เทคนิคการเลือกประกันชีวิตลดหย่อนภาษี

สัปดาห์ที่แล้วผมเล่าถึง ประกันลดหย่อนภาษี 4 ประเภท ปรากฎว่ามีเพื่อน ๆ ที่อ่านแล้วมีความสนใจที่จะซื้อประกันชีวิตเพื่อใช้ลดหย่อนภาษี เลยส่งข้อความมาสอบถามที่เฟสบุ๊คแฟนเพจ ส่วนตัวของผมว่า

ซื้อประกันลดหย่อนภาษีของบริษัทไหนดีที่สุด?

คำถามนี้น่าสนใจ และมีคนถามผมบ่อยมาก แต่หลายท่านก็อาจจะผิดหวังกับคำตอบ เพราะผมมักจะตอบว่า

“ผมไม่ทราบจริง ๆ ครับ” ที่ไม่ทราบ ไม่ใช่เพราะขี้เกียจตอบ ผมยินดีตอบคำถามให้ทุกท่านครับ

แต่ที่ตอบว่าไม่ทราบ คือ ไม่ทราบจริง ๆ ว่าแต่ละท่านมีความต้องการในการทำประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษีอย่างไรบ้าง และในช่วงเวลาที่สอบถามมานั้น บริษัทประกันแต่ละแห่งมีแบบประกันที่ตรงกับความต้องการของท่านหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ผมสามารถแนะนำเทคนิคการเลือกซื้อประกันชีวิตที่ผมคิดขึ้นมาเอง เพื่อให้ทุกท่านได้ลองนำไปใช้เป็นแนวทางในการเลือกหาประกันชีวิตที่เหมาะกับตัวเรากันได้ ดังนี้ครับ

ขั้นตอนที่ 1 แบ่งสัดส่วนของประกันที่จะทำ ออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ

  1. ประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองสูง
  2. ประกันชีวิตที่ให้ผลตอบแทนสูง
  3. ประกันสุขภาพ*

*ส่วนที่ 3) นี้ พึ่งเพิ่มมา เนื่องจากรัฐบาลให้นำประกันสุขภาพไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาท  แต่ต้องไปรวมกับส่วนของประกันชีวิต 100,000 บาท

ขั้นตอนที่ 2 ผมจะหาแบบประกันของแต่ละบริษัทตามสัดส่วนที่ผมได้แบ่งไว้คร่าว ๆ ซึ่งผมอาจจะซื้อแบบประกันแต่ละส่วนจากคนละบริษัทก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าแบบประกันนั้นตอบโจทย์ผมได้มากน้อยเพียงใด

โดยมีหลักเกณฑ์ในการเลือกซื้อประกันแต่ละส่วนดังนี้ครับ

ประกันชีวิตที่ได้ความคุ้มครองสูง ในการเลือกซื้อประกันส่วนนี้ แนะนำให้พิจารณาประกันแบบตลอดชีพ (Whole Life) โดยการเปรียบเทียบเบี้ยกับทุนประกันที่เราอยากทำ

เช่น ผมตั้งเป้าเอาไว้ว่าหากผมต้องจากโลกนี้ไปกระทันหัน ครอบครัวผมควรจะมีเงินสัก 1 ล้านบาท ผมก็จะมองหาบริษัทและแบบที่ประกันที่มีทุนคุ้มครอง 1 ล้านบาท โดยที่จ่ายเบี้ยประกันน้อยที่สุด

ประกันชีวิตที่ให้ผลตอบแทนสูง ในการเลือกซื้อประกันส่วนนี้ แนะนำให้พิจารณาประกันแบบสะสมทรัพย์ (Saving) โดยเลือกแบบประกันที่ให้อัตราผลตอบแทนภายในโครงการ หรือ Internal Rate Of Return (IRR) สูง ระยะเวลาจ่ายเบี้ยสั้น ๆ ความคุ้มครองไม่ควรเกิน 15 ปี และมีเงินคืนระหว่างสัญญาเรื่อย ๆ

เช่น ผมตั้งเป้าประกันสะสมทรัพย์ที่ทำนั้นจะต้องมี IRR ไม่น้อยกว่า 2.5% จ่ายเบี้ย 1-5 ปี มีเงินคืนระหว่างสัญญาทุก ๆ 1-2 ปี และจะได้เงินคืนทั้งหมดภายใน 10 – 15 ปี

ประกันสุขภาพ ในการเลือกซื้อประกันส่วนนี้ แนะนำให้ดูตามความต้องการของเราเลยครับ เช่น โรคร้ายแรงที่คุ้มครอง ค่าห้อง ค่าชดเชยรายวัน ฯลฯ ซึ่งบางทีเบี้ยอาจจะเกินกว่าเราได้สิทธิลดหย่อน 15,000 บาท แต่ผมมองว่าสุขภาพของเราสำคัญกว่าการลดหย่อนภาษี อย่าให้เงินเพียง 15,000 บาท มาจำกัดแบบประกันที่เราจะทำเลยครับ

ขั้นตอนที่ 3 ในการเลือกประกันแต่ละแบบ ผมจะให้ตัวแทนสัก 2 – 3 บริษัทเสนอค่าเบี้ยและรายละเอียดความคุ้มครองเพื่อให้เราเปรียบเทียบ เพราะเราไม่จำเป็นต้องประกันทั้ง 3 แบบนี้กับบริษัทเดียว เราในฐานะลูกค้าย่อมมีสิทธิเลือกประกันที่ดีและเหมาะสมที่สุดกับตัวเราครับ

หวังว่าเพื่อน ๆ จะนำเอาเทคนิคการเลือกประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษีของผม ไปค้นหาแบบประกันที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของเพื่อน ๆ ให้ได้มากที่สุดนะครับ

ถ้าเพื่อน ๆ มีข้อสงสัยหรืออยากพูดคุยกับผม ก็สามารถเข้าไปคุยกันที่เฟสบุ๊คแฟนเพจส่วนตัวของผมได้ที่ https://www.facebook.com/drpeerapat.f/

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....