่ แบ่งเป็นเกษตรกรที่เป็นลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 29 ล้านไร่ และเกษตรกรทั่วไป จำนวน 1 ล้านไร่ เบี้ยประกันภัย 90 บาทต่อไร่ ซึ่งรัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 54 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้กับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. 36 บาทต่อไร่ ตามเงื่อนไขวงเงินกู้ ส่วนลูกค้าทั่วไปสามารถซื้อประกันภัยได้เอง โดยจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพียง 36 บาทต่อไร่ คุ้มครองความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งหมด 6 ภัย ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บและไฟไหม้ มีวงเงินคุ้มครอง 1,260 บาทต่อไร่ สำหรับภัยจากศัตรูพืชและโรคระบาด มีวงเงินคุ้มครอง 630 บาทต่อไร่

ทั้งนี้ เกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ปี 2561/2562 สามารถซื้อประกันภัยข้าวนาปีได้ ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2561 ของทุกภาค สำหรับภาคใต้ ปิดการขายวันที่ 15 ธันวาคม 2561 โดยในปีนี้มีบริษัทสมาชิกเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 22 บริษัท ได้แก่ 1. บมจ.กรุงเทพประกันภัย 2. บมจ.กรุงไทยพานิชประกันภัย 3. บมจ.เจนเนอราลี่ประกันภัย (ไทยแลนด์) 4. บมจ.ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) 5. บมจ.ทิพยประกันภัย 6. บมจ.เทเวศประกันภัย 7. บมจ.ไทยพัฒนาประกันภัย 8. บมจ.ไทยไพบูลย์ประกันภัย 9. บมจ.ไทยศรีประกันภัย 10. บมจ.นวกิจประกันภัย 11. บมจ.นำสินประกันภัย 12. บมจ.บางกอกสหประกันภัย 13. บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ 14. บมจ.ฟอลคอนประกันภัย 15. บจ.มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ สาขาประเทศไทย 16. บมจ.เมืองไทยประกันภัย 17. บมจ.วิริยะประกันภัย 18. บมจ.สยามซิตี้ประกันภัย 19. บมจ.สินมั่นคงประกันภัย 20. บมจ.ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย 21. บมจ.อาคเนย์ประกันภัย 22. บมจ.แอกซ่าประกันภัย

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....