ตามรอยบุญ 4 สังเวชนียสถาน ณ ดินแดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดีย
ทริปเส้นทางสายธรรม 4 สังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย-เนปาล รวม 9 คืน 10วัน ครั้งนี้เรียกว่าทดสอบจิตศรัทธาผู้แสวงบุญให้สอบผ่านได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ภายใต้“โครงการอุปสมบทพระภิกษุ ณ ดินแดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดีย ถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” โอกาสเจริญพระชันษา 91 ปี จัดโดยมูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม โดยการนำของ “ศาสตราจารย์กิตติคุณดร.บวรศักดิ์ อุวรรโณ” ประธานมูลนิธิฯ ระหว่างวันที่30 พฤศจิกายน ถึง 9 ธันวาคม 2560
จิตศรัทธาของผู้แสวงบุญอันมาจากความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ในเส้นทางสายธรรม 4 สังเวชนียสถาน ได้พบเหตุแห่ง “ความสุข” จากการเป็น “ผู้ให้” “ผู้แบ่งปัน” ต่อ “ผู้อื่น” และ “ระหว่างกัน” อย่างมากมายทั้งของพระภิกษุบวชใหม่ 99 รูป และฆราวาส ตลอดทริปของการเดินทางตามรอยบุญทำเอาผู้ร่วมเดินทางรู้สึกอิ่มเอมใจไปด้วย
เส้นทางสายธรรม 4 สังเวชนียสถาน สถานที่ที่องค์พระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน นี้เดินทางไม่ยากนัก นักท่องเที่ยวหรือพุทธศาสนิกชนสามารถเดินทางได้ด้วยสายการบินไทยสมายล์ที่เปิดเส้นทางบินรับผู้เดินทางให้เดินทางได้สะดวกสบายมากขึ้น จะเลือกเดินทางในเส้นทาง“กรุงเทพฯ-พุทธคยา-กรุงเทพฯ” หรือ “กรุงเทพฯ-ลัคเนาว์-กรุงเทพฯ” ก็ได้ เพราะทั้ง 2 เส้นทางสามารถเดินทางตามรอยบุญได้ครบทั้ง 4 สังเวชนียสถานภายในทริปเดียวกันได้
ทริปตามรอยบุญครั้งนี้ได้เลือกเดินทางจาก กรุงเทพฯไปลงที่สนามบินนานาชาติคยา(GAYA) (เส้นทางกรุงเทพฯ-พุทธคยา) แล้วขากลับไปขึ้นเครื่องที่สนามบินนานาชาติ CHAUDHARYCHARANSINGH INTERNATIONAL AIRPORT @เมืองลัคเนาว์ เพื่อกลับกรุงเทพฯ
Day 1 (30 พ.ย.60) คณะออกเดินทางเวลา 09.40 น. นัดพบพร้อมเพรียงกัน @สนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนเครื่องออก 2 ชั่วโมงใช้เวลาเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิถึงสนามบินนานาชาติ คยา (GAYA) (เส้นทางกรุงเทพฯ-พุทธคยา) โดยสายการบินไทยสมายล์ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมงเศษก็ถึงแล้ว หลังผ่านด่านตม.อินเดียเสร็จ จากนั้นเดินทางด้วยรถโค้ชเข้าสู่ตัวพุทธคยา เมืองคยา ใช้เวลาประมาณชั่วโมงกว่าๆ ไปรับประทานอาหารกลางวันกัน @วัดเมตตาพุทธาราม มื้อแรกประเดิมด้วยอาหารไทยจากฝีมือแม่ครัวคนไทยที่นี่
พุทธศาสนิกชนแต่ละท่านที่มากราบ ประตูแท่นวัชระอาสน์ ได้เดินเวียนประทักษิณาวัตรหรือเดินเวียนขวา3 รอบ พร้อมสวดมนต์ เพื่อแสดงออกถึงการเคารพบูชาแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อครบ 3 รอบแล้วจะก้มกราบที่ประตูแท่นวัชระอาสน์ โดยแนบหน้าผากประชิดบนประตูแท่นประหนึ่งได้เข้าเฝ้าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ารวมถึงคณะผู้เตรียมบวชนาคและฆราวาสที่มาเช็คอิน ณ จุดนี้ ต่างได้ปฏิบัติเช่นเดียวกับพุทธศาสนิกชนท่านอื่นๆ ที่หลั่งไหลมา
จากนั้นเริ่มเข้าสู่พิธีบวชนาค เริ่มจากเดินแห่นาคบริเวณ พระมหาเจดีย์พุทธคยา กระทั่งเสร็จพิธีช่วงค่ำๆ ญาติโยมก็นำนาคเดินทางกลับ วัดไทยพุทธคยาอินเดีย ส่วนฆราวาสเดินทางกลับเข้าที่พักและรับประทานอาหารมื้อเย็น @โรงแรม TheOak ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 นาทีถึงโรงแรม
ข้อแนะนำก่อนเดินเข้าบริเวณพระมหาเจดีย์พุทธคยา
1.ทุกคนต้องซื้อบัตรเข้า และห้ามนำกล้องถ่ายรูป โทรศัพท์มือถือและโน้ตบุคเข้าไปหากต้องการนำเข้าจะต้องเสียค่านำเข้าขั้นต่ำ 100 รูปี เว้นโน้ตบุคจะมีบริการล็อกเกอร์เก็บของให้ซึ่งเราอาจมีค่าทิปให้ผู้ดูแลตามแต่สะดวกใจ
2.ให้นำรองเท้าแตะใส่เดินไปยังสถานที่พระมหาเจดีย์พุทธคยา เนื่องจากพุทธศาสนิกชนเยอะมากเวลาถอดรองเท้าอาจถูกนำไปกองรวมกันแล้วหาไม่เจอจะได้มีรองเท้าใส่สำหรับวันต่อๆไปหรือจะซื้อรองเท้าที่วางขายปากประตูเข้าก็ได้
Day 2 (1 ธ.ค. 60) หลังรับประทานอาหารเช้าอิ่มท้องกันแล้วฆราวาสเดินทางไปร่วมพิธีบวชพระภิกษุและสามเณร @วัดไทยพุทธคยาอินเดีย ตลอดทั้งวันเนื่องจากมีผู้เตรียมบวชพระภิกษุเป็นจำนวนมากถึง 99 คน โดยระหว่างวันของการประกอบพิธี …มีทำกิจกรรมเล็กๆร่วมกันของฆราวาสแต่ให้ความปีติที่สุดเลย คือ การได้ไปห่มผ้าจีวร องค์พระประธานพระพุทธเมตตา@มหาเจดีย์พุทธคยา พวกเรานั่งรถไม่ถึง 10 นาทีก็ถึงแล้วเพราะวัดอยู่ไม่ไกลกันมากประมาณ 2 กิโลเมตร
หลังทำพิธีบวชเสร็จแล้ว พระภิกษุบวชใหม่พร้อมฆราวาสได้พร้อมกันเดินทางไป@มหาเจดีย์พุทธคยา เพื่อร่วมกันทำวัตรเย็นพร้อมเดินเวียนประทักษิณาวัตรบริเวณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เสร็จสิ้นพิธีพระภิกษุบวชใหม่เดินทางกลับ @วัดไทยพุทธคยา-อินเดีย ส่วนฆราวาสเดินทางกลับเข้าที่พักและรับประทานอาหารมื้อเย็น @โรงแรม The Oak
Day 3 (2 ธ.ค. 60) ฆราวาสตื่นแต่เช้าร่วมใส่บาตรเช้าพระภิกษุบวชใหม่ 99 รูป @วัดไทยพุทธคยา-อินเดีย ระหว่างตักบาตรได้ยินพระภิกษุบวชใหม่ ให้พรญาติโยมว่า “เอวัง โหตุ” มีความหมายว่า ขอให้สำเร็จดังคำอธิษฐานหรือคำปรารถนา เลยต้องรีบอนุโมทนาบุญในทันที เพราะโอกาสร่วมทำบุญที่ยิ่งใหญ่แบบนี้ไม่ได้เกิดง่ายๆนัก
จากนั้นเริ่มออกเดินทางจารึกสังเวชนียสถานไปยัง@เมืองราชคฤห์ อดีตเมืองหลวงแคว้นมคธ เมืองที่พระเจ้าพิมพิสารเป็นโยมอุปฐากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งพระสงฆ์และฆราวาสมาที่แห่งนี้เพื่อเดินขึ้นเขาคิชกูฏชมสถานที่ประทับพรรษาแรกของพระพุทธเจ้า
ทางเดินขึ้นเริ่มตั้งแต่ต้นทางมีร้านขายของที่ระลึกมากมาย และมีทั้ง ขายผลไม้ ส้ม แอปเปิ้ล กล้วยหอมสุก และมีขอทานนั่งเป็นแถวยาวเหยียดได้ยินเสียงเรียกมหาราณี มหาราชา เกือบตลอดทางเดิน ส่วนผู้ที่เดินเท้าไม่ไหวทางผู้ดูแลสถานที่มีจัดเสลี่ยงหามขึ้นลงให้บริการอย่างดีทั้งขึ้นและลง
ระหว่างทางเดินขึ้น @ยอดเขาคิชกูฏ ได้แวะชมจุดสำคัญๆที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ หลายจุด อาทิ ถ้ำพระโมคคลานะ ซึ่งบริเวณหน้าถ้ำจะมองเห็นจุดกลิ้งหินของพระเทวทัต ที่เชื่อว่า พระเทวทัตพยายามกลิ้งหินจากข้างบนลงมาหวังปลงพระชนม์องค์พระศาสดา สุดท้ายทำอันตรายได้เพียงห้อพระโลหิต นอกจากนี้ยังมีถ้ำพระสารีบุตร พระผู้เป็นเลิศด้านปัญญา มีพุทธศาสนิกชนแวะกราบไหว้สักการะตลอดเวลา
จากนั้นเดินทางต่อไปยังวัดแห่งแรกของพระพุทธศาสนาคือ วัดเวฬุวันมหาวิหาร หรือ วัดป่าไผ่ สถานที่ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ต่อหน้าพระสงฆ์ที่พระองค์ทรงบวชให้ทั้งหมดและที่แห่งนี้เป็นสถานที่กำเนิดวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาคือ วันมาฆะบูชา ซึ่งพระภิกษุและฆราวาสต่างได้ร่วมกันสวดมนต์บริเวณนี้กันด้วยเช่นกันเพื่อแสดงออกถึงการเคารพบูชาแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระภิกษุและฆราวาสได้เดินทางไปยัง เมืองนาลันทา เพื่อชม มหาวิทยาลัยนาลันทา สถานที่กำเนิดพระสารีบุตร พระผู้เป็นเลิศด้านปัญญา
เสร็จแล้วเดินทางไปสักการะหลวงพ่อดำแห่งนาลันทากันต่อว่ากันว่า กราบไหว้สักการะหลวงพ่อดำส่วนหนึ่งเป็นสัญญลักษณ์สื่อถึงการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง จากนั้นเดินทางกลับเมืองพุทธคยากลับเข้าที่พัก@โรงแรม The Oak
Day 4 (3 ธ.ค.60) ยังคงมีกิจวัตรเช้าใส่บาตรเช้าพระภิกษุบวชใหม่ @วัดไทยพุทธคยา-อินเดีย อากาศเช้านี้เริ่มหนาวเย็นกว่าวันก่อน อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 10-15 องศา ภายในวัดมีอาหารว่างช่วยให้อุ่นได้ คือ ชา “กาลัม-จาย” กับ”จาปาตี”ยืนจิบชากลางสนามหญ้าหน้าวัดได้บรรยากาศยามเช้าที่อบอุ่นไปอีกแบบนึง
อิ่มท้องมื้อเช้า ช่วงสายๆของวันทางคณะเดินทางต่อไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสีสถานที่ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยแสดงพระปฐมเทศนา ธัมมจักรกัปวัตตนสูตร แก่ปัญจวคีย์ทั้ง 5 และบรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมกันเป็นครั้งแรกของโลก และเป็นสถานที่เกิดพระรัตนตรัยครบทั้ง3 องค์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
จากนั้นเข้ามนัสการธัมเมกขสถูปสถูปอุทิศแด่พระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้เห็นธรรมท่านแรก สถูปนี้มีรูปทรงบาตรคว่ำเป็นสถาปัตยกรรมแบบเมาริยะ ซึ่งพระภิกษุและฆราวาสได้ร่วมกันสวดมนต์บริเวณนี้กันด้วยเช่นกัน จากนั้นเดินทางไปยังที่พัก โรงแรม Madin และ CityINN
Day 5 (4 ธ.ค. 60) พระภิกษุเตรียมเส้นผมที่ปลงในวันแรก+เล็บ เพื่อประกอบพิธีกรรมลอยในแม่น้ำคงคาของช่วงเช้ามืดวันนี้ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงแรมที่พักมากนัก ส่วนฆราวาสได้นำเส้นผมและเล็บของตัวเองใส่ในกระทงใบตองเช่นกันโดยมีดอกดาวเรือง เทียนวางอยู่ด้านบน
มีผู้ใหญ่ท่านแนะนำสำหรับคนที่ไม่ได้เตรียมใบบัวมาและไม่ได้บวชแต่อยากลอยเคราะห์ลอยโศกให้ซื้อกระทงบริเวณริมแม่น้ำคงคา แล้วดึงเส้นผมตรงขวัญผมของตัวเองประมาณ 7-8 เส้น ใส่ลงไปในใต้กระทงจะได้ไม่ปลิวแล้วอฐิษฐานปล่อยทุกข์ โศก โรค ภัย ที่ไม่ดีในปีก่อนๆให้ลอยออกไปจากตัวหรือใครสะดวกใจเลือกจะปล่อยนกหรืิอทำทั้ง 2 อย่างก็ได้
แม่น้ำคงคา สายน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ที่หล่อเลี้ยงชาวอินเดียมาแต่โบราณกาล…ปัจจุบัน มีท่าเรืออยู่ทั้งหมด 85 ท่า ทางคณะขึ้นที่ ท่าเรือราชหาสน์ ท่าเรือนี้มีผู้คนขายของเกี่ยวกับพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์เช่น กระทงดอกไม้สำหรับลอยเคราะห์ก็สะดวกสบายไปอีกแบบสำหรับผู้ไม่ได้เตรียมมาเอง
ทุกคนขึ้นเรือแล้วล่องไปตามแม่น้ำคงคา ชมวิถีชีวิตของชาวอินเดียผ่านท่าเรือทั้ง 3 ฝั่ง คือ ฝั่งบุญ ฝั่งสวรรค์และฝั่งนรก ที่เรียกว่า”ฝั่งนรก” เพราะเป็นท่าที่ส่วนใหญ่ศพจะลอยน้ำมาติดไม่ค่อยมีผู้คน จะมีแต่ชาวประมงที่ออกเรือหาปลา
พระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าทาง ฝั่งนรก …เสียดายที่ไม่ได้เห็น พิฑีอารตี คือ พิธีบูชาไฟ หรือพิธีบูชาสุริยเทพหรือพิธีบูชาพระอาทิตย์ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ชาวฮินดู (ชาวอินเดียจะเรียกตัวเองว่าชาวฮินดู) เชื่อว่าจะช่วยขจัดปัดเป่าความชั่วร้ายที่อยู่ภายในจิตใจออกไปได้
หลังจากเสร็จพิธีกรรมก็เดินทางต่อไปยังวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ @เมืองกุสินารา ระยะทางเท่ากับ พุทธคยามาพาราณสีคือ ประมาณ 250กิโลเมตรใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมงครึ่ง ระหว่างเดินทางได้ทำให้เห็นบรรยากาศและวิถีชีวิตผู้คนชาวอินเดียทำกิจกรรมต่างๆมากมาย 2 ข้างทาง
ช่วงนี้เข้าสู่หน้าหนาวจะเห็นพิธีแต่งงานมากมายหลายบ้านแต่ละบ้านมีจัดแต่งประดับดอกไม้สวยงาม นอกจากนี้จะเห็นการค้าขายภายในตัวอาคาร การขายของสดเช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และอาหาร รวมถึงการเลี้ยงวัวไว้หน้าบ้านของผู้ทำอาชีพเกษตรกรรม
ตามความเชื่อของชาวฮินดูหรือชาวอินเดียแล้ว วัว เสมือนตัวแทนแห่งเทพเจ้า การมีวัวอยู่หน้าบ้านเปรียบได้ดังมีวัดอยู่หน้าบ้าน ดังนั้นการใช้ชีวิตของวัวกับผู้คนจึงอยู่ร่วมกันได้ บางบ้านมีทำห้องสำหรับให้วัวเดินเข้ามาอยู่ได้ทุกเมื่อที่ต้องการกันเลยทีเดียว
ส่วนระยะทางที่ใช้เวลาเดินทางนาน ผู้ปวดท้องเบา หนักนั้น ระหว่างทางไม่มีห้องน้ำ ทางรถโค้ชจะเตรียมพร้อมกระโจมบริการเคลื่อนที่ให้ผู้โดยสารเข้าไปทำธุระส่วนตัวข้างทางได้ ซึ่งวัฒนธรรมของชาวอินเดีย มองว่าการทำกิจนี้เป็นเรื่องของธรรมชาติ
คณะเดินทางถึง วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ช่วงเย็นๆ และ มื้อเย็นอาหารไทย@วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ จากนั้นฆราวาสแวะพักผ่อนที่โรงแรม Clark In Grand อยู่เมืองโคราฆปุระ(Gorakhpur) ใกล้กับวัดประมาณ 100 เมตรเดินถึงกันได้เลย
Day 6 (5 ธ.ค.60) ช่วงเช้าประมาณ 8 โมงพระภิกษุ ได้ออกเดินบิณฑบาตชาวบ้าน@หมู่บ้านอนิรุทธวา เมืองกุสินารา เห็นภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชนบทที่ใจจดใจจ่อรอใส่บาตรพระบวชใหม่ เห็นแล้วรู้สึกอะเมซซิ่งและอันซีนมากเพราะไม่เคยเห็นภาพแห่งความสวยงามขนาดนี้มาก่อน สวยงามในเนื้อนาบุญ สวยงามในความตั้งใจเดินบาตรของพระภิกษุบวชใหม่ที่เดินไปตามท้องทุ่งเป็นอีกมุมที่มีเสน่ห์และสวยงามมาก ภาพโดย Namaste Dhamma
ช่วงบ่ายคณะเดินทางไปมนัสการพระพุทธรูปปางปรินิพพานสถานที่ดับขันธ์พระพุทธเจ้า @วิหารปรินิพพาน อยู่ห่างจากวัดไทยกุสินาราฯ ประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชพระราชทานพระราชทรัพย์ 1 แสนรูปีสร้างคร่อมพระแท่นปรินิพพาน มีลักษณะทรงบาตรคว่ำ และมียอดฉัตร 3ชั้นพร้อมเสาอโศกอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
มีพุทธศาสนิกชนเข้าไปกราบสักการะพระพุทธรูปปางปรินิพพานภายในวิหารแน่นขนัด เป็นพระพุทธรูป ศิลปะในสมัยคุปตะ(พุทธศักราช 823-1093) โดยช่างฝีมือชาวมธุราที่มีขนาดความยาวประมาณ 7 เมตร สูงประมาณ 1 เมตรประดิษฐานอยู่บนพระแท่นจุณศิลาที่ทำจากทรายแดงของเมืองจุนนะ
วิหารแห่งนี้ถูกขุดครั้งแรกเมื่อปีพุทธศักราช 2397 โดยนายพลเซอร์อเล็กซานเดอร์คันนิ่งแฮมและถูกขุดเรื่อยมาจนกระทั่งปีพุทธศักราช 2450ได้ค้นพบโบราณวัตถุมากมายรวมทั้งพระพุทธรูปปางปรินิพพานที่ประดิษฐาน ณ สถานที่แห่งนี้
จากนั้นกราบนมัสการสาลวโนทยาน @มกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ทำพิธีถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระอยู่ห่างจากที่พระพุทธองค์เสด็จปรินิพานประมาณ 1 กิโลเมตร
ตกช่วงค่ำ พระภิกษุพร้อมฆราวาสร่วมกันบำเพ็ญกุศลในวันคล้ายวันพระราชสมภพในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยพร้อมเพรียงกัน
Day 7 ( 6 ธ.ค.60) คณะเตรียมตัวออกเดินทางช่วงสายๆของวันไป @สวนลุมพินีวัน เมืองไภรวาประเทศเนปาล ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมงกว่าทุกคนเตรียมพร้อมพาสปอร์ตเพื่อผ่านแดนเข้าประเทศเนปาล ต้องบอกว่าที่นี่โรตีอร่อยขึ้นชื่อเลยทีเดียว มีชื่อร้านว่า“อารีดอย” เนื้อแป้งนุ่ม ทอดได้กำลังดี กรอบนอกนุ่มในกินแล้วรับรู้ได้ถึงเนื้อแป้งยิ่งกินพร้อมนมข้นหวานอร่อยสมชื่อจริงๆใครมาแล้วขอแนะนำว่า ห้ามพลาด
ทางคณะถึง @วัดไทยลุมพินี ช่วงเย็นถวายน้ำปานะพระภิกษุ จากนั้นเดินทางไปยัง สวนลุมพินี สถานที่ก่อนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประสูติ เป็นสังเวชนียสถานเดียวที่ไม่อยู่ในประเทศอินเดีย สถานที่นี้มี วิหารมายาเทวี มีรูปปั้นพระมารดาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและ รอยเท้าของเจ้าชายสิทธัตถะ
มีสระโบกขรณี และเสาอโศก ซึ่งตามจารึกอักษรพราหมณ์ระบุว่า เป็นสถานที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ ทางพระภิกษุและฆราวาสได้ร่วมกันศึกษาพระพุทธประวัติพร้อมกับสวดมนต์บริเวณนี้กันด้วยเช่นกัน
Day 8 (7 ธ.ค.60) เช้าฆราวาสใส่บาตรพระภิกษุภายในบริเวณวัดไทยลุมพินี จากนั้นออกเดินทางไป @วัดจีน ตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดไทยลุมพินี ก่อนเดินทางไปจารึกธรรม@เมืองกบิลพัสดุ์เมืองที่พระเจ้าสุทโธทนะพระบิดาของพระพุทธเจ้าได้เคยครองเมือง
Day 9 (8 ธ.ค.60) วันนี้เป็นวันประกอบพิธีลาสิกขาบท @สวนลุมพินี บริเวณด้านหน้าเสาอโศกซึ่งตามจารึกอักษรพราหมณ์ที่ ระบุว่าเป็นสถานที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ
Day 10 ( 9 ธ.ค.60 ) คณะเดินทางไปน้อมสักการะสถานที่ที่พระพุทธเจ้าจำพรรษานานที่สุดถึง 19 พรรษา @วัดเชตวันมหาวิหาร หรือ สาเหต (SAHET) เป็นวัดอารามหลวงวัดที่นี่มีต้นโพธิ์อายุยืนที่สุดในโลก 2,500 กว่าปี ชื่อว่า ต้นอานันทโพธิ์ เป็นต้นที่พระอานนท์นำเมล็ดพันธุ์มาจาก สถานที่ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์เมืองพุทธคยามาปลูกในที่แห่งนี้ รวมถึงไปน้อมสักการะสถานที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์สถูป
วัดเชตวันมหาวิหาร จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้ซื้อพื้นที่สวนของเจ้าเชตมาสร้างวัดเชตวันมหาวิหารเศรษฐีท่านนี้มีจิตใจงดงาม ชอบช่วยเหลือผู้อื่นที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก ผู้คนที่แวะมาเยี่ยมสถานที่แห่งนี้จะนิยมถือเคล็ดให้เงินเต็มกระเป๋าด้วยการเปิดกระเป๋าสตางค์พร้อมอธิษฐานขอพรจากเศรษฐีผู้ใจบุญให้เงินไหลมาเทมาเต็มกระเป๋าไม่ขาดสายซึ่งก็เป็นความเชื่อและศรัทธาส่วนบุคคล
คณะเดินทางมายังเมืองลัคเนาว์เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย โดยแวะฝากท้องมื้อเย็น @โรงแรม RENAISSANCEHOTEL ก่อนไปขึ้นเครื่อง @สนามบินนานาชาติ CHAUDHARYCHARAN SINGH INTERNATIONALAIRPORT
ทุกคนถึงกรุงเทพฯเวลา 03.00น.ของวันที่ 10 ธันวาคม 2560 โดยสวัสดิภาพเป็นอันจบทริปตามรอยบุญ @4 สังเวชนียสถาน ณ ดินแดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดีย-เนปาล 9 คืน 10 วัน และต้องขอขอบคุณ มูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคมและคณะทำงานโครงการอุปสมบทพระภิกษุ ณ ดินแดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดีย ทุกท่านที่ให้การดูแลอย่างดีตลอดทริปของการเดินทางค่ะ.
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com