จากบรรยากาศการแถลงข่าวกรณีถูกสั่งปิดดำเนินงานถาวร บริษัท สินมั่นคงประกันภัย ของ สำนักงาน คปภ. สมาคมประกันวินาศภัย และกองทุนประกันวินาศภัย เมื่อบ่ายวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ณ สำนักงาน คปภ.ถ.รัชดา

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ เลขาธิการสำนักงานคปภ. เปิดเผยว่า หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีการลงนามคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ไปเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 แล้วในวันที่ 9 กรกฎาคม คปภ. ได้มีแต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) เป็นผู้ชำระบัญชีไปแล้วนั้น ล่าสุดข้อมูลทางการเงินบริษัทสินมั่นคงฯ มีสินทรัพย์รวม 4, 785.08 ล้านบาท หนี้สินรวม 38,056.34 ล้านบาท มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน 33,271.26 ล้านบาท

โดยมีสินไหมค้างจ่ายทั้งหมด 484,204 ราย นับเป็นมูลค่า 32,184.83 ล้านบาท เป็นสินไหมค้างจ้าย Covid 19 356,661 เคลม หรือ 30,124.47 ล้านบาท ที่เหลือเป็นเคลมสินไหมค้างจ่ายอื่นๆ หรือ Non-Covid 19  127,543 เคลม หรือ 2,060.36 ล้านบาท

ส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องตามราคาบัญชี มีเงินสดและเงินฝากธนาคาร 1,419.12 ล้านบาท พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้ 827.69 ล้านบาท สลากออมทรัพย์ 0.05 ล้านบาท ซึ่งมีรายการหักภาระผูกพัน ติดลบอยู่ 18.58 ล้านบาท รวมสินทรัพยสภาพคล่อง 2,228.28 ล้านบาท

และมีกรมธรรม์ที่มีผลบังคับเหลืออยู่ประเภทประกันภัยรถยนต์ (Motor) 366,458 กรมธรรม์ ประกันภัยประเภทอื่น (Non Motor) 423,019 กรมธรรม์ รวมทั้งหมด 789,477 กรมธรรม์

ด้านดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า การดำเนินการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยในฐานะลูกค้าของบริษัทสินมั่นคงฯ มีทางเลือก 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 ผู้เอาประกันฯ ประสงค์จะซื้อประกันภัยใหม่ ก็สามารถติดต่อซื้อประกันฯ กับ 9 บริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ

เพื่อให้กรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทสินมั่นคงฯ สิ้นสุด ณ วันที่ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยใหม่ ซึ่งผู้เอาประกันฯ สินมั่นคงฯ จะจ่ายเบี้ยให้บริษัทใหม่เพียงส่วนที่เหลือจากหักออกจากสิทธิ์ที่ได้รับเบี้ยคืนจากบริษัทสินมั่นคงฯ เดิมเท่านั้น

กรณีที่ 2 ผู้เอาประกันขอคืนเบี้ยประกันฯ ตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ได้ที่กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) โดยมีระยะเวลาการเปิดรับคำทวงหนี้นับตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2567 ถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567

นอกจากนั้น ดร.สมพร ยังกล่าวถึงแนวทางปฏิบัติการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนประกันภัยรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยกับบริษัทสินมั่นคงฯ นับจากนี้ไปอีกว่า มี 2 กรณีเช่นกัน คือ กรณีที่ 1 รถของผู้เอาประกันฯ กับสินมั่นคงฯ เป็นฝ่ายผิด บริษัทประกันภัยที่รับประกันฯ ฝ่ายถูก (คู่กรณีกับลูกค้าสินมั่นคงฯ) จะดำเนินการจัดซ่อมหรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยของบริษัทตนเอง แต่จะไปใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมคืนกับกองทุนฯ โดยตรงเอง

กรณีที่ 2 กรณีที่รถของผู้เอาประกันฯ สินมั่นคงฯ เป็นฝ่ายถูก ทางฝ่ายบริษัทประกันภัยที่รับประกันฯ ของคู่กรณีหรือฝ่ายผิด จะดำเนินการจัดซ่อมหรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันฯ ของสินมั่นคงฯ แทนการติดต่อเคลมกับบริษัทสินมั่นคงฯ ไปเลย

ส่วนคุณชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) กล่าวสรุปว่า สำหรับกรณีการถูกสั่งปิดหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตของบริษัท สินมั่นคงฯ ครั้งนี้นับเป็นเคสที่ใหญ่เป็น 2 เท่าของการปิด 4 บริษัทโควิด-19 ที่ผ่านมา และด้วยประสบการณ์ในการดำเนินการจึงกำหนดวิธีการและระยะเวลายื่นคำทวงหนี้ให้กับผู้เอาประกันฯ ตามไทม์ไลน์ Timeline ไว้อย่างชัดเจนตามตารางภายใน 60 วัน เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 9 กันยายน ถึงวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน 2567

                ทั้งนี้เจ้าหนี้ หรือ ผู้เอาประกันฯ กับบริษัท สินมั่นคงฯ สามารถลงทะเบียนเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนยื่นคำทวงหนี้ได้ดังนี้ 1. ลงทะเบียนผ่าน Application ThaiiD และ 2 ลงทะเบียนผ่านระบบคุ้มครองสิทธิ Online (ตามรูปประกอบ) เท่านั้น ไม่มีการยื่นหรือรับคำทวงหนี้ที่สำนักงานกองทุนฯ เหมือนที่ผ่านมา

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....