เป็นเรื่อง!! ขึ้นแล้ว!! สำหรับการ “ซื้อประกันนอก” หรือ “ขายประกันส่งนอก” ที่คนในแวดวงการประกันภัยได้ยินและคุ้นหูกันมานานกับการขายกรมธรรม์ประกันชีวิตและวินาศภัยต่างๆ จากบริษัทต่างชาติ ที่ “คนขาย” นำมาเสนอให้ “ลูกค้า” ด้วยผลประโยชน์ที่บอกต่อๆ กันมาว่า “ดีกว่า เบี้ยถูกกว่า” บริษัทไทยขายกัน!!

                “ผู้ขาย” จะอธิบายให้กับ “ลูกค้า” ได้เห็นภาพเรื่อง “ผลตอบแทน” ที่เห็นแล้วตาลุกวาวได้ ด้วยเหตุผลร้อยแปดพันเก้าที่จะหยิบมาเปรียบเทียบให้เห็น “เงื่อนไข” ความคุ้มครองที่ได้รับจากการซื้อ “ประกันฯนอก” หรือซื้อประกันฯ กับบริษัทที่อยู่ต่างประเทศนั้นว่าจะครอบคลุมกว้างและดีกว่าประกันประเภทเดียวกันกับ “บริษัทไทย” หรือบริษัทที่จดทะเบียนบริษัทหรือสาขาในประเทศไทย

                ที่ผ่านมา (ตลอด!) คนกลางประกันภัยบ้านเราก็ “นิยมชมชอบ” ที่จะเรียนรู้แบบผิดทางนำเอาแบบประกันต่างฯ เหล่านี้มาขายให้กับ “ลูกค้า” ของตัวเอง โดยบางครั้งก็ให้เหตุผลว่า…เพราะบางแบบในบ้านเราไม่มี หรือขายแพงกว่า อย่างเช่น “ประกันสุขภาพเด็ก” ในวันนี้เป็นต้น!!

                โดยก่อนหน้านี้ในคอลัมน์ SPY MAN สื่อ INNWhy เคยนำเสนอเรื่องราวความเคลื่อนไหวเหล่านี้ไว้เป็นข้อมูลเบื้องต้นไปแล้วว่า มูลค่าไหลออกของ “เบี้ยประกันภัย” ที่มาจากลูกค้าคนไทยแห่หิ้วเงินไปซื้อกรมธรรม์ประกันภัยต่างชาตินี้มากมายกันถึงราว 1,000 ล้านบาทต่อปี

                นับเป็นความสูญเสีย!! และมีความเสี่ยง!! ต่อระบบประกันภัยไทยเป็นอย่างมาก สิ่งที่ต้องเร่งด่วนดำเนินการกันคือ “หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” ได้เวลาลงมือปฏิบัติการ “ตัดตอน” ได้แล้ว!!

                และล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (กลางเดือนกันยายน 2567) ก็มีเหตุโป๊ะแตก!!  มีรายการ “ออกสื่อ” ออนไลน์สื่อหนึ่งเพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) กรณี “เคลมไม่ได้” กับบริษัทประกันภัยต่างชาติที่ทำประกันฯ ไว้

                เขา “ไม่จ่าย” แล้วล่าสุดยังก็ปิด “เว็บเพจ” ไปแล้วอีกด้วย!!

                เป็นเหตุต่อเนื่อง!! ให้เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ได้มีหนังสือ “ด่วนที่สุด” จากสำนักงาน คปภ.ส่งถึง “บริษัทประกันภัย” และ “ตัวแทน” บางคนที่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวพันนัวเนียกับเรื่องราวการ “สืบ” ของสำนักงาน คปภ. ที่ร่วมมือกับ 2 สมาคมใหญ่อุตสาหกรรมประกันภัยไทยคือ “สมาคมประกันวินาศภัยไทย” และ “สมาคมประกันชีวิตไทย” เรื่อง “ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีต่อคปภ.”

                โดยหนังสือด่วนดังกล่าว สำนักงาน คปภ. ได้ระบุว่า ด้วยปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ว่า มีกลุ่มบุคคลหรือบุคคคลขายประกันภัยของบริษัท Regency Assurance ให้กับผู้เอาประกันภัยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยจากการตรวจสอบปรากฏว่าบริษัท Regency Assurance ไม่ได้เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตหรือวินาศภัยในประเทศไทย แต่อย่างใด และ “ท่าน” ซึ่งเป็นตัวแทนประกันชีวิตของ “บริษัท???”  เป็นผู้เสนอขายกรมธรรรม์ของบริษัท Regency Assurance

                 การกระทำของ “ท่าน” ดังกล่าว จึงเป็นการชักชวน แนะนำ หรือกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อให้บุคคลทำสัญญาประกันภัยกับผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยในต่างประเทศ และเพื่อเป็นการดำเนินงานที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตาม กรมธรรม์ประกันภัย หรือประชาชน อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

                 ฉะนั้น เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนประกอบการพิจารณาดำเนินการ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ท่านชี้แจงข้อเท็จจริงพนักงานเจ้าหน้าที่ (นาย m) ที่สำนักงานในวันอังคารที่ 1  ตุลาคม 2527 เวลา 13.30 น.

                ขณะเดียวในวันเดียวกันนั้น สำนักงาน คปภ.ก็ได้มีหนังสือ “ด่วนที่สุด” อีกฉบับหนึ่งเรื่องเดียวกันแจ้งไปยัง “บริษัทประกันฯ” ให้เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงกันกับ “ตัวแทนในสังกัด” ครั้งนี้พร้อมกันด้วย

                จากเหตุการณ์ครั้งนี้ แหล่งข่าวจาก สำนักงาน คปภ. เปิดเผยกับสำนักข่าว INNWhy ว่า ทางด้านสำนักงาน คปภ.ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหายรวมทั้งกลุ่มที่ได้มีการออกรายการสื่อออนไลน์ไปก่อนหน้านี้ที่ไม่สามารถทำการเคลมประกันภัยที่ได้ซื้อไปกับบริษัท Regency Assurance โดยทางเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน คปภ.กำลังติดตามแบะแสเพิ่มเติมและเตรียมเข้าหารือกับหน่วยงานทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป

                แหล่งข่าวจากสำนักงาน คปภ.ยังกล่าวต่อว่า จากการกระทำของ “ตัวแทน” ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าปฏิบัติหน้าที่ขัดกับมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อันมีความผิดทางด้านการปกครองแล้วยังขัดข้อกฎหมายของกฎหมายอาญาแผ่นดินอีกด้วย

                อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์นี้สำนักงาน คปภ.ขอแจ้งเตือนต่อประชาชนอย่าได้ซื้อกรมธรรม์จากบริษัทประกันภัยที่ไม่ได้จดทะเบียนบริษัทหรือสาขาในประเทศไทยต่อไปอีก ด้วยเหตุผลสำคัญที่สุดคือ 1.บริษัทดังกล่าวไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของสำนักงาน คปภ.เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ถูกต้องก็ยากต่อการเข้าไปดำเนินการ 2.หากต้องดำเนินการทางกฎหมายต้องไปดำเนินการในต่างประเทศ และ 3. ไม่มีกองทุนประกันภัยใดรองรับความเสียหายให้

                ดังนั้นการซื้อขายกรมธรรม์ประกันภัยทั้งชีวิตและวินาศภัยจากบริษัทนอกประเทศซึ่งไม่จดทะเบียนแจ้งดำเนินการในประเทศไทยกับบริษัทใดๆ นั้น “ผู้ขาย” ก็มีคดีความ “ผิดกฎหมาย” ทั้งกฎหมายอาญาและกฎหมายทางปกครอง ส่วน “ผู้ซื้อ” ก็มีความเสี่ยงสูงเพราะ “ไม่มีใคร” รับรองความถูกต้องตามกฎหมายและให้ควมคุ้มครองทรัพย์สินเมื่อยามเกิดความเสียหายขึ้นนั่นเอง.

 

 

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....