อุทาหรณ์!!สำนักงานตัวแทนระยอง

เหลี่ยมมุม “ใคร” กันแน่!! (ตอนจบ)

ปัญหาเรื่อง “คนกลาง” !! นับเป็นประเด็นร้อนๆ ในวงการประกันชีวิตสืบกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เกือบทุกบริษัท “โดน” กันแทบทั้งสิ้น!!

กรณีคนกลางที่เป็น “ตัวแทน” นั้น การติดตามดูเหมือนจะ “เข้าถึง” ได้ง่ายกว่า เพราะเป็นบุคคลธรรมดา หากมีเคสกรณีกระทำการใดๆ ที่ผิดจากกฎระเบียบไปทันที “บริษัท” ค่อนข้างที่จะจัดการแก้ไขและดำเนินการให้ถูกต้องกับ “ลูกค้า” ได้ง่ายและรวดเร็วกว่ากรณีเคสของ “สำนักงานตัวแทน” ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคล

การบริหารจัดการ “เบี้ยลูกค้า” แบบนำเงินที่รับจากลูกค้ามา “หมุน” ไปใช้กับกิจการอื่นๆ หรือใช้จ่ายค่าบริโภคอื่นใดโดยยังไม่นำเงินซึ่งเป็นการชำระเบี้ยประกันของลูกค้าไปส่งบริษัทนั้น หากส่องโฟกัสลงไปในพฤติกรรมดังกล่าวพอจะตามรอยได้ว่า

คนกลางรับเงินจากผู้เอาประกันฯ มาแล้วให้ “ใบเสร็จชะชั่วคราว” (ใบแรก) ไปแทนกรมธรรม์ประกันภัย ที่บริษัทผู้รับประกันฯ จะต้องเร่งพิจารณาและดำเนินการออกมาเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าภายในระยะเวลา 7 วัน 10 วัน 15 วัน โดยทันทีที่ “ลูกค้า” ได้รับกรมธรรม์จะต้องมีการ “เซ็นรับ” อย่างเป็นเรื่องเป็นราวและส่งเอกสารนั้นกลับบริษัทภายใน 15 วันด้วย

ถ้าเกินกว่านั้น…บริษัทต้องติดตามแล้วว่า!! มันเกิดอะไรขึ้น (นี่คือการทำหน้าที่ที่ดีอันดับแรก)

ซึ่งหากบริษัทไม่ได้ติดตาม “ระยะระวังภัย” ระยะแรกเช่นนี้…ปล่อยให้ “คนกลาง” ดำเนินการตามอัธยาศัยตามลำพัง…โอกาสเสี่ยงภัยของลูกค้าจะสูง ที่สำคัญความ “สนิทสนม” ไม่ได้แสดงถึงการการันตีความปลอดภัยของลูกค้าได้ 100 เปอร์เซ็นต์แน่นอน แต่จะถือเป็นการทำงานแบบ “หละหลวม” ของบริษัทที่ทำงานแบบมืออาชีพมากกว่า

ด้วยทว่า!! มีการ “ทุจริต” เบี้ยลูกค้าขึ้นมาจริงๆ เหมือนอย่างเคส “สำนักงานตัวแทนระยอง” ครั้งนี้…ว่ากันว่า…มีทีเด็ดแบบใช้กลอุบาย!! จนสามารถเก็บ “เบี้ยก้อนใหญ่” จากลูกค้ามาในรูปแบบต่างๆ แล้วมาหมุนกระทั่งหมุนไม่ทันจึงไม่ส่งเบี้ยให้บริษัท

เบื้องต้นทีมข่าวได้ข้อมูลมาว่า “ผู้ก่อเหตุ” ได้นำกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบคุ้มครอง 10 ปีโดยจ่ายเบี้ยระยะเวลา 5 ปี (แบบสมมุติใกล้เคียงความจริงที่สุด) ให้ผลตอบแทนดีกว่าที่นำเงินไปรอดอกเบี้ยจากธนาคาร (มักพูดว่าลงทุนได้ผลตอบแทนสูงกว่าแบงก์) มานำเสนอว่านล้อมให้ลูกค้านำเงินก้อนใหญ่ออกมาร่วมลงทุน

เคสนี้…มีการจัดโปรโมชั่นให้ลูกค้าว่า…ถ้าลูกค้าคนใดลงทุนทั้งหมดจ่ายเงินเบี้ยประกันรวดเดียว 5 ปี “ผู้ก่อเหตุ” จะ “ลดเบี้ย” ให้ 1 ปี คือคิดเบี้ยประกันฯ แค่ 4 ปี ให้ฟรี 1 ปี แต่การคุ้มครองเหมือนเดิม 10 ปี ถ้าเบี้ยปีละ 100,000 บาท 5 ปี ก็เท่ากับ 500,000 บาทถ้าจ่ายทั้งหมดทันทีก็จ่ายแค่ 400,000 บาทประมาทนี้!! (ลูกค้าก็เคลิ้มกับกำไรทันที 100,000 บาท) ดังนั้นการระดมเงินในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาจึงสามารถกระทำได้หลายสิบล้านบาท หรือตามที่เป็นข่าวและมีการแจ้งความไว้ว่าราว 125 ล้านบาทนั่นเอง

พอสาวต่อพบว่า…ผู้ก่อเหตุ ได้นำเบี้ยก้อนใหญ่รายปีที่เก็บมา (ไม่ครบอยู่แล้ว จาก 5 ปี เก็บแค่ 4 ปี ตามโปรโมชั่น) มาย่อยจ่ายเป็น “รายเดือน” แทนซ้ำซ้อนกรณีเข้าไปอีกชั้นหนึ่งด้วย!!

มุมที่สะท้อนให้เห็นก็คือ…มีการ “แจ้งหาย!! ใบเสร็จชั่วคราว” ซึ่งทันทีที่มี กรณีแบบนี้ขึ้น บริษัทต้องค้นหาความจริงแล้วว่า…หายด้วยเหตุสุดวิสัยหรือเจตนาหายกันแน่!! การแทงบัญชีใบเสร็จสูญหาย!! นับเป็นเรื่องใหญ่ เพียงแต่ว่าที่ผ่านมามีการ “ขยิบตา” ให้แก้ไขกันหรือไม่…เพราะบริษัทยังหวังในผลงานของ “คนกลาง” กลุ่มนี้อยู่หรือไม่

ข้อสำคัญ…มีคำถามคาใจในการติดตามตรวจสอบการส่งมอบกรมธรรม์ลูกค้าจากบริษัทอย่างยิ่งว่า ยังทำกันแบบ “ไม่ถึง” นั้นเป็นเพราะอะไร…เพราะเกรงใจหรือไว้ใจ “สำนักงานตัวแทน” อะไรกันแน่ ทั้งนี้การจัดตั้งสำนักงานตัวแทนต่างๆ ของคนกลางประกันภัยนั้น เป็นนิติบุคคล ทำให้มี “อิสระ” บางอย่างที่พอจะ “พลิ้ว” กระแสสังคมไปได้

ด้วยเป็นการดำเนินการในชื่อ “บริษัทนิติบุคคล” (ผู้จดทะเบียนดำเนินการรับผลประโยชน์สำนักงานตัวแทน) ดังนั้นเมื่อมี กรณีทุจริตหรืออะไรออก…จึงมักมีข่าวว่า “บริษัทนี้..???..” (ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการสำนักงานตัวแทนดังกล่าว) ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทประกันภัยต้นสังกัดเป็นต้น!!

มากกว่านั้น โดยทั่วไปภายใต้ความเกรงใจสำนักงานตัวแทนของทุกบริษัทนั้นมีสูง!! จะว่าไปแล้วสูงกว่าที่มีต่อตัวแทนบุคคลธรรมดาด้วยซ้ำ เพราะการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนเป็นหลักหลายบาทเป็นทุนที่ “เจ้าของสำนักงานตัวแทน” ต้องควักจ่ายลงทุนตกแต่งเอง เพียงแต่รูปแบบให้อยู่กรอบตาม “ฟอร์มแมทออฟฟิศ” ที่บริษัทจัดไว้ให้เท่านั้น

ถามว่า…ทำไม ตัวแทนธรรมดา ต้องดิ้นรนเปิดสำนักงานตัวแทน ทั้งที่ต้องหาเงินหาทองมาลงทุนสร้างออฟฟิศเองเช่นนี้…คำตอบก็คือ….ผลประโยชน์ที่จะได้รับเปอร์เซ็นต์การบริหารจัดการ “เบี้ยลูกค้า” ภายใต้สำนักงานตัวแทนแต่ละที่จะอยู่ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละเดือน…นี่คือสิ่งล่อ!!

ทางด้านบริษัทประกันภัยเอง ก็ “ไม่ต้อง” มานั่งแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการและดำเนินการจัดตั้ง “สาขาบริษัท” ให้กระจายไปครบสาระทิศสาระทางทั่วประเทศจนสามารถรองการขยายไปสู่ลูกค้าได้อย่างกว้างไกลไพศาล เพียงแค่อาศัย “ข้อตกลง” ที่ทำร่วมกับเจ้าของสำนักงานให้ทำตามกรอบระเบียบบริษัท เท่านั้นบริษัทก็ “ลดต้นทุน” ในการขยายกิจการไปมหาศาลทีเดียว

หากจะให้มองถึงสถานะความสัมพันธ์ระหว่าง “สำนักงานตัวแทน” กับ “บริษัทประกันภัย” แล้วก็จะออกมาในรูปแบบของ “คู่ค้าธุรกิจ” มากกว่าเป็น “คู่สัญญาทำงาน” ที่ต่างจากตัวแทนด้วยซ้ำไป เพราะเหมือนจะเป็นการร่วมธุรกิจกันแบบ “วิน วิน” แต่ที่หวาดเสียวสุดซึ่งต้องเผชิญกับการ “เสี่ยงภัย” ถูกนำเงินของตัวเองไปหมุนในรูปแบบต่างๆ ก่อนจะส่งให้บริษัทนั้นก็คือ “ลูกค้า” นั่นเอง

ที่ผ่านมา “ความโชคดี” เกิดขึ้นกับบริษัทและสำนักงานตัวแทนเกือบทั้งระบบ…แต่ทว่าวันใด “เจ้าของสำนักงานตัวแทน” คนใดคนหนึ่งบริษัทใดบริษัท “เจอปัญหา” หมุนเงินไม่ทัน…ความซวยก็เกิดขึ้นกับลูกค้าเป็นลูกโซ่ให้เห็นกันอีกเป็นระยะๆ

ถึงตรงนี้…ไก่กับไข่…น่าจะมาพร้อมกัน แต่!! “ผู้ควบคุม” เล้าไก่ฟาร์มไก่อย่าง “สำนักงาน คปภ.” หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยควรโฟกัสและทบทวนอย่างลึกซึ้งใน “ข้อตกลง” ที่เชื่อมความ “เกรงใจ” ระหว่างบริษัทกับสำนักงานตัวแทน…ที่มีให้กัน!! ต่อไปอย่างเร่งด่วน!!

เชื่อว่า…จะเป็นหนทาง “ป้องกัน” ความเสียหายในภาพลักษณ์อุตสาหกรรมประกันภัยและการเสื่อมศรัทธาสูญความไว้วางใจจากประชาชนต่อระบบประกันภัยไทยในอนาคตที่อาจรุนแรงเพิ่มมากขึ้นไปได้อีกหนทางหนึ่ง…เพราะอย่างไรเสีย…การป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไข!! แน่นอน!!

 

 

 

 

 

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....