ฝากพินัยกรรม…ไว้ที่อำเภอ
ตอนที่แล้วผมอธิบายเกี่ยวกับเรื่องการทำพินัยกรรม พร้อมแนะนำการทำ พินัยกรรมแบบ DIY หรือ Do It Yourself เพื่อให้ทุกท่าน ๆ สามารถเขียนพินัยกรรมกันเองแบบง่าย ๆ ได้โดยไม่ต้องง้อทนายความ ปรากฏว่ามีคนสอบถามมาที่เพจ Dr. Pete Peerapat ของผมว่า
“ ถ้าเขาเขียนพินัยกรรมเสร็จแล้ว แต่กลัวว่าลูกหลานไม่รู้ว่าพินัยกรรมของเขาเก็บไว้ที่ไหน หรือถ้าเกิดในอนาคตลูกหลานเขามีความขัดแย้งแล้วต้องมาแย่งมรดกกันเองแล้วอ้างว่าพินัยกรรมมีหลายฉบับ แบบนี้เขาควรจะฝากพินัยกรรมไว้ที่ใครดี ฝากที่ทนายดีไหม หรือเอาไปฝากที่วัดได้หรือเปล่า ขอให้ผมช่วยแนะนำให้ด้วย”
แต่ไหน ๆ เมื่อตอบทางเพจแล้ว ผมก็ขอนำมาขยายความต่อเพื่อให้เพื่อน ๆ คนอื่นที่ติดตามคอลัมน์นี้ได้อ่านด้วย สำหรับคำถามข้างต้นนี้ ผมมีคำตอบให้เพื่อนๆ เลือก 2 วิธี คือ
วิธีที่ 1 พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง
เป็นพินัยกรรมที่ไม่ได้ทำเองที่บ้าน เราต้องไปติดต่อเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานเขตหรืออำเภอ แล้วแจ้งข้อความที่ต้องการจะเขียนลงในพินัยกรรมให้เจ้าหน้าที่ทราบ โดยตอนที่แจ้งนั้นต้องมีพยานรับฟังพร้อมกันอีกสองคน
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะบันทึกหรือจดข้อความที่เราบอกไป และอ่านข้อความนั้นให้เราและพยานได้รับฟังพร้อมกัน เมื่อรับฟังเสร็จ และยืนยันว่าข้อความนั้นถูกต้องตรงความประสงค์เราแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะให้เราและพยานลงลายมือชื่อไว้ในพินัยกรรมฉบับดังกล่าว
เสร็จแล้วเจ้าหน้าที่ก็จะลงชื่อพร้อมตราประจำตำแหน่งไว้ และจัดเก็บพินัยกรรมดังกล่าวไว้ที่สำนักงานเขตหรืออำเภอที่เราไปทำ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะไม่เปิดเผยพินัยกรรมฉบับนี้ให้คนอื่นทราบขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าเรามีความประสงค์แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมหลังจากที่ทำพินัยกรรมไปแล้ว ก็สามารถทำได้ โดยกลับไปที่สำนักงานเขตหรืออำเภอที่เราทำพินัยกรรม แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบ ว่าเราจะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงข้อความอย่างไร
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะดำเนินการให้ตามที่ได้รับแจ้ง เมื่อเสร็จแล้ว ตัวเรา เจ้าหน้าที่ และพยานอีกสองคนจะต้องลงลายมือชื่อกำกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย
วิธีที่ 2 การทำพินัยกรรมแบบเอกสารลับ
เป็นวิธีที่คล้ายกับฉบับแรก คือ ต้องไปทำที่สำนักงานเขต หรือที่อำเภอ แต่วิธีนี้แตกต่างจากแบบแรกตรงที่ คราวนี้เราไม่ได้ไปแจ้งข้อความให้เจ้าหน้าที่จดบันทึก แต่เราต้องทำพินัยกรรมให้เสร็จ และลงลายมือชื่อจากบ้าน เอาพินัยกรรมฉบับนั้นใส่ซอง พร้อมลงลายมือชื่อคาบปากซองเอาไว้
หลังจากนั้นเราเอาพินัยกรรมที่ปิดผนึกเรียบร้อยไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต หรือที่อำเภอ พร้อมพยานอีกสองคน และแจ้งว่าเราเป็นผู้เขียนพินัยกรรมฉบับนั้นเองทั้งฉบับ หรือมีใครช่วยเขียนให้
เสร็จแล้วเจ้าหน้าที่ก็จะจดถ้อยคำที่เราบอกว่า ใครเป็นผู้เขียนพินัยกรรม แล้วลงลายมือชื่อ พร้อมตราประจำตำแหน่ง โดยให้เราและพยานอีกสองคนลงลายมือชื่อกำกับบนซองพินัยกรรมนั้นด้วย
สรุปก็คือ ถ้าเราเกรงว่าจะเกิดปัญหาว่าหาพินัยกรรมไม่เจอ หรือ เกรงว่าทายาทจะมาถกเถียงกันว่า พินัยกรรมฉบับไหนจริง ฉบับไหนปลอม ผมก็แนะนำให้เราฝากพินัยกรรมนั้นไว้ที่สำนักงานเขตหรือที่อำเภอเลย โดยจะทำเป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง หรือพินัยกรรมแบบเอกสารลับ ก็ตามแต่ความสบายใจของเราเลยครับ
ทั้งนี้ เมื่อเราเสียชีวิต และทายาทของเราไปขอใบมรณะบัตรที่สำนักงานเขตหรือที่อำเภอ เจ้าหน้าที่เขาก็จะทราบทันทีว่า เรามีพินัยกรรมฝากไว้ และทางเจ้าหน้าที่ก็จะคืนพินัยกรรมฉบับที่เราฝากให้กับทายาทไป ซึ่งทายาททุกคนก็จะมั่นใจได้ว่า พินัยกรรมฉบับนั้นเป็นของจริง ไม่ต้องมาถกเถียงแย่งมรดกกันอีกครับ.
3. เขียน พินัยกรรม เสร็จแล้ว เก็บไว้ที่ไหนดี…??? ฝาก สำนักงานเขต/อำเภอ
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
คอลัมน์ Infinity Wealth By ดร.พีท พีรภัทร ฝอยทอง CFP® ที่ปรึกษากฎหมายและนักวางแผนการเงินส่วนบุคคล