จับกระแส M&A”ควบรวมและซื้อกิจการ”ประกันภัยในตลาดโลกหลังโควิดสุดคึกคัก บริษัทกฎหมายระดับโลกชี้ปี’65 ยอดดีลพุ่งขึ้นต่อเนื่อง ทำสถิติสูงสุดในทศวรรษ หลังอั้นช่วงโควิด โฟกัสทำเลทอง “เอเชีย แปซิฟิค” ครองแชมป์ภูมิภาคที่มีดีล M&A ประกันเติบโตสูงสุด43% แซงอเมริกา ยุโรป “ญี่ปุ่น” เยอะสุด จับตา!แอคชั่นหน่วยงานกำกับ คลอดกฎใหม่ขับเคลื่อนการทรานฟอร์มสู่ดิจิทัล อีกด้านเป็นตัวเร่ง M&A “จีน”เนื้อหอมหลังรัฐบาลขยับปฎิรูประบบบำนาญเอกชน ดูดค่ายประกันข้ามชาติจ้องตาเป็นมันขอเอี่ยว ชี้ 2566 แนวโน้มM&Aไม่แน่นอน ปัจจัยกระทบเยอะ “ สงคราม-เงินเฟ้อ “จับตา!เมกะดีลฟื้น ค่ายใหญ่ชูเป็นกลยุทธ์ดันโต
กระแสการควบรวมและซื้อกิจการ (Merger & Acquisition:M&A) ของธุรกิจประกันภัยในตลาดโลกยังคงร้อนแรง จำนวนข้อตกลงหรือดีล ”deal” เพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของบริษัทประกันภัยจากทั่วโลกเนื่องจากเป็นทำเลทองของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าภูมิภาคอื่น ส่งผลดีต่อธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคที่ขยายตัวสูงอยู่แล้ว สดใสมากขึ้นอีก
“Clyde & Co “ บริษัทกฎหมายระดับโลกได้เปิดเผยรายงานฉบับล่าสุด หัวข้อ “ การเติบโตของธุรกิจประกันภัยในปี2566: Insurance Growth Report 2023” โดยชี้ว่า การควบรวมและซื้อกิจการในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกในปี 2565 เพิ่มขึ้นทั้งภูมิภาค โดยมีจำนวนข้อตกลงเพิ่มขึ้นทั้งในช่วงครึ่งปีแรกและครึ่งปีหลัง
รายงานดังกล่าวยังได้ตั้งข้อสังเกตุว่า การเติบโตของ M&A ด้านการประกันภัยในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค หากวัดในด้านของจำนวนข้อตกลงแล้ว มีสถิติเร็วที่สุดและเติบโตสูงสุดที่สุดใน 4 ภูมิภาคของโลก โดยเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 42.9% เทียบกับโซนอเมริกาที่เติบโตเพิ่มขึ้นเพียง 5.4% หรือยุโรปที่เติบโตเพิ่มขึ้นแค่ 1.6% อย่างไรก็ตาม เอเชีย แปซิฟิกยังมีจำนวนข้อตกลงน้อยกว่าภูมิภาคใหญ่อย่างอเมริกา ยุโรป
บริษัทกฎหมายดังกล่าวเผยอีกว่า ประเทศในเอเชีย แปซิฟิคที่มีการทำดีล M&A ประกันภัยมากที่สุดได้แก่ ญี่ปุ่น 22 ดีล ออสเตรเลีย 8 ดีลเท่ากับเกาหลีใต้
จับตา!แอคชั่นเรกูเลเตอร์ คลอดกฎใหม่หนุนควบรวม
ท่ามกลางปัจจัยต่างๆ ที่ผลักดันให้เกิดข้อตกลง M&A ในธุรกิจประกันภัยนั้น ปัจจัยด้านหน่วยงานกำกับดูแลที่ได้เดินหน้าออกกฎระเบียบใหม่ต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเติบโตควบคู่กับการพัฒนาธุรกิจประกันภัยให้เจริญเติบโตมากยิ่งขึ้นนั้น ได้เร่งให้เกิดการควบรวมและซื้อกิจการเพิ่มมากขึ้นในบางพื้นที่ ซึ่งในเอเชีย ยกตัวอย่างเกาหลีใต้ ทางคณะกรรมการกำกับดูแลภาคการเงิน(ครอบคลุมภาคประกันภัย) กำลังมีแผนที่จะปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆในภาคประกันภัยเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในธุรกิจประกันภัย ซึ่งแอคชั่นดังกล่าวอาจช่วยทำให้เกิดการจัดตั้งบริษัทประกันภัยดิจิทัลและบริษัทประกันภัยสตาร์ทอัพเพื่อสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลเท่านั้น
ในขณะเดียวกัน ก็มีการเปลี่ยนแปลงด้านความเชื่อมั่นเกิดขึ้นในจีน เมื่อดูเหมือนรัฐบาลจีนกระตือรือร้นที่จะขยายตลาดบำนาญภาคเอกชนให้กว้างขึ้น ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวชี้ว่า บริษัทประกันภัยต่างประเทศอาจเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาผลิตภัณฑ์บำนาญในจีนในอนาคต
“มีการผลักดันที่ชัดเจนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาคบำนาญเอกชนในจีนเพื่อสร้างการเติบโตให้กับระบบบำนาญของประเทศ โดยธนาคารพาณิชย์ บริษัทบริหารความมั่งคั่ง และบริษัทประกันภัยได้รับการสนับสนุนให้เข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาธุรกิจบำนาญในจีน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงขนาดของประชากรวัยทำงานแล้ว นี่อาจเป็นเรื่องใหญ่ และอาจหมายถึงโอกาสใหม่ๆ มากมายสำหรับบริษัทประกันภัยข้ามชาติและผู้ประกอบการบำนาญข้ามชาติ” Ms Joyce Chan หุ้นส่วนบริษัท Clyde & Co ในฮ่องกงให้ความเห็น
2565..M&A ประกันสูงสุดในทศวรรษ อั้นจากโควิด / ”อเมริกา” ครองแชมป์
บริษัทกฎหมายวิเคราะห์เพิ่มว่า กิจกรรม M&A ในตลาดประกันภัยทั่วโลกแตะระดับสูงสุดในรอบ10ปี โดยได้แรงหนุนจากจำนวนดีลที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงครึ่งปีแรก ส่วนหนึ่งเนื่องจากดีลที่ถูกเบรคไปในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับมาเดินหน้าต่อทันทีและปิดดีลได้อย่างต่อเนื่อง โดยทวีปอเมริกายังเป็นผู้นำ มีปริมาณดีลควบรวมและซื้อกิจการมากที่สุด
ในปี 2565 มี”ข้อตกลงขนาดใหญ่’ หรือ “mega-deals” ซึ่งเป็นดีลที่มูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในตลาด M&A ประกันภัยเกิดขึ้นทั้งหมด 19 ดีล น้อยกว่าปี 2564 ที่มี 25 ดีล โดยดีลที่มีมูลค่ามากที่สุดและใหญ่ที่สุดในปีที่ผ่านมาคือบริษัทเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ ( Berkshire Hathaway) กลุ่มบริษัทโฮลดิ้ง ข้ามชาติ สัญชาติอเมริกันของนายวอร์เรน บัฟเฟตต์ เข้าซื้อกิจการ Alleghany Corp ด้วยมูลค่า 1.16 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
2566 แนวโน้มไม่แน่นอน ปัจจัยกระทบอื้อ จับตา!เมกะดีลฟื้น/ค่ายใหญ่ชูกลยุทธ์ดันโต
Clyde & Co กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตของภาคธุรกิจประกันภัยในปี2566 นี้ดูเหมือนจะไม่แน่นอน ผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีต่อธุรกิจประกันภัยทั่วโลกยังคงรู้สึกได้อยู่ไม่ว่าจะเป็นความซับซ้อนที่มีมากขึ้นเนื่องจากสงครามและความเสี่ยงทางไซเบอร์ ไปจนถึงต้นทุนการทำธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงเกินจริง ซึ่งต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นทำให้แผนการขยายธุรกิจต้องชะงักไปและทำให้บางบริษัทต้องถอนตัวออกจากประเทศที่ธุรกิจไม่สามารถทำกำไรได้อีกต่อไป
ในขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ทำให้ความต้องการของนักลงทุนในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีประกันภัยหรืออินชัวร์ เทค( InsurTech )และเริ่มลดความกระตือรือร้นในการทำธุรกรรมควบรวมและซื้อกิจการหรือ M&A ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อธุรกิจของทั้งวาณิชธนกิจและสำนักงานกฎหมาย
ในขณะที่ ‘ข้อตกลงขนาดใหญ่’ หรือ “mega-deals” ในตลาด M&A ประกันภัยซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐได้พยายามดิ้นรนเพื่อออกจากจุดเริ่มต้นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาที่ต้องพักการเจรจาไปเพราะผลกระทบจากโควิด เริ่มมีความคาดหวังว่าในปี 2566 จะเห็นการกลับมาของธุรกรรม M&A ขนาดใหญ่เหล่านั้น โดยนักกฎหมายด้านการควบรวมและซื้อกิจการ คาดว่า ในปี 2566 จะมีความเร็วของดีลดังกล่าวถึงสองเท่า ขณะที่องค์กรขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) จะยังคงระมัดระวังในการทำธุรกรรมควบรวมและซื้อกิจการเพราะจะรอให้ความไม่แน่นอนของตลาดในปัจจุบันสงบลงก่อนจึงจะเคลื่อนไหว
ตรงกันข้าม ธุรกิจประกันภัยขนาดใหญ่ทั่วโลกดูเหมือนจะไม่ถูกสภาวะความไม่แน่นอนของตลาดขัดขวางกิจกรรมของพวกเขาโดยยังคงเดินหน้าการควบรวมและซื้อกิจการอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นกลยุทธ์ในการเติบโตในช่วงที่การเติบโตด้วยธุรกิจที่มีอยู่ในปัจจุบัน(Organic Growth)ถูกจำกัด โดยแสวงหาโอกาสในการควบรวมและซื้อกิจการอย่างจริงจัง ขณะที่กองทุนหุ้นเอกชนที่แม้จะหายไปจากตลาดประกันภัยเป็นส่วนใหญ่ในปีที่ผ่านมา แต่ยังคงมุ่งเป้าหมายไปที่ดีล M&A ที่มีขนาดใหญ่เพราะคาดการณ์ถึงโอกาสที่มีศักยภาพมากขึ้นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com