นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้าร่วมงาน Global Tourism Forum : Dubai Blockchain for Travel และเป็นวิทยากรเสวนาในหัวข้อ “เทคโนโลยี Blockchain สะพานสู่การท่องเที่ยวอัจฉริยะ”  ณ โรงแรม Rixos Premium Dubai เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  

นายนิธี กล่าวว่า การเข้าร่วมงานในครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีของประเทศไทย ในการนำเสนอภาพลักษณ์และความพร้อมด้านการท่องเที่ยว หลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มผ่อนคลายทั่วโลก ซึ่งพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวได้เปลี่ยนไปอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยี (Tech savvy) ที่ไม่จำเป็นต้องทำงานจากสถานที่ทำงานอีกต่อไป และมีการใช้จ่ายในสกุลเงินดิจิทัลอีกด้วย

ทั้งนี้การประชุมและเสวนาระดับนานาชาติ (The Global Tourism Forum) ครั้งนี้ จัดโดย World Tourism Forum Institute ซึ่งเป็นองค์กรด้านการท่องเที่ยวและการวิจัยชั้นนำของโลก ในหัวข้อหลัก คือ “Dubai Blockchain for Travel” เพื่อเป็นการนำผู้บริหารระดับสูง ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเทคโนโลยีจากทั่วโลก มาร่วมการบรรยายและเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น องค์ความรู้ ประสบการณ์ และวิสัยทัศน์ ในประเด็นที่มีความน่าสนใจ สร้างสรรค์ และมีความสำคัญ อาทิ การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่กับโอกาสที่สำคัญของเทคโนโลยี Blockchain การใช้เหรียญโทเคนดิจิทัลทางการท่องเที่ยว การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยีทางการท่องเที่ยว รวมไปถึงอิทธิพลของคริปโตเคอร์เรนซีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น   

หัวข้อการเสวนาในการประชุมครั้งนี้ มุ่งเน้นการนำเสนอทางเลือกและโอกาสทางการท่องเที่ยว  ใหม่ ๆ ให้กับนักเดินทางกลุ่ม Generation Z และ Generation Alpha และในปัจจุบันกลุ่ม Digital Nomad ได้หันมาใช้คริปโตเคอร์เรนซีเพื่อการสร้างรายได้แบบ Passive Income ที่ให้ผลตอบแทนสูง อีกทั้งมีความสะดวกและปลอดภัย ประชากรกว่า 35 ล้านคนทั่วโลก มองว่าตนเองเป็นหนึ่งในกลุ่ม Digital Nomad และประมาณ 16% ของคนกลุ่มนี้มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล อีกทั้งมีความพึงพอใจต่อการใช้คริปโตเคอร์เรนซีเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว โดยมีการคาดการณ์ว่าเทคโนโลยี Blockchain จะเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลก และผู้คนจะเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยี Blockchain เพื่อการจัดเก็บและการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยี Blockchain กำลังพิสูจน์ให้โลกเห็นถึงศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงสถานะของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ด้วยการมีบทบาทสำคัญในการรักษาข้อมูลให้มีความปลอดภัย ได้รับการปกป้อง และเชื่อถือได้

สำหรับการ เสวนาในหัวข้อ “เทคโนโลยี Blockchain สะพานสู่การท่องเที่ยวอัจฉริยะ” นั้นได้นำเสนอสถานการณ์การท่องเที่ยวไทย หลังต้องเผชิญกับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย การรับมือกับผลกระทบที่ยิ่งใหญ่นี้ ได้ทำให้ประเทศไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และพร้อมที่จะสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวทั่วโลก ด้วยการประกาศ Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters” ส่งเสริมให้ปี 2565 เป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการท่องเที่ยวที่นำไปสู่ความยั่งยืน  

พร้อมกันนี้ ได้นำเสนอปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในการริเริ่มการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย 3 ประการ คือ ประการที่ 1 การสร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีความพร้อม โดยสร้างความรู้และมีความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้นแก่คนไทย โดย ททท. ได้เริ่มศึกษาแนวทางการสร้างเมตาเวิร์ส (Metaverse) หรือพื้นที่เสมือนจริงสำหรับแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว เริ่มจากการสร้าง “เมตาเวิร์สไร่ทุเรียน” ที่ผู้คนสามารถเข้ามาเยี่ยมชมสวนทุเรียน และสามารถทำการซื้อขายทุเรียนได้จริง เป็นการสัมผัสประสบการณ์ที่แปลกใหม่ด้านการท่องเที่ยวและนับเป็นการผลักดันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยใช้ประโยชน์จากคริปโตเคอร์เรนซี เพื่อให้เป็นโมเดลต้นแบบสำหรับการพัฒนาในอนาคตต่อไป

นอกจากนี้ ททท. ยังเตรียมศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์จาก Non-Fungible Token (NFT) โดยอาจเริ่มจากการนำไปใช้ในงานศิลปะท้องถิ่นต่าง ๆ อาทิ ภาพวาด กราฟฟิก วิดีโอ และเพลง  โดย ททท. จะมองหาโอกาสในการนำมาใช้ประโยชน์กับภาคการท่องเที่ยวต่อไป

ประการที่ 2 การเปิดตัวความคิดริเริ่มหรือโครงการนำร่องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทย ควบคู่ไปกับการให้ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มสาธารณชนคนไทย โดย ททท. ได้ริเริ่มโครงการ “Thailand Holideals” รวบรวมแพ็กเกจ สิทธิประโยชน์ และโปรโมชันท่องเที่ยวสุดพิเศษ จากผู้ประกอบการท่องเที่ยวชั้นนำทั่วเมืองไทย มาให้นักท่องเที่ยวได้เลือกสรรผ่านเว็บไซต์ holideals.tourismthailand.org โดยสามารถเลือกชำระด้วยระบบโทเคนดิจิทัลได้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยกับการใช้เหรียญดิจิทัลเพื่อการใช้จ่ายสินค้าทางการท่องเที่ยว และ

ประการที่ 3 เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ใช้เทคโนโลยีในยุคแรก ๆ หรือนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Native / Generation Z / Digital Nomad หรือ Remote Worker กลุ่มบุคคลเหล่านี้ต่างมีความรู้และความเข้าใจในการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอย่างดี โดยอาจเริ่มต้นจากการใช้    โทเคนดิจิทัล หรือ NFT ด้วยการสร้างคอลเลกชันของ NFT ร่วมกับศิลปินท้องถิ่นในประเทศไทย เพื่อสร้างการรับรู้ในแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทย นำเสนออัตลักษณ์ วัฒนธรรม และศิลปะไทย สู่เวทีระดับโลกนอกเหนือจากการมาร่วมเสวนา เนื้อหาสาระการบรรยายแล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่าย ความร่วมมือทางวิชาการ เทคโนโลยี และการยกระดับของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในมิติด้านดิจิตัล ให้ก้าวสู่สากลได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

การประชุมครั้งนี้เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างโลกของสกุลเงินดิจิทัลและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ด้วยความโดดเด่นของวิทยากรที่มีชื่อเสียง และผู้มีอิทธิพลมากประสบการณ์จากทั้งภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเทคโนโลยี ที่ต่างมาเข้าร่วมการประชุมเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์ และวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อมโยงของภาคการท่องเที่ยวและเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ François Hollande  อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส เข้าร่วมเป็นวิทยากรปราศรัยในหัวข้อ “อิทธิพลของคริปโตเคอร์เรนซีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว” Taleb Rifai, Secretary General of World Tourism Forum Institute เป็นวิทยากรปราศรัยในหัวข้อ “ระบบนิเวศใหม่ของการท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยี Blockchain” และ Michael Gebert, Chairman, European Blockchain Association เข้าร่วมการเสวนาในหัวข้อ “ระบบนิเวศของเทคโนโลยี Blockchain ของสหภาพยุโรป – การกำหนดอนาคตดิจิทัลของยุโรป”

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....