วิกฤต COVID-19 เกิดขึ้น  2 ปีมานี้ กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงสุดของอุตสาหกรรมประกันภัย ก็คือ กลุ่มธุรกิจประกันวินาศภัยและปัจจุบันยังคงได้รับผลกระทบอยู่หลายบริษัท จากข้อมูลสมาคมประกันวินาศภัยไทย พบว่า ณ วันที่ 15  พฤศจิกายน 2564  ยอดเคลมสินไหมทดแทนของกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 สูงเกินกว่าเงินกองทุนของบริษัทที่รับประกันภัยรวม ตามที่กฎหมายกำหนดให้ไม่เกินร้อยละ 10 พุ่งเป็นร้อยละ 26.8% และเมื่อถึงสิ้นปี 2564  มีแนวโน้มจะพุ่งสูงถึงร้อยละ 30.2 

ต่อกรณีนี้ นายอานนท์  วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้แสดงความเป็นห่วงในสถานการณ์หลังรับประกันภัยโควิด-19 ของบริษัทสมาชิกประกันวินาศภัยไทย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการจ่ายเคลมสินไหมฯ พร้อมเปิดใจผ่าน  2 เวที คือ เวทีเสวนา หัวข้อ “Next – Gen of Insurance Industry in the New Era” ในงานประชุมสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัย ครั้งที่ 7 ประจำปี 2564 (Thailand Insurance Symposium 2021) เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 และงานแถลงข่าว สถานการณ์วิกฤตจากการรับประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา 

@รับคาดการณ์พลาด มองสปีดวอลุ่มไม่ออก

นายอานนท์ กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรงในรอบ 100 ปี  ช่วงต้นปี 2563 ระบบการสาธารณสุขของไทยก็สามารถรับมือสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี  แล้วธุรกิจประกันวินาศภัยก็ได้ก้าวเข้ามารับประกันภัยโควิด-19  ถามว่า ผิดหลักวินาศภัยหรือผิดหลักประกันทั่วไปหรือไม่ เพราะหลักประกันจะต้องมีการคำนวณเบี้ยโดยอาศัยสถิติที่เกิดขึ้นในอดีตเพื่อคำนวณว่าเก็บเบี้ยเท่าไหร่ถึงจะพอ แต่ว่า โควิด-19 ไม่มีตัวอย่าง

หากดูสถิติผู้ติดเชื้อในปี 2564 จะพบว่า มีสูงมากกว่าปี 2563  ถึง 300 เท่าจากเดิมมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 6,000 กว่าราย เพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านราย คิดเป็นยอดผู้ติดเชื้อมากถึง 300 เท่าหรือ 30,000 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จากจำนวน 61 ราย ได้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 18,000 กว่าราย คิดเป็น 300 เท่าหรือ 30,000 เปอร์เซ็นต์ เหมือนกัน 

“ถือเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เรามองสปีดของวอลุ่มไม่ออกจริงๆ  ในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2564 มีคนเข้ามาซื้อกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 มากถึง 13 ล้านกรมธรรม์ ช่วงเวลา 2 เดือน ติดเบรกอย่างไรก็ไม่ทัน  เราควบคุมความเสียหายมันยากจริงๆ ต้องถือว่า เราคาดการณ์พลาด  ไม่คิดว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นถึง 30,000 เปอร์เซ็นต์  นึกไม่ออก จริงๆครับ ต้องยอมรับเลยว่า เราคาดการณ์ผิด อันนี้ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญ”  

@ย้ำสิ้นปี 64 ยอดจ่ายเคลม 40,000 ลบ.พุ่งทะลุ 30.2% ของเงินกองทุนฯ

บริษัทประกันวินาศภัยไทยที่เปิดขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบ เจอ จ่าย จบ รวมทั้งหมดมี 16 บริษัท สถิติปี 2563 มีผู้ซื้อกรมธรรม์โควิด-19 ประมาณ 9 ล้านกรมธรรม์  ปี 2564 ไตรมาส 1 (มกราคมถึงมีนาคม) มีผู้ซื้อกรมธรรม์ประมาณ 1.8 ล้านกรมธรรม์และไตรมาสที่ 2 (เมษายนถึงมิถุนายน) มีผู้ซื้อกรมธรรม์ประมาณ 13 ล้านกรมธรรม์ มียอดจ่ายเคลมสินไหมทดแทนถึง ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ประมาณ 37,000 ล้านบาท คิดเป็น 26.8% ของเงินกองทุนของบริษัทที่รับประกันภัยรวมคือ 132,249 ล้านบาท และประเมินถึงสิ้นปี 2564 มีแนวโน้มที่ยอดจ่ายเคลมจะพุ่งสูงไปถึง 40,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 30.2% ของเงินกองทุนฯถือว่ารับประกันภัยเกินกว่า 10% ตามกฎหมายที่กำหนดไปแล้ว

@บริษัทรับ “ เจอ จ่าย จบ”  คิดเป็นมาร์เก็ตแชร์ ครึ่งหนึ่งของระบบ

บริษัทที่รับประกันภัยโควิด แบบ เจอ จ่าย จบ มี 16 บริษัท มีเบี้ยประกันภัยชนิดอื่นในมือ 120,000 ล้านบาท  ไม่รวมประกันโควิด  คิดเป็นร้อยละ 46 ของเบี้ยประกันภัยทั้งหมด เรียกว่า บริษัทประกันภัยเกือบครึ่งหนึ่งของระบบมาขายประกันภัยโควิด  

“ผมยืนยันว่า  ยอดเสียหายประกันภัยโควิดถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 เป็นเงิน 37,000 ล้านบาท รวมเอเชียประกันภัยด้วยแล้ว นี่เป็นสถิติจากการโทรศัพท์ด้วยตัวของผมเอง และโดยมารยาทธุรกิจเอกชนไม่ควรจะไปรู้เบี้ยประกันภัยรายบริษัท เพราะเป็นมารยาทและเป็นความลับทางการค้า ทางธุรกิจ โดยเฉพาะตำแหน่งนายกสมาคมฯ แต่ด้วยข้อมูลที่ได้มา 20,000 หรือ 35,000 ล้านบาท ผมตกใจเลยยอมเสียมารยาทโทรศัพท์หาซีอีโอทุกบริษัทรวม 8 บริษัท ผมโทรแค่ 8 บริษัท ก็ 35,000 ล้านบาทแล้ว ถ้ารวมเอเชียประกันภัยด้วยเป็น 37,000 ล้านบาท สิ้นปีนี้ไม่ต้องพูดว่า 40,000 ล้านบาทจะถึงไม่ถึง อีก 1 เดือนครึ่งถึงแน่นอน”

@แจงที่มาของกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบ เจอ จ่าย จบ

จุดประสงค์แรกที่มีกรมธรรม์ประกันภัยโควิด คือ เวลาที่เกิดความเสี่ยงกับกลุ่มคนไทย บริษัทประกันวินาศภัยไทยก็ได้เข้าร่วมโครงการของรัฐบาล เราเต็มที่กับรัฐบาลมาก อยากให้รับประกันอะไรเราพยายามเข้าไปรับหมด เรื่องโควิดก็เหมือนกัน เรามีเจตนาช่วยบริหารความเสี่ยงนี้ให้กับคนไทยจริงๆ   ช่วยแบ่งเบาภาระ ช่วยลดภาระในการดูแลผู้ป่วยโควิดของรัฐบาล โรงพยาบาลไม่พอ ไปโรงพยาบาลเอกชนไหม หรืออยู่บ้านขาดรายได้ ไม่ได้ประกอบอาชีพ  บางคนเข้าโรงพยาบาลรัฐไม่ต้องเสียค่ารักษาแต่ทำมาหากินไม่ได้  บางคนเข้าโรงพยาบาลเอกชนอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ก็หารือร่วมกันกับคปภ. คปภ.ก็บอก หาโปรดักส์ขายหน่อยได้ไหม  จึงเป็นที่มาของกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบ เจอ จ่าย จบ ขึ้นมา

คิดช่วงแรกๆก็คือ โควิด-19 เป็น ความเสี่ยงอุบัติใหม่ที่เรายังไม่เคยรู้จัก ก็เริ่มขายกรมธรรม์ราคาไม่สูง ราคา 299 บาท คุ้มครอง 30,000 บาท ปกติราคานี้ขายไม่ได้ แต่พอลองปล่อยออกมาทีละ 10,000 ,20,000,30,000  ฉบับ ตลาดเริ่มตื่น เริ่มจาก 2-3 บริษัท เรียกว่า จุดติดเลย เมื่อเทียบการขายออนไลน์เดิม 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทประกันวินาศภัยพยายามขายออนไลน์มากแต่ไม่ประสบความสำเร็จก็มาสำเร็จที่โควิดเป็นอันแรก

ประการสำคัญที่สุด สำนักงานคปภ.ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ เป็นผู้รับนโยบายจากภาครัฐโดยตรง ท่านเลขาธิการคปภ.เป็นคนที่มีความคิดริเริ่มในการที่จะนำระบบประกันภัยเข้าสู่วิถีชีวิตของคนไทยเพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้การบริหารความเสี่ยงด้วยตัวเองแทนการรอเงินสงเคราะห์จากภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ท่านเลขาคปภ.ก็เห็นภาพนี้เหมือนกับบริษัทประกันภัย ก็ส่งสัญญาณกันเต็มที่เลยว่า บริษัทประกันวินาศภัยช่วยหากรมธรรม์ที่ช่วยคุ้มครองประกันโควิดให้มีความหลากหลาย

ช่วงแรกก็ออก เจอ จ่าย  จบ   ต่อมา มีค่าชดเชยรายได้  ค่ารักษาพยาบาล  มีอาการโคม่า คือ คุ้มครองตลอดสายเลย เป็นนโยบายของรัฐที่ส่งผ่านมายัง สำนักงานคปภ. ก็เป็นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของเลขาธิการคปภ.ด้วย ที่ผลักดันให้กรมธรรม์ประกันภัยโควิดเกิดขึ้นในประเทศไทย และภาคธุรกิจก็ขานรับเต็มที่เลย ขออนุมัติแบบประกัน 5 วัน 7 วัน อนุมัติทันทีเลย กรมธรรม์ก็ออกมาหลากหลายมากเลยครับ อันนี้ผมถือว่ารัฐ เอกชน จับมือไปด้วยกันในการออกกรมธรรม์โควิด 

“เราไม่ได้โลภ  เราไม่ได้อยากได้เบี้ย แต่เราอยากช่วยรัฐในการบริหารความเสี่ยงภาคประชาชน”

@ เผยเบื้องหลัง บริษัทประกันเจ็บตัว ดิ้นหาเงินจ่ายเคลม เจอ จ่าย จบ    

สิ่งที่ผมห่วงก็คือ อนาคต เพราะปัจจุบันทุกบริษัทที่รับประกันภัยโควิด-19 แบบ เจอ  จ่าย  จบ เจ็บตัว บางบริษัทเงินสะสม 30-40 ปีที่ตั้งบริษัทมาหมดแล้ว บางบริษัทเพิ่มทุนแล้ว 6,000 ล้านบาทเพื่อมาจ่ายเคลมการระบาดโควิดระลอกแรกนี้เท่านั้น บางบริษัทเงินหมดแล้วต้องไปกู้หนี้ยืมสินมา ถ้าเพิ่มทุนไม่ทันเพราะต้องรีบจ่ายเคลมเพราะเราอยู่ภายใต้กฎหมายเวลาเกิดการเคลมต้องจ่ายภายใน 15 วัน เลือดตาแทบกระเด็นแค่ไหน เพื่อไปหาเงินมาจ่ายเคลมประชาชนให้ได้  ต้องแจ้งเลยว่า ปริมาณเคลมมากจริงๆโดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน 2564 เพิ่มขึ้น 200-300 เท่า จากเคลมวันละ 80 – 100 เคลม เพิ่มขึ้น 2,000 – 3,000 เคลม  บางบริษัทต้องเพิ่มพนักงานเคลม ส่วนประกันสุขภาพที่ดูแลการเคลมสินไหมโควิดจาก 12 คน ช่วงที่พีคที่สุด ต้องใช้พนักงานมากถึง 300 กว่าคน และช่วงนั้นเป็นช่วง Work from home พนักงานเอาคอมพ์กลับไปทำงานที่บ้านอุปกรณ์บางบริษัทระบบรองรับได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็มีปัญหาความล่าช้า ไม่ได้มีเจตนาที่จะประวิงหรือไม่จ่าย มันทำไม่ทันจริงๆ แต่ปัจจุบันนี้ดีใจว่าทำทัน นายอานนท์กล่าว.

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....