มุมใหม่ของสิงคโปร์…ทุกความชอบที่ใช่ เป็นไปได้ที่นี่

คำพูดที่บอกว่า “ศิลปะไม่มีวันตาย” เป็นสิ่งที่ยืนยันความอมตะของงานศิลป์เป็นอย่างดี เพราะไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่มนต์สเน่ห์ของงานศิลป์ก็ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยน ศิลปะเป็นเครื่องสะท้อนบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนไม่หยุดนิ่ง การนำเอาเทคโนโลยีมารังสรรค์ผลงานศิลปะ ก็เป็นอีกรูปแบบของงานศิลป์ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย 
 
“Atypical Singapore” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้แบรนด์แคมเปญ “Passion Made Possible: ทุกความชอบที่ใช่ เป็นไปได้ที่สิงคโปร์” ของการท่องเที่ยวสิงคโปร์ (Singapore Tourism Board – STB) เป็นอีกหนึ่งนิทรรศการศิลปะที่ใช้เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) มานำเสนอสิงคโปร์ในมุมมองใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก (The Unknown World)
 
โดยบอกเล่าเรื่องราวของประเทศสิงคโปร์ผ่านผลงานศิลปะร่วมสมัยทั้ง 7 ชิ้น งานแต่ละชิ้นนำเทคโนโลยีมัลติมีเดียมาช่วยเพิ่มอรรถรสการเสพงานศิลป์ที่แปลกใหม่ และลึกซึ้งยิ่งขึ้นสำหรับเหล่าผู้ที่ชื่นชอบศิลปะ หรือ ชาว Culture Shapers 
 
นิทรรศการ “Atypical Singapore” นี้ เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของ ไครัดดิน โฮริ (Khairuddin Hori) อดีตภัณฑารักษ์อาวุโสแห่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ ซึ่งในปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการและหุ้นส่วนใหญ่ของ Chan+Hori Contemporary โดยหัวเรือใหญ่ผู้นี้ได้คัดเลือกศิลปินร่วมสมัยชาวสิงคโปร์เจ็ดคนมาสร้างผลงานที่สะท้อนเรื่องราวและวัฒนธรรมของชาวสิงคโปร์เพื่อถ่ายทอดออกไปสู่สายตาชาวโลก ดังนี้ 
 
 
1. อะแมนด้า ตัน (Amanda Tan) กับผลงาน “What Tribe is Thi$?”  ที่ต้องการสะท้อนความต้องการตามหาอัตลักษณ์ของตนเองท่ามกลางการถูกหล่อหลอมมาในสังคมพหุวัฒนธรรม หน้าจอขนาดยักษ์แสดงผลภาพของหญิงสาวในเครื่องแต่งกายที่ดูแปลกสื่อถึงความรู้สึกแปลกแยกและความยากลำบากในการค้นหาตัวตนที่แท้จริงของตนเอง
 
 
2. แองจี้ เซียห์ (anGie seah) กับผลงาน “To Steal the Night from the Day” ที่นำเสนอความแตกต่างที่อยู่รอบตัวเรา เช่น กลางวันกับกลางคืน ความหวังกับความกลัว ความจริงกับความฝัน และชีวิตกับความตาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการแสดง Live Performance ของเธอ ที่เล่าถึงธรรมชาติของการคงอยู่และถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกด้วยการใช้อุปกรณ์ประกอบฉาก และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม 
 
 
3. แดเนียล ยู (Daniel Yu) กับ ผลงาน “Lunar Beast and Lunar Cleric” แดเนียล ยู เป็นที่รู้จักในฐานะประติมากรที่เชี่ยวชาญงานปั้นจากดินเหนียวและเรซิน แต่สำหรับผลงานชิ้นนี้ เขาได้ใช้ประติมากรรมพองลมมารังสรรค์งานศิลป์ 2 ชิ้นในชื่อ Lunar Beast & Lunar Cleric ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการแสดงเชิดสิงโตตามคติความเชื่อของชาวจีน ถือเป็นผลงานที่สื่อให้เห็นถึงความเชื่ออันเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรมของชุมชนจีน ที่ยังคงแฝงอยู่ภายใต้ความก้าวหน้าทันสมัยของสิงคโปร์
 
 
4. ยูจีน โซห์ (Eugene Soh) กับผลงาน “Sunday Afternoon on the Island of Singapore” ที่ยังคงคอนเซ็ปต์ของตนเองกับการสร้างสรรค์ผลงานที่ล้อเลียนมากจากงานศิลปะชื่อดัง โดยผลงานภาพถ่าย Sunday Afternoon on the Island of Singapore ชิ้นนี้ก็ได้ดัดแปลงมาจาก “A Sunday Afternoon on the Island of La Grande Jatte” โดยจอร์จ เซอแรต ซึ่งเขาใช้เวลากว่า 6 เดือนในการถ่ายภาพตัวละครทีละตัว บนฉากหลัง ณ บริเวณอ่างเก็บน้ำ Upper Peirce Reservoir และยังสอดแทรกเทคโนโลยี AR ที่ให้ผู้ชมสามารถสแกนภาพผ่านมือถือและชมผลงานในรูปแบบแอนิเมชั่นได้ถึง 30 วินาที
 
 
5. เจอรัลด์ เลียว (Gerald Leow) กับผลงาน “Alang Alang (A Framed One)” ผลงานประติมากรรมชิ้นนี้เป็นการดัดแปลงลักษณะของบ้านแบบออสโตรนีเซียน ซึ่งก่อกำเนิดจากในประเทศจีนและแพร่หลายไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเพื่อสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมและบ้านในฐานะหน่วยหนึ่งของสังคม เจอรัลด์ เหลียว จึงได้นำโลโก้แบบวงดนตรีเฮฟวี่เมทัลมาจัดวางเป็นรูปทรงบ้าน ทำให้ผลงานชิ้นนี้เป็นการรวมตัวของสถาปัตยกรรม บ้านแห่งอนาคต และความน่ากลัว ในหนึ่งเดียว 
 
 
6. มูฮัมมัด อิซดิ (Muhammad Izdi) กับผลงาน “Tales Don’t Tell Themselves” ภายใต้แนวคิดที่ว่าสิงโตและเสือ ถือเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติอย่างหนึ่งของสิงคโปร์ ตามชื่อ สิงคะปุระ หรือ เมืองแห่งสิงโต ซึ่งมูฮัมมัด อิซดิ ได้นำเรื่องราวของสิงโตและเสือในประเทศสิงคโปร์ มาแสดงผ่านงานแอนิเมชั่น .GIF โดยอ้างอิงมาจากตำนานที่เล่าไว้ว่า มีเจ้าชายองค์หนึ่งเดินทางมายังเกาะเทมาเซก และได้เจอกับสัตว์ป่าที่เข้าใจว่าเป็นสิงโต จึงได้ตั้งชื่อเกาะแห่งนั้นว่า สิงคะปุระ (เมืองแห่งสิงห์) แต่ความจริงแล้วสัตว์ที่เห็นน่าจะเป็นเสือมาลายันที่มีถิ่นที่อยู่ในแถบป่าร้อนนี้มากกว่า ซึ่งน่าเสียดายที่ในเวลาต่อมาเสือเหล่านี้ได้ถูกล่าจนสูญพันธุ์ไป เหลือไว้เพียงตำนานพื้นบ้านเท่านั้น 
 
 
7. ฟาริซวัน ฟาฮารี (Farizwan Fajari) หรือที่รู้จักกันในนาม สปีค คริปติก (Speak Cryptic) กับผลงาน “S*GATTE” ที่สร้างสรรค์ผลงานสะท้อนความเป็นมนุษย์ พร้อมบอกเล่าสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก โดย S*GATTE เป็นงานประติมากรรมซุ้มประตูทางเข้าที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากดาว 5 ดวงบนผืนธงชาติสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนประชาธิปไตย สันติภาพ ความยุติธรรม ความก้าวหน้า และความเท่าเทียม นอกจากนี้ ตัวซุ้มประตูยังมีการใช้เทคโนโลยี AR แสดงภาพเมืองสิงคโปร์พร้อมตัวละครขาวดำภายใต้ชื่อ “The Tribe” อีกด้วย
 
สำหรับผู้ที่สนใจผลงานศิลปะ “Atypical Singapore” ทั้ง 7 ชิ้น ที่สะท้อนสิงคโปร์ในมุมมองใหม่ที่ทุกคนไม่เคยเห็นมาก่อน สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่ นิทรรศการศิลปะ “The Unknown World”  ซึ่งจัดโดยการท่องเที่ยวสิงคโปร์ ในวันที่ 12 – 17 มีนาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม 

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....