ส่องตลาดประกันมาเลย์ 2566 ประกันชีวิตยังฟื้นตัวได้แม้จะมีความท้าทายในปี 2565 ผลพวงโควิดฉุดเบี้ยใหม่วูบ6.4% แต่ผลประกอบการรวมยังดูดี เบี้ยโต3.5%  สมาคมประกันชีวิตปั้นโรดแม็ป5 ปี 2565-2569 ล้อพิมพ์เขียวการเงินของแบงก์ชาติที่ตั้งธง! ธุรกิจประกันชีวิคต้องพัฒนา ปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ตอบสนองผู้บริโภค-เศรษฐกิจ ด้านสมาคมประกันวินาศภัยกางผลงาน2565 เบี้ยโต10%แต่กำไรหด23% อ่วม!เคลมกระฉูดโดยเฉพาะประกันรถยนต์ หมดโควิด Loss พุ่งปรี๊ดทะลุเพดาน 65% ช่องทางตัวแทนยังกุมแชร์กว่า60% แต่ผลงานปั้นเบี้ยเริ่มถดถอย คนแห่ซื้อประกันออนไลน์ เบี้ยโต53%  

เว็บไซต์ AsiaInsuranceReview รายงานว่า  Loh Guat Lan  นายกสมาคมประกันชีวิตมาเลเซีย (Life Insurance Association of Malaysia: LIAM ) กล่าวในรายงานประจำปี 2565 ถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมประกันชีวิต 2566 ว่า ยังฟื้นตัวได้ แม้ในปี 2565  จะมีความท้าทายจากการระบาดของโควิด  แต่โดยรวมแล้วอุตสาหกรรมประกันชีวิตยังคงมีความยืดหยุ่น ปรับตัวเข้ากับสภาวะตลาดใหม่และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง

ในรายงานของสมาคมประกันชีวิตมาเลเซียระบุว่า ในปี2565 อุตสาหกรรมประกันชีวิตมีเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 1.2 หมื่นล้านริงกิต(2.73พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือประมาณ 9.6หมื่นล้านบาท ลดลง 6.4%  เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 1.28หมื่นล้านริงกิต หรือประมาณ  1.02 แสนล้านบาท 

อย่างไรก็ดี  อุตสาหกรรมประกันชีวิตมีเบี้ยประกันภัยรวมเพิ่มขึ้น 3.5% เป็น 4.41 หมื่นล้านริงกิตหรือประมาณ 3.52 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 4.27 หมื่นล้านริงกิต หรือประมาณ 3.42 แสนล้านบาท  

อุตสาหกรรมประกันชีวิตมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้น 12.7% คิดเป็นจำนวนเงิน1.34หมื่นล้านริงกิตหรือประมาณ 1.07 แสนล้านบาท  เทียบกับในปี2564 ที่ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวนเงิน  1.19 หมื่นล้านริงกิต หรือประมาณ 9.5หมื่นล้านบาท  สาเหตุหลักมาจากค่าสินไหมทดแทนที่สูงขึ้นในประกันภัยค่ารักษาพยาบาลและทุพพลภาพ ซึ่งเพิ่มขึ้น 33.7% และ 20.6% ตามลำดับ

Ms Loh Guat Lan ได้ก้าวลงจากตำแหน่งนายกสมาคมประกันชีวิตมาเลเซียเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมาหลังจากดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 3 ปี

สมาคมประสานสิบทิศหนุนตลาดโต

ปั้นโรดแม็ป5ปีล้อพิมพ์เขียวการเงิน

ในปี2566  เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมประกันชีวิตเติบโตมากยิ่งขึ้น สมาคมประกันชีวิตมาเลเซียจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารกลางมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia (BNM)หรือแบงก์ชาติ  รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญของอุตสาหกรรม และบริษัทสมาชิก 16 บริษัทเพื่อขอคำแนะนำและการสนับสนุนด้านต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินการตาม Financial Sector Blueprint (FSBP) ปี 2565-2569 หรือพิมพ์เขียวภาคการเงินและประกันภัยที่ธนาคารกลางประกาศเมื่อเดือนมกราคม2565  เป็นไปอย่างราบรื่น  

ทั้งนี้ ในปี 2565 ที่ผ่านมา สมาคมประกันชีวิตมาเลเซียได้กำหนดโรดแม็ปและแผนกลยุทธ์ระยะเวลา 5 ปีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ใน  FSBP   โดยไฮไลต์ใน FSBP  ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่อุตสาหกรรมประกันชีวิตจะต้องพัฒนาและปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคและรองรับเศรษฐกิจในวงกว้าง

Ms Loh ยังกล่าวอีกว่า “เพื่อสนับสนุนแนวทางบริการทางการเงินดิจิทัลที่มีชีวิตชีวา เราจะทบทวนกฎระเบียบและมาตรการต่างๆที่ได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้เพื่อให้กระบวนการทางธุรกิจเป็นดิจิทัลแบบครบวงจร (end-to-end ) เช่น การใช้ลายเซ็นดิจิทัลและการเสนอชื่อดิจิทัลเพื่อให้ผู้ถือกรมธรรม์ได้รับความสะดวกมากที่สุด ”  

ในปี 2566  สมาคมประกันชีวิตมาเลเซียได้เป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของ Financial Education Network (FEN) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มระหว่างหน่วยงานที่มีแบงก์ชาติและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของมาเลเซีย ( Securities Commission Malaysia ) เป็นประธานร่วมกัน  การเป็นสมาชิก FEN เปิดโอกาสให้สมาคมประกันชีวิตมาเลเซียได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ FEN และพันธมิตรและบริษัทในเครือในการดำเนินแคมเปญเกี่ยวกับการรับรู้ด้านประกันชีวิต  การเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจทางการเงิน ตลอดจนการส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงินในหมู่ประชาชน  โดยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า  สมาคมประกันชีวิตมาเลเซียจะทำงานร่วมกับ Financial Industry Collective Outreach (FINCO) เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางการเงินและประกันภัยในโรงเรียนทั่วประเทศมาเลเซีย

ในประเด็นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  คณะกรรมการที่สมาคมประกันชีวิตมาเลเซียได้จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลด้านนี้จะพิจารณาความคิดริเริ่มที่ครอบคลุม3 ประเด็นหลัก ได้แก่

1.การรวมความเสี่ยงด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ในกฎระเบียบและการกำกับดูแลที่รอบคอบ  

2.สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอย่างมีระเบียบไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และ

3.การรวมความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศเข้ากับการทำงานและการดำเนินงานภายในของบริษัทประกันชีวิต

Ms Loh ยังชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมประกันชีวิตจำเป็นต้องค้นหาผู้มีความรู้ ความสามารถ มีพรสวรรค์ที่พร้อมสำหรับอนาคตและต้องพัฒนาชุดทักษะที่หลากหลายสำหรับความสามารถที่หลากหลาย เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถพิสูจน์อนาคตของแรงงานให้ยังคงสามารถแข่งขันได้และมีความเกี่ยวข้องในตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

วินาศภัยมีทั้งสุขและทุกข์

เบี้ยโต10%แต่กำไรหด23%

ด้านสมาคมประกันวินาศภัยมาเลเซีย( General Insurance Association of Malaysia (PIAM) ได้ฉายภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัยว่า ในปี2565  มีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 1.94 หมื่นล้านริงกิต (4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือประมาณ 1.55 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปี 2564

แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยในช่วง2-3 ปีที่ผ่านมาสูงกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจหรือจีดีพี(GDP) ของมาเลเซีย  ซึ่งหลังจากมาเลเซียเปิดเศรษฐกิจเต็มรูปแบบอีกครั้งในปี 2565 หลังจากได้รับผลกระทบไป2 ปีเพราะโควิด แต่แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในรอบใหมนี้ก็ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงที่คาดการณ์ไว้จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกและปัจจัยอื่น ๆ ทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจประกันวินาศภัยจะมีเบี้ยประกันภัยเติบโต แต่กำไรจากการรับประกันภัยลดลง 23% อยู่ที่ 1.56 พันล้านริงกิตหรือประมาณ 1.25 หมื่นล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการขาดทุนในการประกันภัยรถยนต์  ประกันภัยสุขภาพและประกันภัยทางการแพทย์ 

สมาคมประกันวินาศภัยมาเลเซียเผยว่า พอร์ตโฟลิโอประกันภัยรถยนต์กลับมาขาดทุนอีกครั้งในปีที่ผ่านมาหลังจากมีกำไรในช่วง 2 ปีที่โควิดระบาด (ปี2563-2564) โดยมีรายงานจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มขึ้น 58% ณ เดือนกันยายน 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2564

ประกันรถ-อัคคีภัย…2ตลาดใหญ่

หมดโควิด Loss รถยนต์ทะลุ 65%

ในปี 2565 ประกันภัยรถยนต์มีเบี้ยประกันภัย 9 พันล้านริงกิต หรือประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาท เติบโต  9% แต่ก็มีผลขาดทุนจากการรับประกันภัย 3 ล้านริงกิต หรือประมาณ 24 ล้านบาท  โดยอัตราความเสียหาย(Loss Ratio) ขยับขึ้นไปที่ 65.3% ซึ่งเป็นระดับก่อนโควิดระบาด โดยประกันภัยรถยนต์ยังคงเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในในอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยทั้งระบบ มีส่วนแบ่งการตลาด 46%  

ขณะที่ประกันภัยอัคคีภัยมีเบี้ยประกันภัย 3.82 พันล้านริงกิต หรือประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท เติบโต 6% โดยมีกำไรจากการรับประกันภัยเพิ่มขึ้น 39.1% เนื่องจากเคลมลดลง

ช่องทางตัวแทน..ถดถอย

ออนไลน์สวนกระแส! เบี้ยพุ่ง53%

ด้านช่องทางขาย  สมาคมประกันวินาศภัยมาเลเซียเผยว่า  ตัวแทนยังคงเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายที่โดดเด่นในช่วงทศวรรษ ที่ผ่านมาโดยมีส่วนแบ่งมากกว่า 60% ของเบี้ยประกันภัยรับรวม (Gross Written Premium (GWP) แต่ในช่วง5ปีที่ผ่านมา ช่องทางตัวแทนมีการเติบโตของเบี้ยประกันภัยที่ช้าลง  ตรงข้ามกับช่องทางออนไลน์ ที่พบว่า  มีผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นที่กำลังซื้อประกันภัยผ่านระบบออนไลน์ โดยช่องทางจัดจำหน่ายผ่านทางอินเทอร์เน็ตมีการเติบโตอย่างรวดเร็วที่ +53.3% ต่อปีในช่วง10 ปีที่ผ่านมา

กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นสื่อกลางในการซื้อประกันเพิ่มขึ้นถึง 64 เท่าจากฐานเบี้ยประกันภัยผ่านออนไลน์ที่ต่ำมากเพียง 3.6 ล้านริงกิต หรือประมาณ 28 ล้านบาท ในปี 2556 เพิ่มเป็น 229 ล้านริงกิต หรือประมาณ 1.8 พันล้านบาท ในปี 2565

จ่ายเคลมรายวันกระฉูด

สมาคมประกันวินาศภัยมาเลเซียกล่าวถึงภาพรวมการจ่ายสินไหมทดแทนของอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยว่า ในปี2565 อุตสาหกรรมประกันวินาศภัยจ่ายสินไหมทดแทนรวมเกือบ 19 ล้านริงกิตต่อวันหรือประมาณ 150 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น23% เมื่อเทียบกับปี2564 กลับสู่แนวโน้มวิถีการจ่ายเคลมปกติก่อนเกิดโควิด  

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....