จากตารางการประเมินอัตราเติบโตธุรกิจประกันสุขภาพ ในปี 2568 เบื้องต้น ของสำนักงาน คปภ. เห็นแนวโน้นเป็น “ขาลง” นิดๆ ด้วยขนาดเบี้ยเหมือนจะหดลงจากปี 2567 แบบที่เรียกว่าโตติดลบอยู่ระหว่าง -2.26% ถึง -0.26% ประมาณเบี้ยทั้งหมดจะอยู่ราวๆ 131,203 ถึง 133,888 ล้านบาท

ขณะที่ตัวเลขประมาณการสิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ 133,002 ถึง 135,481 ล้านบาท ด้วยอัตราการเติบโตที่คาดไว้ว่าจะอยู่ที่ +7.32% ถึง +9.32%

ซึ่งทิศทางธุรกิจประกันสุขภาพในปี 2568 นี้จะโตสวนทางกับธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยอย่างเห็นได้ชัด เพราะทั้งสองธุรกิต่างจะเติบโตขึ้นกันแม้แทบจะไม่เติบโตเพิ่มแต่ก็เป็นประมาณการแบบ “โตบวก” !!

จากตัวเลขประมาณการล่วงหน้าของสำนักงาน คปภ. รอบนี้ทำให้ต้องหันกลับมาดูภาพรวมของธุรกิจประกันสุขภาพว่าเป็น “โอกาส” มากน้อยขนาดไหนกับอุตสาหกรรมประกันภัยไทยต่อจากนี้ไป

โดยคุณเอกรัตน์ ฐิติมั่น อดีต ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด (CMO) เอไอเอ ประเทศไทย และกำลังจะเข้าดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจประกันสุขภาพ (Chief Healthcare Officer, CHO) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ได้แสดงความเห็นว่า เป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมประกันสุขภาพไทย โดยเฉพาะการปรับตัวของผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นและความท้าทายในการบริหารจัดการพอร์ตประกันสุขภาพให้ยั่งยืน

ทั้งนี้ช่วงระหว่างปลายปี 2567 และต้นปี 2568 นี้เขามองว่า ประกันสุขภาพในประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายมากมาย ทั้งจากความกังวลของผู้บริโภค และกรอบกฎระเบียบใหม่ที่กำลังจะเริ่มใช้กันในปี 2568 ขณะเดียวจังหวะจากนี้ไปก็มีโอกาสเติบโตอย่างมากเช่นกัน  ซึ่งบริษัทประกันใดที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว  ก็จะสามารถประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตได้

นอกจากนี้คุณเอกรัตน์ยังกล่าวถึงเทรนด์การใช้บริการ เทเลเมดดิซีน (Telemedicine) ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นของผู้บริโภคหลังจากหลายบริษัทประกันภัยมีบริการนี้ออกมา เขาให้เหตุผลว่าสืบเนื่องมาจากอุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับการปรับขึ้นเบี้ยประกันอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่สูงขึ้น ขณะที่ประกันสุขภาพเด็กก็มีการนำระบบ โค-เพย์ (Co-payment) และ ดีดักทิเบิล (Deductible) มาใช้กันแล้ว ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้บริโภคเลือกที่จะไม่ต่อประกันหรือชะลอการซื้อประกันใหม่

ดังนั้นบริการ Telemedicine เป็นบริการทางการแพทย์โดยการนำเทคโนโลยีการสื่อสารแบบ Video Conference หรือที่ วีดีโอคอล มาใช้ในการพูดคุยปรึกษาปัญหาสุขภาพระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ซึ่งมีลัษณะการพูดคุย แทบจะไม่ต่างจากการพูดคุยกันในห้องตรวจของโรงพยาบาล เพียงแต่ตัวแพทย์กับผู้ป่วยจะอยู่คนละสถานที่กันเท่านั้น ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง จึงเป็นทางเลือกของผู้บริโภคในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอีกแนวทางหนึ่ง

โดยล่าสุด เอไอเอ ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป เพื่อขยายสิทธิพิเศษบริการพบแพทย์ออนไลน์ เทเลเมดดิซีน (Telemedicine) ผ่านแอปพลิเคชัน MORDEE (หมอดี) ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าประกันกลุ่ม ให้กับ SMEs ที่มีพนักงานไม่เกิน 50 คนได้ใช้บริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ และรอรับยาที่บ้าน เพิ่มจากการให้บริการลูกค้ารายเดี่ยวที่มีมากก่อนหน้านี้

“เป็นบริการใหม่กับกลุ่ม SMEs เป็น SME  ที่เราให้ความคุ้มครอง OPD  หลักพันบาท ซึ่งแต่ละบริษัทสามารถเลือกขนาดความคุ้มครองได้ และถือเป็นข้อดีที่ SMEs จะสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้เพราะการรักษาตัวของพนักงานเป็นกรณีผู้ป่วยนอกด้วยระบบ Telemedicine ทำได้ แล้วค่าใช้จ่ายก็จะน้อยกว่าเดิมกว่าที่พวกเขาไปโรงพยาบาล”

คุณเอกรัตน์ มองว่าสำหรับประกันสุขภาพทางเลือกใหม่นั้น ช่วงต้นปี 2568 อาจจะยังไม่ค่อยมีการนำเสนอในตลาดด้วยเพราะบริษัทเอกชนในอุตสาหกรรมยังไม่มีความพร้อม และเชื่อว่าอาจต้องใช้ระยะเวลาให้ความเข้าใจกับผู้บริโภคต่อการที่จะเลือกเข้าร่วมระบบ โค-เพย์ (Co-payment) และหรือ ดีดักทิเบิล (Deductible) ด้วยสถานการณ์ตลาดวันนี้ยังมีความสับสนโดยคาดว่าจะเห็นภาพได้บ้างภายในไตรมาสแรกของปี 2568

สำหรับสถานการณ์ประกันสุขภาพทางเลือกใหม่ ที่จะมีการนำระบบ โค-เพย์ (Co-payment) และหรือ ดีดักทิเบิล (Deductible) มาอยู่ในเงื่อนไขการรับประกันของประกันสุขภาพตามที่สำนักงาน คปภ. ได้มีแนวทางให้สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ต้นปี 2568 นั้น ล่าสุดกลางเดือนธันวาคม 2567 INNWhy ได้สอบถามเจ้าหน้าที่สำนักงาน คปภ.ยังไม่มีเอกชนรายใดยื่นขออนุมัติแบบประกันสุขภาพทางเลือกใหม่นี้เลย

ทั้งนี้ในการบรรยายพิเศษ หัวข้อเจาะประเด็น “การประกันสุขภาพมาตรฐานใหม่” (New Health Standard)โดย ผู้ทรงคุณวุฒิของ คปภ.เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพ รัชดา นั้นได้อธิบายถึง รูปแบบการมีส่วนร่วมจ่ายประกันสุขภาพว่าเหมาะสำหรับคนที่มีสุขภาพดี หรือมีสิทธิสวัสดิการประกันภัยสุขภาพกลุ่มของที่ทำงาน แต่ไม่เพียงพอและต้องการซื้อเพิ่มเติมจากเดิม

ซึ่งการมีส่วนร่วมจ่าย แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ Deductible หรือ Copayment

โดยค่าเสียหายส่วนแรก (Deductible) จะเป็นลักษณะ จำนวนเงินที่ผู้เอาประกันต้องจ่ายเองก่อนที่บริษัทประกันจะเริ่มจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามความคุ้มครองที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ โดย Deductible จะกำหนดเป็นจำนวนเงินคงที่ไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องจ่ายเงินส่วนนี้ในแต่ละปี หรือในแต่ละครั้ง ก่อนที่บริษัทประกันจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือ

ส่วนค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment) จะเป็นลักษณะ ค่าใช้จ่ายทีผู้เอาประกันภัยต้องจ่ายเองเมื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์ โดยปกติจะกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ของค่าบริการ ตัวอย่าง Copayment 10% ของค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด หากค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดคือ 10,000 บาท ผู้เอาประกันจะต้องจ่ายเอง 1,000 บาท ส่วนที่เหลือประกันจะครอบคลุม

ปัจจุบัน บริษัทสามารถกำหนด Copaymentได้ 2 รูปแบบ คือ (1) Copayment ตั้งแต่เริ่มทำประกันภัยสุขภาพ (2) Copayment ในเงื่อนไขการต่ออายุกรณีครบรอบปีกรมธรรรม์ประกันภัย (Renewal) จะใช้พิจารณาในช่วงที่มีการต่ออายุสัญญาเท่านั้น และบริษัทจะต้องแจ้งให้ผู้เอาประกันภัยทราบตั้งแต่เริ่มทำประกันภัย

อนึง! Copayment ในเงื่อนไขการต่ออายุกรณีครบรอบปีกรมธรรรม์ประกันภัย (Renewal) จะใช้พิจารณาในช่วงที่มีการต่ออายุสัญญา 3 กรณีคือ 1. ลูกค้าที่มีการเคลมเกินความจำเป็นทางการแพทย์ 2.มีการเคลมด้วยกลุ่มโรคป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple Diseases) ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป 3. มีอัตราการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของผู้เอาประกันภัยแต่ละรายในรอบปีกรมธรรม์ประกันภัย 200% ของเบี้ยประกันภัยในปีต่ออายุ สามารถติดตามข่าวเพิ่มเติมได้ที่ ลิงค์ข่าว INNwhy https://www.innwhy.com/oic081124/

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....