ยอดพุ่ง !! เกษตรกรแห่ทำประกันภัยข้าวนาปีเดือนเดียว 1.3 ล้านราย พื้นที่กว่า 20.02 ล้านไร่ 3 หน่วยงานลงพื้นที่ให้ความรู้คนสงขลาปิดท้ายโครงการฯ

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรไทย ด้วยการออกกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560  ซึ่งเริ่มมีการรับประกันภัยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2560 มีเกษตรกรสนใจทำประกันภัยข้าวนาปีแล้วทั่วประเทศ จำนวน 1.3 ล้านราย มีพื้นที่ทำประกันภัยทั้งสิ้น 20.02 ล้านไร่

แม้นในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ในรอบหลายสิบปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดสกลนคร และจังหวัดนครพนม ที่มีปริมาณน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเสียหายทั้งบ้านเรือนและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ เบื้องต้นได้รับรายงานความเสียหายจากภัยน้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 2.08 ล้านไร่ จากพื้นที่ที่ทำประกันภัย 13.54 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 15.41

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อบริหารความเสี่ยงภัยจากภัยน้ำท่วมสำหรับในพื้นที่ภาคใต้ จึงควรมีการเตรียมมาตรการป้องกันภัยไว้ ทั้งการจัดหาพื้นที่กลางสำหรับจอดรถเพื่อป้องกันไม่ให้รถยนต์ของประชาชนถูกน้ำท่วม และการเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรชาวนาในพื้นที่ที่ยังไม่ถูกน้ำท่วมให้รีบทำประกันภัยข้าวนาปี เพื่อบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกปี ซึ่งพื้นที่ภาคใต้ สามารถซื้อประกันภัยข้าวนาปีได้ตั้งแต่ก่อนเพาะปลูกจนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2560

โดยเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2560 สำนักงาน คปภ. ได้บูรณาการร่วมกับ สมาคมประกันวินาศภัยไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลงพื้นที่ชุมชนพบปะเกษตรกรชาวนาที่เทศบาลตำบลระโนด อ.ระโนด โดยมีนายสุรชัย วงศ์ศุภลักษณ์ นายอำเภอระโนด ให้การต้อนรับ และนายคมศร บุญศิริ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาระโนด กล่าวรายงานสภาพปัญหาการรับประกันภัยนาข้าวในปีที่ผ่านมา โดยมีชาวนาเข้ารับฟังการชี้แจงในครั้งนี้กว่า 300 คน ณ หอประชุมสวนบูรพาจารย์ อ.ระโนด ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากเกษตรในพื้นที่

ทั้งนี้ที่ผ่านมาจังหวัดสงขลา มีพื้นที่ปลูกข้าว 120,060 ไร่ มีพื้นที่ที่ทำประกันภัย 69,141 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 57.59 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งจังหวัด ซึ่งมีอัตราการทำประกันภัยที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของการทำประกันภัยข้าวนาปี ของภาคใต้ที่มีพื้นที่ทำประกันภัย คิดเป็นร้อยละ 41.11 ด้วย

 

สำหรับการจัดอบรมความรู้ด้านประกันภัย (Training for the Trainers) ปี 2560 ได้จัดอบรมครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศแล้ว 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด ขอนแก่น นครสวรรค์ สุโขทัย ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด สกลนคร และสำหรับในครั้งสุดท้ายนี้ได้เลือกจัดที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมบุรีศรีภู บูติกโฮเต็ล จังหวัดสงขลา โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 9 และเป็นครั้งสุดท้ายของโครงการฯปีนี้ ซึ่งถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากปีที่แล้วให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน

โดยโครงการนี้มุ่งหวังให้เกษตรกรสามารถนำเอาระบบประกันภัยที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงภัยเข้ามาช่วยในการบริหารความเสี่ยงกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ รวมทั้ง มีความเข้าใจในเงื่อนไขความคุ้มครอง ขั้นตอนการขอรับค่าสินไหมทดแทน และหลักการพิจารณาการประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ของกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี

และยังได้จัดทำ Workshop พร้อมยกกรณีศึกษาการรับประกันภัยข้าวนาปี เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริงสามารถนำองค์ความรู้ ที่ได้รับจากการอบรมมาถ่ายทอดต่อยอดความรู้ให้เกษตรกรและชาวนาในพื้นที่ได้อย่างครบถ้วนถูกต้อง  โดยมี เลขาธิการ คปภ. เป็นประธานเปิดงาน และได้รับเกียรติจาก นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม  ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เข้าร่วมและกล่าวต้อนรับ และมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับการอบรมฯ ในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้กล่าวย้ำถึงประโยชน์และความสำคัญของการประกันภัยข้าวนาปี แม้ว่าจังหวัดสงขลาจะมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวเป็นจำนวนมาก แต่มีการเกิดภัยน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง ดังเช่นในปี 2559 ได้เกิดน้ำท่วมที่จังหวัดสงขลา ถึง 3 ครั้ง ซึ่งการประกันภัยข้าวนาปีจะช่วยบริหารความเสี่ยงภัยดังกล่าวให้กับเกษตรกรได้ และยังได้กล่าวขอบคุณ สำนักงาน คปภ. ที่เห็นความสำคัญและเลือกจังหวัดสงขลาเป็นสถานที่จัดการอบรมความรู้ประกันภัย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย  หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์และขยายผลไปถึงเกษตรกรชาวนาไทยได้มีความรู้ความเข้าใจ และเล็งเห็นความสำคัญของการประกันภัยมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนในการปฏิรูปนโยบายการประกันภัยพืชผล ซึ่งนำไปสู่การสร้างความมั่นคงในชีวิต และยกระดับรายได้ของเกษตรกรในประเทศต่อไป

 

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....