“คปภ. ยกทีมรับฟังปัญหาบริการประกันภัย “ชุมชนบ้านทุ่งเกวียน” ลำปาง”
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงาน คปภ. ได้จัดโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน โดยลงพื้นที่ในชุมชนแต่ละภาคเพื่อรับฟังสภาพปัญหาด้านประกันภัยและให้บริการด้านประกันภัยในพื้นที่ต่างๆ นั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2561 ตนและคณะผู้บริหาร สำนักงาน คปภ. ตลอดจนเจ้าหน้าที่คปภ.ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งผู้ไกล่เกลี่ยของสำนักงาน คปภ. ได้ลงพื้นที่ชุมชนบ้านทุ่งเกวียน ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ในรูปแบบ Mobile Insurance Unit หรือศูนย์บริการประชาชนด้านการประกันภัยเคลื่อนที่แบบครบวงจร เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่ของ สำนักงาน คปภ. และให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับชุมชน การให้ความช่วยเหลือและรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับประกันภัยผ่าน Mobile Complaint Unit หรือศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยเคลื่อนที่ รวมทั้งศึกษาวิถีชีวิตของชาวชุมชนและรับฟังสภาพปัญหาด้านการประกันภัย ตลอดจนเข้าร่วมกิจกรรมฐานเรียนรู้ต่างๆภายในชุมชน ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สี่ของการลงพื้นที่ตาม“โครงการ คปภ. เพื่อชุมชนปี 2” ประจำปี 2561
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมและสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับชาวชุมชนบ้านทุ่งเกวียนแบบครบวงจร สำนักงาน คปภ. ได้จัดเวทีเสวนาให้ความรู้ด้านประกันภัยภายใต้หัวข้อ “ประกันภัยน่ารู้ สู่ชุมชน” เพื่อถอดบทเรียนสภาพปัญหาด้านประกันภัยที่เกิดขึ้นจริงภายในชุมชนดังกล่าว โดยมีคณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจาก สำนักงาน คปภ. อาทิ นายชัยยุทธ มังศรี ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ นางคนึงนิจ สุจิตจร ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวางแผนและพัฒนากฎหมาย และนายจอม จีระแพทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ สำนักงาน คปภ. ตลอดจนนายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยมีนายชนะพล มหาวงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค เป็นผู้ดำเนินรายการ
การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจาก นายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง โดยมี นายสุบิน คำกอนแก้ว ผู้นำชุมชนบ้านทุ่งเกวียนพาเยี่ยมชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของผู้คนภายในชุมชน รวมทั้งเยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ อาทิ ฐานเรียนรู้อาหารพื้นเมืองภาคเหนือ ของฝากและผลิตภัณฑ์ OTOP จากตลาดทุ่งเกวียน ฐานเรียนรู้ยาสมุนไพรจากบ้านสมุนไพรของหมอจันทร์ และฐานเรียนรู้ถ้วยชามเซรามิก ชามตราไก่ของบริษัทธนบดี ซึ่งมีการถ่ายทำรายการกิจกรรมการเรียนรู้และการเสวนาเพื่อนำไปออกรายการโทรทัศน์เผยแพร่ให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับชมผ่านทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง 5)
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า จากการลงพื้นที่ชุมชนบ้านทุ่งเกวียนในครั้งนี้นอกจากได้ทราบสภาพปัญหาด้านประกันภัยของชุมชนแห่งนี้แล้ว ยังได้รับข้อมูลจาก สำนักงาน คปภ. ลำปาง ว่า ในพื้นที่ชุมชนบ้านทุ่งเกวียน มีรถยนต์ที่ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (ประกัน พ.ร.บ.) ถึง 100% ส่วนรถจักรยานยนต์มีอัตราการทำประกันภัยภาคบังคับ (ประกัน พ.ร.บ.) เพียง 60% นอกจากนี้ยังพบว่า ตลาดทุ่งเกวียนเคยประสบเพลิงไหม้และประสบภัยธรรมชาติหลายครั้ง แต่ชาวชุมชนยังทำประกันอัคคีภัยน้อย ดังนั้นจึงให้ความรู้ด้านประกันภัยและรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงภัย เช่น กรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัยที่อยู่อาศัย (ไมโครอินชัวรันส์) ด้วยเบี้ยประกันภัยเพียง 400 บาทต่อปี รวมทั้งการทำประกันรถจักรยานยนต์ (ประกัน พ.ร.บ.) เป็นต้น
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับการทำประกันชีวิตของชาวชุมชนแห่งนี้ พบว่า ประชากร 1,323 ราย มีการทำประกันชีวิตเพียง 50 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.77 จึงนับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น้อยมากเมื่อเทียบกับข้อมูลอัตราการทำประกันชีวิตของจังหวัดลำปางอยู่ที่ 35.73 ดังนั้นจึงให้ความรู้ สร้างความเข้าใจและรณรงค์ให้ชาวชุมชนนำระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในชีวิตของตนเองและครอบครัวให้มากขึ้น พร้อมได้สั่งการให้สำนักงานคปภ.จังหวัดลำปาง บูรณาการร่วมกับสำนักงานคปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) เร่งขยายผลรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ในการสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านประกันภัยเพื่อให้ชาวชุมชนเห็นความสำคัญของระบบประกันภัยมากขึ้น
นอกจากนี้ยังพบว่าจังหวัดลำปาง มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย โดยมี “รถม้า” ที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นและไม่เหมือนใคร แม้จะมีการนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงด้วยการทำ “ประกันภัยรถม้า” โดยรถม้าที่วิ่งให้บริการนักท่องเที่ยวในปัจจุบันจำนวน 88 คัน ทำประกันภัยทั้ง 88 คัน เพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลภายนอก กรณีบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และความเสียหายทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ด้วยเบี้ยประกันภัย 1,500 บาทต่อปีต่อคัน แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการประกันภัยรถม้า เนื่องจากมิใช่เป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับรถม้าโดยเฉพาะ และยังมีเงื่อนไขความรับผิดตามสัญญาประกันภัยที่จำกัด รวมทั้งยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนบริษัทประกันภัยที่รับทำประกันภัย ในขณะที่สภาพแวดล้อมและบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้ผู้ประกอบกิจการรถม้ามีความเสี่ยงและมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการใช้ระบบประกันภัยช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการรถม้าของจังหวัดลำปาง เลขาธิการ คปภ. จึงได้ประชุมกับนายอัครินทร์ พิชญกุล นายกสมาคมรถม้า จังหวัดลำปาง เพื่อรับฟังข้อมูลและสภาพปัญหาเกี่ยวกับการทำประกันภัยรถม้า โดยจะนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงและพัฒนาการทำประกันภัยรถม้าให้มีความเหมาะสมและตอบโจทย์ตรงความต้องการด้านประกันภัยของผู้ประกอบกิจการรถม้าของจังหวัดลำปางต่อไป
“การลงพื้นที่ชุมชนบ้านทุ่งเกวียนในครั้งนี้นอกเหนือจากลงพื้นที่เพื่อรับฟังสภาพปัญหาและให้ความรู้ด้านประกันภัยแก่ชาวชุมชนแห่งนี้แล้ว ยังมีกิจกรรมด้านประกันภัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย สำนักงาน คปภ. และรณรงค์ให้รถจักรยานยนต์ทุกคันทำประกันภัย พ.ร.บ. 100% นอกจากนี้ยังได้รับฟังข้อมูลและสภาพปัญหาจากกลุ่มผู้ทำประกันภัยรถม้า ซึ่งผมเห็นว่าสามารถนำมาพัฒนาและปรับปรุงการทำประกันภัยรถม้าให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น จึงน่าจะมีการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยเฉพาะกลุ่มรถม้าโดยเฉพาะ เพื่อจะได้สามารถตอบโจทย์ตรงตามความต้องการด้านประกันภัยของผู้ประกอบกิจการรถม้าของจังหวัดลำปางมากกว่า โดยถ้าทำสำเร็จก็จะเป็นกรมธรรม์ประกันภัยรถม้าโดยเฉพาะครั้งแรกของโลก” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com