คปภ. ออก 7 มาตรการผ่อนผัน สำหรับบริษัทประกันที่มีเคลมประกันโควิด

เพื่อเสริมสภาพคล่องจ่ายค่าเคลมประกันให้กับประชาชน

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 ได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง มาตรการสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทน COVID-19 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. 2564 และประธานบอร์ด คปภ. ได้ลงนามประกาศ คปภ. ดังกล่าวแล้ว ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2564

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบันที่มีความรุนแรงทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมาก ส่งผลให้บริษัทประกันวินาศภัยจำนวนหนึ่งต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากกรณีดังกล่าวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพคล่องที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัท รวมทั้งเพื่อให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการปรับฐานะการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติ และสามารถชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยได้อย่างรวดเร็ว คปภ. จึงได้ออกมาตรการเพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องในการดำเนินงานให้กับบริษัทประกันวินาศภัย 7 มาตรการ ดังนี้

  1. ยกเว้นการคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านการประกันภัยจากการรับประกันภัย COVID-19
  2. ให้สามารถนับเงินกู้ยืมด้อยสิทธิ์ตามลักษณะที่กำหนดมาเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ได้
  3. ผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ขั้นต่ำ
  4. ยกเว้นการนำค่าเผื่อความผันผวนที่เรียกว่า provision of adverse deviation (PAD) มาคำนวณเงินกองทุน
  5. สามารถนำเบี้ยประกันภัยค้างรับที่มีระยะเวลาการค้างชำระไม่เกิน 30 วันมาใช้ในเป็นสินทรัพย์หนุนหลัง
  6. สามารถนำเบี้ยประกันภัยค้างรับที่มีระยะเวลาการค้างชำระไม่เกิน 30 วันมาใช้ในการคำนวณเงินสำรอง
  7. อนุญาตให้บริษัทมีสัดส่วนของเงินสดและเงินฝากธนาคารที่บริษัทใช้สำหรับการบริหารสภาพคล่องได้เกิน
    ร้อยละ 5

ทั้ง 7 มาตรการ เป็นการสร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจให้กับบริษัทประกันภัย ทำให้บริษัทประกันภัยมีสภาพคล่องทางการเงินที่จะนำมาจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้เพิ่มสูงขึ้น ด้วยการลดภาระด้านการดำรงเงินกองทุนของบริษัทประกันภัยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จาก Buffer ที่ตั้งไว้ ผ่อนผันให้บริษัทถือเงินสดในมือได้มากขึ้น และยังเพิ่มทางเลือกให้กับบริษัทในการจัดหาแหล่งเงินทุนอื่นที่บริษัทสามารถเข้าถึงได้รวดเร็วกว่าการเพิ่มทุน และลดภาระค่าธรรมเนียมในการฝากเงินกับสถาบันการเงินของบริษัท นอกจากนี้ ยังทำให้บริษัทประกันภัยมีเวลามากขึ้นในการดำเนินการปรับปรุงฐานะเงินกองทุนและสภาพคล่องของบริษัทให้เป็นไปตามอัตราที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ บริษัทสามารถยื่นคำขอใช้มาตรการผ่อนผันได้ โดยประกาศฯ ได้กำหนดลักษณะของบริษัทประกันวินาศภัยที่สามารถยื่นคำขอใช้มาตรการผ่อนผันไว้ 2 ประการ คือ

  1. ต้องมีค่าสินไหมทดแทน COVID-19 เป็นจำนวนมากกว่า 500 ล้านบาทก่อนการยื่นขอผ่อนผัน และ
  2. มีการประมาณการว่าอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนของบริษัทในระหว่างวันที่ 30 กันยายน 2564 ถึง 30 มิถุนายน 2565 อาจต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ บริษัทจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่อไปนี้

  1. มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน COVID-19 ไม่น้อยกว่า 75% ของเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่มีการยื่นต่อสำนักงาน คปภ. และ
  2. มีเงินกองทุน และ/หรือสินทรัพย์สภาพคล่องเพียงพอสำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทน COVID-19

บริษัทที่เข้าเกณฑ์ที่กำหนดข้างต้นสามารถยื่นคำขอผ่อนผันต่อนายทะเบียน โดยจะต้องจัดทำแผนการดำเนินการแก้ไขฐานะการเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 และต้องรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนต่อ
นายทะเบียนทุก 15 วัน และต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเพียงพอของเงินกองทุน กระบวนการในการบริหารเงินกองทุนของบริษัท และการประเมินความเพียงพอของเงินกองทุน รวมถึงการประเมินหนี้สินจากสัญญาประกันภัย โดยเปรียบเทียบข้อมูลก่อนและหลังใช้มาตรการผ่อนผันตามประกาศนี้ด้วย ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานรวม 3 ชุด เพื่อกำกับดูแล กลั่นกรองพิจารณาคำขอ และตรวจสอบติดตามการดำเนินงานของบริษัทที่ได้รับการผ่อนผัน ทั้งนี้ หากบริษัทไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด นายทะเบียนมีอำนาจยกเลิกมาตรการผ่อนผันได้ทันที

            “มาตรการผ่อนผันดังกล่าวเป็นกลไกชั่วคราวที่มุ่งช่วยเหลือบริษัทประกันภัยที่ประสบปัญหาสภาพคล่องรายกรณี
โดยจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัย COVID-19 ให้มีเงินเพียงพอต่อการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัย ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะกำกับดูแลและติดตาม ตรวจสอบฐานะการเงินและความมั่นคง รวมถึงสภาพคล่องของบริษัทอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยมาตรการผ่อนผันนี้ไม่ได้เป็นการยกเว้นกลไกของกฎหมายตามปกติ แม้บริษัทประกันภัยจะได้รับมาตรการผ่อนผัน แต่หากบริษัทไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด นายทะเบียนก็มีอำนาจยกเลิกการผ่อนผันได้ หรือหากมีการดำเนินการใด ๆ ที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย สำนักงาน คปภ. ก็พร้อมที่จะใช้มาตรการทางกฎหมายตามช่องทางปกติ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย ซึ่งกลไกทางกฎหมายตามบทบัญญัติต่าง ๆ ที่สำนักงาน คปภ. จะสามารถเข้าไปควบคุมดูแลก็ยังคงอยู่ จึงขอให้มั่นใจว่าสำนักงาน คปภ. จะดูแลประชาชนอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยด้านประกันภัยและไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องประกันภัยติดต่อสายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....