จากการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566  แบบพาดหัวข่าว (กดดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ขีดเส้นใต้)  “DATA GUARDIANS OPERATION ปฏิบัติการล่าทรชน คนค้าข้อมูล” ของข่าวกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ “ตำรวจไซเบอร์” แล้วก็ตามมาด้วย หัวข่าวบนหน้าสื่อต่างๆ ที่ “ซอยข่าว” ในเชิงลึกลงไปจากเนื้อหาการแถลงข่าวในวันนั้นอีกประมาณว่า

                  “จับโบรกเกอร์บริษัทประกันภัยดัง นำข้อมูลลูกค้านับล้านรายชื่อ ขายให้มิจฉาชีพ” จากรายการ เรื่องเล่าเช้านี้

                 “จับ “โบรกเกอร์” ประกันภัย ขายข้อมูลลูกค้า 15 ล้านราย”  | เนชั่นทันข่าวค่ำ | NationTV22

แล้วยังมี “คลิปข่าวทีวี” อีกหลายช่องออกมาในโทรประเด็นเดียวกัน ด้วยหัวข่าวว่า “จับโบรกเกอร์บริษัทประกันภัยดัง นำข้อมูลลูกค้านับล้านรายชื่อ ขายให้มิจฉาชีพ”

                   และ “ตร.ไซเบอร์ ขยายผลจับโบรกเกอร์ประกันภัยชื่อดัง ขายข้อมูลส่วนบุคคลนับล้านให้แก่มิจฉาชีพ พร้อม โปรแกรมเมอร์สร้างแอปพลิเคชั่นสแกนใบหน้าปลอมให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้ถอนเงิน”

                  ทำให้ “ประชาชน” ตื่นกับสิ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงการประกันภัย จนกระทั่งบ่ายวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ทาง “สมาคมประกันวินาศภัยไทย” ก็ออกจดหมายข่าวต่อสาธารณะว่า “สมาคมประกันวินาศภัยไทย ย้ำชัดธุรกิจประกันวินาศภัยมีมาตรการเข้มข้นในการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล”

                 แล้วเช้าวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 นี้ ล่าสุดก็มีจดหมายข่าวจาก “สำนักงาน คปภ.” ออกมาว่า (กดดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ขีดเส้นใต้) “คปภ. ลงดาบ..! เพิกถอนใบอนุญาต “ตัวแทนประกันชีวิต” ถูกตำรวจไซเบอร์จับกุม  กรณีลักลอบนำข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าไปขายให้กับกลุ่มมิจฉาชีพ

ขณะที่บนเฟซบุ๊ค “คุณบรรยง วิทยวีรศักดิ์” อดีตนายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน (THAIFA) ก็ขึ้นหัวบทความน่าสนใจอีกว่า (กดดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ขีดเส้นใต้)   “ตำรวจแถลง นักข่าวยำ ประชาชนรับกรรม หวาดหวั่นไปตามกัน

                เรื่องราวเหตุการณ์นี้ก็ยังมี “ผู้สัดกรณี” อดีตกุนซือคนสำคัญในแวดวงการประกันภัย ออกมาคอมเม้นท์เล็กๆ แต่สรุปได้เห็นภาพมากกับ “จุดเปิด” ของเรื่องราวด้วยคำถามที่ตั้งขึ้นมาแบบปลายเปิดให้ไปคิดต่อกันเองประมาณว่า “เป็นเรื่องของตำรวจที่กำลังสร้างผลงาน เลย Blow Up ข่าวให้มันเป็นกระแสใหญ่โต??

                จากทัศนะความคิดเห็นที่มี “ข้อมูล” มาแชร์ “ย้อนแย้ง” พร้อมทั้งมีการตั้งข้อสังเกตถึงข้อมูลข่าวที่มาจาก “เนื้อหาข่าว” บนเอกสารแถลงข่าวของ “ตำรวจโซเบอร์” ว่ามีความแม่นยำขนาดไหนจากตัวเลขที่กำลังพูดถึง “รายชื่อ 15 ล้านราย” ที่ตกไปอยู่ในมือของ “มิจฉาชีพ” ตามข่าวที่ออกมา

                โดยเฉพาะข้อมูลที่ระบุเฉพาะตัว “นายพศิน” ที่ตามข่าวตำรวจระบุว่าเขาเป็น “โบรกเกอร์ประกันภัยรายใหญ่” นั้นมีข้อมูล “นับล้าน” ในมือตามเนื้อข่าว

แต่ล่าสุด ทาง “สำนักงาน คปภ.” ออกมายืนยันแล้วว่า เขาเป็น “ตัวแทนประกันชีวิต” และขายประกันฯ จริงมีลูกค้าแค่ 11 รายเท่านั้น และรายชื่ออื่นๆ เขาได้มาจาก “ตลาดมืด” เพื่อประสงค์เอามาใช้ในการเสนอขายประกันภัยเพื่อประโยชน์ของตนเองและได้นำข้อมูลมาขายให้แก่กลุ่มมิจฉาชีพต่อ

                จากตรงนี้…ความชัดเจนก็คือ “รายชื่อลูกค้าประกันฯ” ไม่ได้มีมากนับล้านราย อย่างมากสุดถ้าจะมองเป็น “รายชื่อผู้มุ่งหวัง” ที่ส่วนใหญ่ “ตัวแทน” จะทำไว้เพื่อเตรียมทำข้อเสนอเข้าพบและนำเสนอขายประกันฯ ให้นั้น ก็น่าจะอยู่ในหลัก “ร้อยราย” หรือ “พันราย” เท่านั้น หรือถ้าจะรวมๆ กับเพื่อนๆ ที่อยู่กลุ่มเดียวกัน ก็คง “ไม่เกินหมื่นรายชื่อ”

                ที่สำคัญ “ข้อมูล” ดังกล่าวนั้นในเชิงปฏิบัติจริงสิ่งที่ตัวแทนกระทำตามวิสัยเบื้องต้นคือ จดบันทึกได้แค่ “ชื่อ” และ “เบอร์โทรศัพท์” ส่วนชื่อจริง นามสกุล เลขบัตรประชาชน ก็น่าจะมีน้อยอยู่คงไม่ทั้งหมด แล้วยิ่งพูดถึง “เลขบัญชีธนาคาร” ก็ยิ่งหายากไปกันใหญ่!!

                มองเข้าไปในเนื้อหาข่าวแถลงครั้งแรกของ “ตำรวจ” ก็พอจะทำให้ “รู้สึก” เอียงๆ มาทาง “กระแสคนวงใน” ธุรกิจประกันภัยที่ออกมาแสดงความเห็นและข้อมูลต่างๆ กันได้ อย่างเช่นบางคำกล่าวของ “คุณบรรยง วิทยวีรศักดิ์” อดีตนายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน (THAIFA) ที่แสดงความเห็นไว้ตอนหนึ่งของบทความว่า

              “ในฐานะที่ผมอยู่ในธุรกิจประกันชีวิต ขอยืนยันว่าทุกวันนี้ ระบบการเก็บข้อมูลของบริษัทประกันชีวิตทำได้อย่างดีเยี่ยม ได้มาตรฐานสากล กล่าวคือข้อมูลที่กรอกในแอพพลิเคชั่นของบริษัทประกันชีวิต จะส่งตรงไปที่บริษัท ข้อมูลที่อ่อนไหวเช่น สำเนาบัตรประชาชนและการสแกนใบหน้า จะตรงดิ่งไปที่เซิร์ฟเวอร์ของบริษัทประกันชีวิต ตัวแทนประกันชีวิตไม่สามารถเปิดดูหรือเซฟเอาไว้ในเครื่องของตนได้

              นอกจากนั้น บริษัทก็ยังมีกฎเหล็ก ห้ามตัวแทนเก็บข้อมูลลูกค้าไว้กับตัว หากตรวจพบ จะมีความผิดฐานละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลได้ และบริษัทก็ได้ทำการฝึกอบรมและตอกย้ำเรื่องนี้อยู่สม่ำเสมอ ผมจึงไม่เชื่อว่าจะมีใครในธุรกิจประกันชีวิตที่สามารถรวบรวมข้อมูล หรือแฮ็กข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทประกันชีวิตเป็นล้านชื่อ ออกมาขายให้กับกลุ่มมิจฉาชีพได้ เพราะข้อมูลในบริษัทประกันชีวิตได้รับการดูแลเทียบเคียงกับธนาคารต่างๆ

                และการวิเคราะห์ข้อมูลของ “ผู้สัดทัดกรณี” อดีตกุนซือสำคัญในแวดวงการประกันภัย ที่ระบุว่า “หากมาวิเคราะห์ดูลึกๆ จะมีใครมีฐานข้ิอมูลลูกค้าถึง 15 ล้านราย?!!? TQM Broker ใหญ่สุดก็มีลูกค้าในมือ 4-5 ล้านราย!!! วิริยะ ประกันภัย ใหญ่สุดก็มีประมาณ 6-7 ล้านลูกค้า!!! ไม่น่าเชื่อว่า คนร้ายจะมีรายชื่อถึง 15 ล้านราย!?

                บทสุดท้ายของ สกู๊ปข่าววิเคราะห์สถานการณ์ร้อนๆ ในแวดวงการประกันภัยไทยวันนี้ จึงขอสรุปเป็นข่าว “เก็บตกเล่าเหตุการณ์” ให้ผู้คนในโลกโซเชียลเข้าใจและติดตามกันได้ทันต่อข่าวที่เกิดขึ้น และอีกด้านหนึ่งก็คือ “ข้อเท็จจริง” ที่คนในอุตสาหกรรมได้ร่วมด้วยช่วยกันออกมาแชร์ให้สาธารณะได้เข้าใจ “ธุรกิจประกันภัย” อย่างถูกต้องนั่นเอง!

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....