รมต.คลัง เปิดงาน CEO Insurance Forum 2021 มอบ 3 ข้อ “นำประกันขับเคลื่อนศก.- ปรับตัวดิจิทัล-ยกระดับคุ้มครองฯปชช.เคลมเร็ว ลดร้องเรียน” 
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเปิดการประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย ประจำปี 2564 (CEO Insurance Forum 2021) และปาฐกถาพิเศษเรื่อง ระบบประกันภัยกับการขับเคลื่อน การฟื้นตัวและรองรับความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจและสังคม ว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาความท้าทายในหลากหลายมิติ อาทิ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ สภาวะภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค การพัฒนาของเทคโนโลยีนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ และการเกิดโรคอุบัติใหม่ ล้วนส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างเลี่ยงไม่ได้
ล่าสุดธนาคารโลกได้ประเมินอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของไทยในปี 2564 จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.2 ได้ปรับลงเหลือร้อยละ 1% อันเป็นผลสืบเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ในประเทศไทย และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของไทยจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่จะใช้เวลา 2-3 ปี
ทั้งนี้ ธุรกิจประกันภัยที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นว่ามีส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงรวมทั้งแบ่งเบาภาครัฐสร้างภูมิคุ้มกันและเสริมความเข้มแข็งให้กับประชาชนฐานรากโดยเฉพาะการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรเช่น ประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั่วประเทศแล้ว มีการเยียวยาให้เกษตรกรมากว่า 10,000 ล้านบาท ช่วยเกษตรกรให้บริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างเป็นระบบโดยหวังว่าอนาคตจะขยายผลไปสู่ประกันภัยประเภทอื่นรวมถึงปศุสัตว์ ประมง ด้วย
นอกจากนี้ยังมีการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 และประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19 ขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อรองรับความเสี่ยงของประชาชนคนไทยได้อย่างทันท่วงที รวมถึงการออกหลักเกณฑ์ต่างๆให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วทั้งเรื่องการขยายความคุ้มครองทั้ง Home Isolation ,Community Isolation ส่งผลให้ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้เอาประกันได้อย่างดียิ่ง
ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ออกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทั้งด้านการคลัง การเงินและภาษี ครอบคลุมการใช้จ่ายและการลงทุนในภาครัฐ เช่น โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่งระยะที่ 1, 2,3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งทำให้มีวงเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 454,000 ล้านบาท ประชาชนได้รับสิทธิ์กว่า 51 ล้านคน และเป็นประโยชน์ถึงห่วงโซ่เศรษฐกิจอื่นๆ
นายอาคม กล่าวอีกว่า ขณะนี้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 ในไทยปรับตัวดีขึ้น ประชาชนรับการฉีดวัคซีนมากขึ้น ในด้านเศรษฐกิจจึงมีความจำเป็นค่อยๆเปิดระบบเศรษฐกิจ แต่การที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงเริ่มเปิดประเทศให้มีความเข้มแข็ง ยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืนได้นั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ซึ่งกระทรวงการคลังมีนโยบายมุ่งเน้นนำการประกันภัยเข้ามาช่วยเป็นภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคม ผมจึงอยากฝากโจทย์สำคัญให้สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจ บูรณาการร่วมมือกัน เพื่อให้การประกันภัยเข้าไปมีบทบาทที่สำคัญใน 3 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การส่งเสริมให้การประกันภัยเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม
จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในวงกว้าง อุตสาหกรรมประกันภัยก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวเช่นกัน แต่ยังเห็นศักยภาพของธุรกิจประกันภัยในการปรับตัวและตอบสนองต่อวิกฤตที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว สิ่งที่กระทรวงการคลังคาดหวังก็คือ บทบาทของการประกันภัยที่จะสนับสนุนนโยบายของรัฐเพื่อขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มากยิ่งขึ้น เช่น
การขยายความคุ้มครองไปยังพืชเศรษฐกิจอื่น การพัฒนากฎหมายประกันภัยพืชผลทางการเกษตร ให้เกิดการพัฒนา อย่างยั่งยืน การเพิ่มขีดความสามารถรับความเสี่ยงภัยพิบัติ โดยการนำการประกันภัยเข้ามาสนับสนุนโครงการเขตพัฒนาพิเศษเขตภาคตะวันออกหรือ ECC การประกันภัยทรัพย์สิน และโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเพื่อบริหารทรัพย์สินให้กับภาครัฐอย่างเหมาะสมและเป็นระบบ
– ความเร่งด่วนในการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพผ่านการประกันภัยสุขภาพที่ตอบโจทย์ของความต้องการของประชาชน รวมถึงการยกระดับการประกันสุขภาพ ต่อยอดของระบบสวัสดิการ โดยบูรณาการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเนื่องจากระบบสวัสดิการในปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถรับมือกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น
– ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวปี 2565 และ 2573 จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 27 ของประชากรทั้งประเทศ ดังนั้นความต้องการประกันภัยเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกับสำหรับผู้สูงอายุก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย การพัฒนากฎหมายประกันภัยสุขภาพภาคสมัครใจจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่จะช่วยกำหนดมาตรฐานแนวทางพัฒนาที่เป็นระบบและการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนในเรื่องนี้
ประเด็นที่ 2 การปรับตัวด้านดิจิทัล ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงในทุกมิติ โดยเฉพาะการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โดยมีสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญ ดังนั้น สำนักงาน คปภ. ต้องพิจารณาออกกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการสร้าง Ecosystem ให้กับภาคธุรกิจ สนับสนุนให้มีการปรับตัวเพื่อความยั่งยืน และพัฒนา Platform ต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสของธุรกิจ เพิ่มการเข้าถึงของประชาชนในวงกว้าง และเพิ่มศักยภาพความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งในอนาคตเราไม่สามารถคาดการณ์ความเสี่ยงที่ต้องเผชิญได้ ดังนั้น การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลจึงมีความจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งในระยะยาวเทคโนโลยีจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนได้
ประเด็นที่ 3 ยกระดับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ควบคู่กับ “การสร้างความรอบรู้ด้านการประกันภัย” ให้กับประชาชนให้เข้าใจสิทธิเงื่อนไขความคุ้มครอง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการร้องเรียนในภายหลัง
ธุรกิจประกันภัยต้องยกระดับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ให้สามารถเรียกร้อง ค่าสินไหมทดแทนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้เอาประกันภัยและบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อระบบประกันภัย อันจะช่วยให้อุตสาหกรรมประกันภัยเติบโตได้อย่างมั่นคงยั่งยืน
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com