เลขาธิการคปภ.เผยต่างชาติกดดันผ่านเวทีเจรจาขอถือหุ้นบริษัทประกันไทย100% โดยขณะนี้รายใหม่จากจีนจ้องเทกโอเวอร์บริษัทประกันไทย ขอถือหุ้น100% เช่นเดียวกับรายเดิมที่เปิดบริษัทร่วมทุนอยู่แล้วก็ต้องการเพิ่มสัดส่วนเต็มแม็กซ์100% แจงกฎหมายเปิดช่องอยู่แล้ว แต่ต้องเข้าเงื่อนไขและอยู่ในดุลพินิจรัฐมนตรี ส่วนขอไลเซ่นส์ใหม่ยาก ย้ำถือหุ้นเกิน49% ต่างชาติต้องแสดงความจริงใจ ทำประโยชน์ให้ประเทศไทย เอาเงิน+โนฮาวน์เข้ามา ถ้าไม่พร้อมหมดสิทธิ ชี้บางเรื่องขึ้นกับนโยบายบอร์ดคปภ-รัฐบาล ส่วนการเปิดเป็นสาขาประเทศไทยมีข้อได้เปรียบ เสียเปรียบ
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(เลขาธิการคปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เริ่มมีบริษัทต่างชาติจ้องจะเข้ามาซื้อบริษัทประกันภัยในประเทศไทย อาทิ จีน เป็นต้น โดยมีการติดต่อเข้ามาที่สำนักงานคปภ. ซึ่งสำนักงานคปภ.ก็ต้องระมัดระวังการเข้ามาในลักษณะนี้เพราะไม่ค่อยไว้ใจ ขณะเดียวกันก็มีบริษัทต่างชาติหลายแห่งที่ถือหุ้นในบริษัทประกันภัยในประเทศไทยอยู่แล้วก็ต้องการเพิ่มการลงทุน อาทิ เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นให้มากขึ้น ในจุดนี้ก็ขึ้นอยู่กับบริษัทประกันภัยที่เขาถือหุ้นอยู่ บางเรื่องก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของบอร์ดคปภ.หรือนโยบายของรัฐบาล เช่น ถ้าเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นแล้วคุ้มหรือไม่ ซึ่งปัจจุบัน สำนักงานคปภ.ยังมีนโยบายที่ค่อนข้างอนุรักษ์ และมีความระมัดระวังอย่างมากในเรื่องนี้
“ บางประเทศเขามองว่า เขาต้องการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น ถ้าเขาลงทุน หลายประเทศอยากจะเข้ามา อยากจะมีอำนาจในการควบคุมบริษัท ถ้าเกิดเขาจะเข้ามาแล้วเขาไม่มีอำนาจในการควบคุมบริษัท ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของคนไทย มันไม่คุ้มกับเขา แต่บางบริษัทเขาบอกนโยบายของเราไม่เปิดให้เขา ซึ่งนโยบายของบอร์ดคปภ.คือ ถ้าอยู่ๆ คุณจะเข้ามา เราไม่ค่อยมั่นใจ พอคุณเข้ามาปุ๊บคุณจะให้เป็นไลเซ่นส์เลย ถือหุ้นเกินเลย ก็ไม่ใช่ เพราะเราไม่รู้ว่าคุณเข้ามาแล้วจะซัคเซสจริงหรือเปล่าอย่างที่ญี่ปุ่นก็เกิดขึ้นมาแล้วคือบริษัทต่างชาตินึกว่าเข้ามาแล้วประสบความสำเร็จ สุดท้ายเจ๊ง”
ดร.สุทธิพลกล่าวว่า สิ่งที่ต่างชาติเรียกร้องต่อสำนักงานคปภ.ในขณะนี้คือขอให้ขยายให้ต่างชาติมีสัดส่วนการถือหุ้นเกินกว่า49% ซึ่งปัจจุบัน กฎหมายประกันภัยที่มีการแก้ไขแล้วก็ได้เปิดช่องให้แล้ว โดยให้ต่างชาติสามารถถือหุ้นเกิน49% ได้ กล่าวคือ ปกติกฎหมายประกันภัยกำหนดให้ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน49% แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ก็ได้เปิดช่องไว้ว่าในกรณีเข้าเงื่อนไขเพื่อต้องการให้บริษัทประกันภัยมีความมั่นคงหรือมีความเข้มแข็งมากขึ้น บอร์ดคปภ.สามารถที่จะให้ข้อแนะนำต่อรัฐมนตรีและเป็นดุลยพินิจของรัฐมนตรีในการที่จะเปิดให้ต่างชาติถือหุ้นเกิน 49% ได้ แต่ต่างชาติ เวลาประชุมเจรจากันจะไม่ค่อยแฮปปี้ เขาอยากให้ได้เกณฑ์ที่ชัดเจน ซึ่งขณะนี้กำลังเจรจากันอยู่
“เราไม่อยาก อยู่ๆ เราไปเปิดแล้วต่างชาติไม่เปิด ไม่คุ้ม ตอนนี้ในเวทีเจรจาเราก็บอกว่า เราเปิดแล้ว แต่เราไม่ได้เปิดโดยอัตโนมัติ เปิดโดยที่ถ้าดีเราก็ให้เข้า กฎหมายเปิดช่อง เกิดความยืดหยุ่นแล้ว เกินกว่า49% ทำได้ คุณสามารถถือหุ้นได้ถึง100% แต่เราต้องพิจารณาเงื่อนไข และต้องอยู่ในดุลยพินิจ ตอนนี้ก็นี้มีบริษัทประกันภัย2บริษัทที่ในช่วงน้ำท่วม ต่างชาติถือหุ้น100% เพราะตอนนั้นเขาเพิ่มทุนเข้ามาเพื่อจ่ายสินไหมน้ำท่วม พอถึงจุดหนึ่งจำเป็นต้องลดให้เหลือ49% เขาบอกไม่ลด เขาอยากจะเพิ่ม เรากำหนดเงื่อนไขไป เราระมัดระวัง อยู่ๆ คุณไปถือหุ้น100% คุณไม่ได้ทำอะไรเพื่อประเทศไทยเลย อย่างน้อย1.คุณต้องเอาเงินเข้ามา 2.เอาโนฮาวน์เข้ามา ถ้าคุณบอกคุณจะถือหุ้น100% หรือ 99%เท่าเดิม แต่ไม่ทำอะไรเลย เราไม่ให้ มีบางบริษัทบอกตอนนี้ยังไม่พร้อมเขาขอลดสัดส่วนการถือหุ้นจาก100% เหลือ49% ถ้าเขาดีพอ เขาก็ต้องแสดงว่าเขาจริงใจ คุณเป็นบริษัทต่างชาติ คุณจะมาแข่งกับคนไทยอยากน้อยที่สุด คุณต้องทำอะไรให้ประเทศไทย คนไทย ไม่ใช่อยู่ๆ คุณจะเอาอย่างเดียว พอเรากำหนดเงื่อนไข เขาก็บายไป ก็ขอปรับเป็น49% เหมือนเดิม”
ถามว่าถ้าบริษัทต่างชาติบางแห่งเปิดดำเนินธุรกิจในรูปแบบสาขาประเทศไทยอยู่ จะมีโอกาสปรับให้เขาเป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยหรือไม่ เลขาธิการคปภ.กล่าวว่า ปรับหรือไม่ปรับ ต้องขึ้นอยู่กับเขา เพราะการที่บางบริษัทจะมาขอไลเซ่นส์ใหม่ไม่ง่าย เพราะกระทรวงการคลังไม่ได้เปิดให้ ซึ่งการเปิดในรูปแบบสาขา ต่างชาติสามารถคอนโทรลบริษัทได้100% แต่ก็มีข้อจำกัด บางบริษัทก็แฮปปี้กับตรงนี้ สามารถอยู่ได้ แต่ถ้ามาขอเปิดบริษัทใหม่ ขอไลเซนส์ใหม่ คุณถือหุ้นได้ไม่เกิน49% การจะขอถือหุ้นเกิน 100% ยากมาก ซึ่งแนวโน้มบริษัทที่เปิดใหม่ก็ถือหุ้นได้ไม่เกิน49% ต้องหาคนไทยมาถือหุ้นอีก51% ทุกคนต้องทำกฎกติกา ถูกก็ว่าตามถูก ผิดก็ว่าตามผิด
“อันนี้เป็นนโยบายของบอร์ด สำนักงานคปภ.ก็เห็นตรงกัน คือ1.คุณจะถืออำนาจเกินกฎหมายกำหนดแล้วให้ต่างชาติมาคุม พูดง่ายๆ คุณต้องมีของดี นอกจากเหตุผลที่เข้ามาเพราะกฎหมายกำหนดเงื่อนไขคือกรณีบริษัทมีปัญหาหรือต้องการเสริมสภาพให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น คุณก็ต้องแสดงมา เราก็มีเงื่อนไขของเรากำหนดว่าคุณต้องเอาอะไรมาบ้าง”
ดร.สุทธิพลกล่าวว่า การเปิดดำเนินธุรกิจในรูปแบบสาขาประเทศไทยมีข้อได้เปรียบ เสียเปรียบ โดยข้อเสียเปรียบคือไม่สามารถเปิดสาขาย่อยได้ ต้องเปิดเป็นสำนักงานตัวแทนเท่านั้น ขณะที่การใช้วิธีการเปิดเป็นอะคาเดมี่ ก็เข้าลักษณะเป็นสาขาย่อยเช่นกัน ซึ่งขณะนี้สำนักงานคปภ.พยายามทำให้คำจำกัดความของสาขา หรือ สำนักงานตัวแทนมีความชัดเจนมากขึ้นต้องมีรูปแบบอย่างไร จากเดิมกฎกติกายังไม่ชัด ดังนั้น ถ้าไม่ตรงกับคำจำกัดความก็ต้องปรับให้ถูกต้อง
“การทำคำจำกัดความสาขา สำนักงานตัวแทนให้ชัดเจนมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็มีการร้องมาจากกรรมาธิการให้เราไปชี้แจงเรื่องนี้ จากที่ถามว่ามีการพูดมาตลอดว่าเกิดข้อได้เปรียบ เสียเปรียบเกิดความเหลื่อมล้ำในการทำธุรกิจ มองกันว่าสาขาเอาเงินออกนอกประเทศได้ตลอด เราก็ต้องมองหลายเรื่อง บางเรื่องเขาไม่สามารถเอาไปได้ บางเรื่องเขาก็ต้องมาลงทุนในประเทศไทย เราก็ได้ประโยชน์ ต้องมีการจ้างงาน ถามว่าตัวแทนที่สร้างเงินเป็นคนไทยหรือต่างชาติ ก็คนไทยทั้งนั้น แล้วคนไทยก็เสียภาษี แล้วมีการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ลงทุนในประเทศ ทุกอย่างมีเหรียญสองด้าน” เลขาธิการคปภ.กล่าวในตอนท้าย
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com