ศวปถ.ชี้ปมอุบัติเหตุ-เสียชีวิตเทศกาลปีใหม่ ความเร็ว,ดื่มแอลกอฮอล์

นพ.ธนะพงษ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า จากข้อมูลบาดเจ็บของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 7 ม.ค.61 พบว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากช่วง7วันเทศกาล เป็น 463 ราย โดยผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่ดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย 7,423ราย ในจำนวนนี้ร้อยละ17.9เป็นเยาวชน อายุน้อยกว่า 20 ปี จำนวน 1,329 ราย หรือเฉลี่ย189.86 ราย/วัน โดยสัดส่วนผู้บาดเจ็บที่ดื่มร่วมด้วยเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ใช้อุปกรณ์นิรภัยลดลง โดยเฉพาะผู้ขี่จักรยานยนต์ มีการสวมหมวกนิรภัยลดลง เหลือเพียงร้อยละ 15 นอกจากนี้การใช้เข็มขัดนิรภัยของผู้บาดเจ็บก็พบเฉลี่ยเพียงร้อยละ 27.16

อย่างไรก็ตามแม้มีการบังคับใช้กฎหมายเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่สมดุลกับความเสี่ยงบนถนน โดยเทศกาลปีใหม่พบว่าการดำเนินคดีในสิบข้อหาเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 โดยเฉพาะข้อหาหลักขับเร็ว ดำเนินคดี 55,908 ราย เพิ่มขึ้นจาก 37,019ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.03 และข้อหาเมาขับ ดำเนินคดี 20,125 ราย เพิ่มจาก 13,491 ราย เพิ่มร้อยละ 49.17 นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกที่มีมาตรการตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกราย ในกรณีที่มีเสียชีวิต/หรือบาดเจ็บสาหัส เมื่อมารักษาที่โรงพยาบาลทุกราย โดยเบื้องต้นมีการรายงานว่า ตรวจวัดไปกว่า 1000 ราย และทราบผลเบื้องต้น 200 ราย พบมีแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกฎหมายกำหนด ร้อยละ 50 ซึ่งผลตรวจจะถูกนำไปฟ้องดำเนินคดีต่อไป

“เมื่อเทียบกับความเสี่ยงบนท้องถนนที่มีอยู่จำนวนมาก จะพบว่าการดำเนินคดียังทำได้จำกัด ดังจะเห็นได้จากคดีเมาแล้วขับ20,125 ราย คิดเฉลี่ยได้ 37.3ราย/จังหวัด/วัน ซึ่งเมื่อเทียบกับการมีคนดื่มขับจำนวนมากบนถนน ถือได้ว่าการตรวจจับยังทำได้จำกัดไม่สมดุลกับความเสี่ยงบนถนนรวมทั้งเมื่อศาลตัดสินผู้กระทำความผิด เมาขับ ก็พบว่ามีการส่งคุมประพฤติ เพียงหนึ่งในสามที่เหลือ 2/3 ยังคงเพียงโทษปรับ –โทษจำ รอลงอาญา” นพ.ธนะพงษ์ กล่าว

นพ.ธนะพงษ์ กล่าวต่อว่า มีการพยายามมองเรื่องเมาแล้วขับไม่สำคัญซึ่งเป็นการหลงทาง เพราะแท้จริงคือ การบังคับใช้น้อยไป แต่ควรเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายให้มากขึ้น ซึ่งการดื่มยังเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุ และจะพบว่าความเสี่ยงบนถนนในช่วงเทศกาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและกรณีปัญหาดื่ม เมาขับ ต้องกำหนดให้อุบัติเหตุทุกรายที่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัส ต้องตรวจวัดแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ทั้งสองฝ่าย ส่วนในกรณีที่คนขับหนีจากที่เกิดเหตุ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจวัดแอลกอฮอล์ พิจารณาให้มีบทลงโทษที่รุนแรง

รวมทั้งการกำหนดให้มีคดีอุบัติเหตุจราจรถือเป็นคดีที่ต้องรายงานและนำเสนอในการประชุมความมั่นคงทุกระดับ ทั้งอำเภอ จังหวัด ส่วนกลาง เพื่อให้ ศปถ.วางแผนป้องกันแก้ไข หรือมีมาตรการที่เหมาะสมต่อไป

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....