สัตว์เลี้ยงบำบัดโรค “เครียด..เหงา..เศร้า”
เคยไหม? เวลาเครียดๆ เหงาๆ เศร้าๆ ในบางครั้งเราแค่ต้องการเพื่อนมาคอยรับฟังปัญหาและเข้าใจเราเท่านั้นเอง ซึ่งคนที่จะมีคุณสมบัติดังที่กล่าวมานั้นนอกจากเพื่อนสนิท คนรู้ใจแล้ว ก็ยังสามารถหาได้จากสัตว์เลี้ยงแสนรักที่อยู่ใกล้ชิดเรา เช่น สุนัข แมว นก ปลา ฯลฯ ได้เช่นกัน
ด้วยความรักของสัตว์เลี้ยงที่มีต่อเจ้าของ ประกอบกับความขี้อ้อนและขี้เล่นของเค้า สามารถช่วยเยียวยาจิตใจให้กับผู้ที่กำลังเหงา และเครียด ไปจนถึงผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี เพราะสัตว์เลี้ยงจะช่วยลดความเครียดและเปลี่ยนจากอารมณ์ซึมเศร้าที่เป็นอยู่ให้กลับมายิ้มได้ และสามารถลุกขึ้นมาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับสัตว์เลี้ยงอีกด้วย
ทั้งนี้คนเป็นโรคซึมเศร้า มักจะมีความรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า หมดความหมาย แต่หากเขาได้ดูแลสัตว์เลี้ยงสักตัว ก็จะทำให้เขารู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองมากยิ่งขึ้น รู้สึกว่าตัวเองมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ สัตว์เลี้ยงจะช่วยเตือนว่าเขาไม่ได้ไร้ค่าหรือไร้ความสามารถ แต่จะช่วยสร้างความรัก ความผูกพัน ทำให้ผู้เลี้ยงรู้สึกมีคุณค่า ไม่โดดเดี่ยว และทำให้เขาอยากจะมีชีวิตอยู่ เพื่อที่จะดูแลสัตว์เลี้ยงของเขาต่อไป
เมื่อเป็นเช่นนี้ อย่างน้อยผู้ป่วยก็ไม่เอาแต่จมอยู่กับตัวเอง (เพราะการจมอยู่กับตัวเองคือแรงกระตุ้นด้านลบของคนที่เป็นโรคซึมเศร้า) แต่จะลุกขึ้นมาทำกิจกรรมกับสัตว์เลี้ยง พาสัตว์เลี้ยงไปเดินเล่น วิ่งออกกำลังกายไปด้วยกัน หาข้าวหาอาหารให้สัตว์เลี้ยง รวมถึงช่วยดูแลรักษาความสะอาด อาบน้ำแปรงขนให้กับสัตว์เลี้ยงด้วย สัตว์เลี้ยงจึงเหมือนเพื่อนที่เขาสามารถระบายความรู้สึกต่างๆ ด้วยได้ มีอะไรก็เล่าก็พูดให้สัตว์เลี้ยงฟังได้ ดังนั้นถ้าหากเราลองสังเกตดูดีๆ บ้านไหนที่มีสัตว์เลี้ยง คนในบ้านจะดูอารมณ์ดีและแจ่มใสมากเป็นพิเศษ
ขณะที่ในต่างประเทศนิยมเลี้ยงสุนัขและแมวเพื่อบำบัดความเครียดและโรคซึมเศร้ากันเป็นจำนวนมาก เรียกว่า Pets Therapy หรือสัตว์เลี้ยงบำบัด ซึ่งมีผลการศึกษาวิจัยมานานแล้วว่า การเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว นก หรือปลา นั้น สามารถช่วยเยียวยาผู้ป่วยได้จริง ทั้งยังมีคำแนะนำให้ผู้สูงอายุเลี้ยงสัตว์เพื่อบรรเทาความเหงาและป้องกันโรคซึมเศร้าอีกด้วย
นอกจากนี้ยังเคยมีงานวิจัยออกมาเปรียบเทียบอัตราการอยากฆ่าตัวตายของคนที่อยู่คนเดียว กับคนที่เลี้ยงสุนัขหรือแมว ผลปรากฏว่าคนที่เลี้ยงสัตว์มีภาวะเสี่ยงกับโรคซึมเศร้าได้น้อยกว่า เนื่องจากเขาจดจ่ออยู่กับสัตว์เลี้ยง โดยไม่ได้จดจ่ออยู่กับความทุกข์หรือความเหงาของตัวเองมากเกินไป ผลวิจัยยังบอกอีกว่า การลูบคลำสุนัขหรือแมวช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ เจ้าของสุนัขหรือแมวมีฮอร์โมนความเครียดลดลง เพิ่มระดับสารเคมีในสมองมากขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตามถึงแม้สัตว์เลี้ยงที่บ้านของเราจะไม่ได้ถูกฝึกมาเพื่อเป็นนักบำบัด แต่ด้วยนิสัยและธรรมชาติของสัตว์เลี้ยงก็สามารถช่วยให้เราปล่อยวางจากปัญหาต่างๆ ที่พบเจอ ปล่อยวางจากความเครียดความเหงาไปได้บ้าง
อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัยลงลึกอีกว่า ควรเลือกสุนัขหรือแมวประเภทใดให้กับผู้ที่มีปัญหาหรือผู้ป่วยแต่ละราย โดยพบข้อมูลว่า หากเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย สัตว์เลี้ยงที่ได้รับการยอมรับในการรักษา มักจะเป็นสุนัขตระกูล โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ หรือ ลาบราดอร์ ที่มีความซื่อสัตย์ต่อเจ้าของ ไม่เล่นแรงจนเกินไป หรือสุนัขพันธุ์เล็กที่คุยเก่ง รวมถึงแมวไทยที่ขี้อ้อน นิสัยเรียบร้อยน่ารัก
จากทั้งหมดที่กล่าวมา ฟังดูแล้วอาจคิดว่ามนุษย์เราได้ประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว แต่ในความเป็นจริง นอกจากจะส่งผลดีกับผู้เลี้ยงที่มีภาวะซึมเศร้าแล้ว สัตว์เลี้ยงที่มีลักษณะเซื่องซึมหงอยเหงา แต่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากผู้เลี้ยง มีการกอดจูบลูบคลำ มีการอาบน้ำแปรงขน สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนทำให้สัตว์เลี้ยงมีความสุขด้วยเช่นกัน
โดยผลการวิจัยที่เผยแพร่ใน Applied Animal Behaviour Science ระบุว่าสุนัขที่ทำหน้าที่ช่วยบำบัดเหล่านี้ไม่ได้รู้สึกเครียดจากการทำงาน ตรงกันข้าม พวกมันรู้สึกมีความสุขเสียด้วยซ้ำ โดยทีมนักวิจัยได้นำตัวอย่างน้ำลายของสุนัขมาวัดปริมาณของฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ตอบสนองต่อความเครียด โดยแบ่งเป็นตัวอย่างน้ำลายของสุนัขขณะที่อยู่บ้านและสุนัขที่กำลังดูแลผู้ป่วย ผลการวิเคราะห์พบว่า ไม่มีความแตกต่างของระดับคอร์ติซอลระหว่างสุนัขที่บ้านและที่ดูแลผู้ป่วย ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าการทำงานเยียวยาผู้ป่วยนั้นไม่ก่อให้เกิดท่าทางที่บ่งชี้ว่าสุนัขมีความเครียดแต่อย่างใด
สนใจอยากจะมีสัตว์เลี้ยงน่ารักๆ ไว้เป็นเพื่อนคลายเครียด คลายเหงา และคอยรับฟังเราสักตัวพบกันที่งาน Pet Expo Thailand 2020 ซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในโอกาสครบรอบ 20 ปี ระหว่างวันที่ 3 – 6 กันยายน 2563 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น. ฮอลล์ EH 106 ไบเทค บางนา
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com