นอนหลับมาก-น้อยเกินไปไม่ใช่เรื่องดี! Checklist ปริมาณที่เราควรนอนในแต่ละวัย

Credit: www.medicalnewstoday.com
หลายคนน่าจะเคยได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่าคนเราต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ขณะที่หลายๆ สื่อทางการแพทย์ได้ระบุเวลาการนอนเฉลี่ยอยู่ที่ระหว่าง 6-8 ชั่วโมง แต่เราเคยสงสัยกันมั้ยว่า นอนครบชั่วโมง หรือเกือบครบแล้ว แต่ทำไมยังรู้สึกง่วงอยู่ดี?
งานวิจัยของ National Sleep Foundation ในสหรัฐอเมริกา ได้สรุปข้อมูลที่น่าสนใจ และบางข้อมูลนั้นยังมีหลายๆ คนเข้าใจผิด เพราะจริงๆ แล้วสาเหตุที่ทำให้เรายังรู้สึกง่วง, เพลีย, อ่อนแอ ทั้งที่นอนครบชั่วโมงที่ควรจะเป็น มันมีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งเรื่องชั่วโมงการนอนหลับ (ในแต่ละวัย), พฤติกรรมในระหว่างการนอน จนไปถึง ภาวะการหายใจของเราในขณะที่นอนหลับ เป็นต้น
นักวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำการวิจัยเรื่องการนอนหลับของแต่ละช่วงวัย ได้ทำตารางสรุปชั่วโมงการนอนที่มีประสิทธิภาพต่อทุกๆ วัย โดยการทดลองนี้ได้ผลลัพธ์ชี้ชัดว่า ในแต่ละช่วงวัยควรนอนตามชั่วโมงที่ระบุ ถึงจะช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองดี และพร้อมทำงานตลอดทั้งวัน โดยที่เราจะไม่หาวนอน หรือรู้สึกอ่อนเพลีย
- เด็กแรกเกิด: 14-17 ชั่วโมง
- เด็กทารก: 12-15 ชั่วโมง
- เด็กเล็ก: 11-14 ชั่วโมง
- เด็กก่อนวัยเรียน: 10-13 ชั่วโมง
- เด็กในวัยเรียน: 9-11 ชั่วโมง
- วัยรุ่น: 8-10 ชั่วโมง
- วัยผู้ใหญ่: 7-9 ชั่วโมง
- ผู้สูงอายุ: 7-8 ชั่วโมง
Credit: National Sleep Foundation
ทั้งนี้ มีอีกหนึ่งข้อมูลจาก National Sleep Foundation ที่ระบุถึง พฤติกรรมการนอนหลับ ซึ่งบางคนจะไม่รู้ตัว โดยตำแหน่งการนอนหลับที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้เรารู้สึกว่าการพักผ่อนมันไม่เต็มที่ เช่น ‘การนอนคว่ำ’ ตลอดทั้งคืน เพราะจะทำให้การหายใจติดขัด ซึ่งแม้แต่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ยังพูดเหมือนกันว่า ตำแหน่งการนอนที่ดีที่สุดคือ ‘ท่านอนตะแคงขวา’ เพราะจะช่วยให้หัวใจเต้นได้สะดวกนั่นเอง
สำหรับคนที่ใช้เวลาในการนอนหลับที่มากเกินไป นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า เป็นโรคชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘hypersomnia’ คือการนอนที่ยาวนานเกินไป ส่วนใหญ่จะเกิดกับกลุ่มคนที่เป็นโรคนอนไม่หลับ, หายใจเวลานอนไม่สะดวก, ตื่นกลางดึกบ่อยๆ และกลุ่มคนที่มักจะหยุดหายใจในขณะหลับ (case อันตรายที่สุด)
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับคนที่มีอาการ hypersomnia หรือ oversleeping ก็คือ วิตกกังวลง่าย, ความจำ, พลังงานในแต่ละวันต่ำ และสามารถเสี่ยงต่การเป็นโรคซึมเศร้าได้
ทั้งนี้มี 5 เคล็ดลับทิ้งท้ายสำหรับการนอนหลับที่ดีขึ้น ได้แก่
- ลองกำหนดเวลานอน
- สร้างบรรยากาศ, สภาพแวดล้อมเพื่อเหมาะสมกับการนอนหลับ
- ปิดอุปกรณ์สื่อสาร
- พยายามเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้นอนหลักยาก (ดื่มกาแฟ, แอลกอฮอล์)
- จดบันทึกการนอนหลับ (ชั่วโมง, ตื่นกลางดึกกี่ครั้ง)
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
“Every day is a fresh start” ทุกๆ วัน คือการเริ่มต้นใหม่…สาวน้อยปริศนา อารมณ์ดี…ผู้มีหัวใจมุ่งมั่น เต็มเปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจ ดำรงชีพด้วยการทำในสิ่งที่รัก และรักในสิ่งที่ทำ “เชื่อว่าปาฏิหาริย์ สามารถเกิดขึ้นได้…ตลอดเวลา”