โควิดดันประกันรถยนต์กำไรสูงสุดรอบ 4 ปี คปภ. ไฟเขียว “AIS – MSIG” ทำ Sandbox เก็บเบี้ยตามขับจริง
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า บทบาทของสำนักงาน คปภ. ที่สำคัญ คือ การส่งเสริมธุรกิจประกันภัย โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานและให้บริการประชาชน รวมถึงส่งเสริมให้ประเทศไทยพัฒนาเป็น InsurTech Hub ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 ที่มุ่งหวังยกระดับการกำกับดูแลและส่งเสริมการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้มีความเหมาะสม ทันสมัย และเป็นไปตามมาตรฐานสากล จึงมีความยินดีที่มีการเปิดตัว “ประกันขับดี” ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้อนุมัติให้เข้าร่วมในโครงการทดสอบนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านประกันภัย หรือ Insurance Regulatory Sandbox เพื่อเป็นการหลอมรวมและเพิ่มขีดความสามารถของเทคโนโลยีในการสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม
ทั้งนี้ สติถิจากจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยสถิติข้อมูลสะสมช่วงมกราคมถึงพฤศจิกายน 2563 พบว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยมีเบี้ยประกันภัยรับตรงสะสมประมาณ 228,691 ล้านบาท ซึ่งประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจมีส่วนแบ่งเบี้ยประกันภัยรับตรงของธุรกิจประกันวินาศภัยสูงถึงร้อยละ 50 ดังนั้น หากโครงการกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ “ขับดี” ประสบผลสำเร็จก็จะเป็นการเปิดประตูให้ธุรกิจประกันภัยรถยนต์มีการกำหนดเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้เอาประกันภัยมากยิ่งขึ้น และอาจมีการพัฒนาไปถึงขั้นกำหนดเบี้ยประกันภัยเฉพาะบุคคลตามพฤติกรรมการขับขี่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอีกก้าวหนึ่งในการพัฒนาด้านการบริการของธุรกิจประกันวินาศภัย และก้าวต่อไปด้วยการนำเอาเทคโนโลยีที่เกิดใหม่เช่น Blockchain ,Artificial Intelligence: AI สามารถนำมาช่วยในกระบวนการพิจารณาการรับประกันภัยและการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ,และระบบจัดการกระบวนการแบบอัตโนมัติ (Robotics Process Automation: RPA) เข้ามาใช้ ในระบบฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านี้มาใช้จะเป็นผลให้ต้นทุนในธุรกิจประกันวินาศภัยลดลง ขณะที่การบริการสามารถที่จะให้บริการตรงกับผู้เอาประกันภัยได้ และเกิดความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการทดสอบนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านประกันภัย หรือ Insurance Regulatory Sandbox จะเป็นก้าวหนึ่งที่สำคัญในการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการประกันภัยรถยนต์ ตั้งแต่เริ่มต้นการพิจารณารับประกันภัย การคำนวณเบี้ยประกันภัย การแจ้งความเสียหายจนกระทั่งไปถึงการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัย ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการบริการลูกค้าและบริษัทประกันภัยเองก็สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยและบริการได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการและสอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าได้อย่างแท้จริง อาจเป็นการสร้าง Cusumer Experience ในรูปแบบใหม่ๆที่สามารถต่อยอดต่อไปอีกในอนาคต
นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงาน คปภ. กล่าวว่าโครงการ “Sandbox ” ยังเป็นโครงการทดลอง เพื่อให้บริษัทประกันภัยต่างๆ เข้าร่วมทดสอบการซื้อขายผลิตภัณฑ์แบบเสมือนจริง มีการทดลองให้บริการกับผู้บริโภคจริง ภายใต้ขอบเขตที่คปภ.จำกัดไว้ เช่น มีการให้ข้อมูลกับลูกค้า มีการป้องกันความเสี่ยง มีการคุ้มครองผู้บริโภค และภายใต้ขอบเขตนี้มีการดูแลผู้บริโภคอย่างดี มีการป้องกันความเสี่ยง ถ้าหากเกิดความเสียหายกับผู้บริโภคอาจมีการสั่งให้ยุติการดำเนินงาน และชดเชยเยียวยาผู้บริโภค ดังนั้นกฎระเบียบต่างๆในช่วงทดลองจึงจะยังไม่เต็มรูปแบบ ผลิตภัณฑ์ยังไม่ต้องรับความเห็นชอบจาก นายทะเบียน
สำหรับ ความพร้อมในผลิตภัณฑ์ของบริษัทประกันภัยที่จะออกมาอย่างเต็มรูปแบบนั้น ธุรกิจประกันภัยจะต้องมีความพร้อมในเรื่องของกรมธรรม์ประกันภัย การคิดเบี้ยประกัน ข้อมูลต้องซัพพอร์ทอย่างดี ผลิตภัณฑ์ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน เรื่องของการเสนอขายจะต้องมีประกาศจาก สำนักงาน คปภ. ให้มีการบริการลูกค้าด้วยความเป็นธรรม เรื่องของการเคลมจะต้องมีระบบรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ เป็นต้น ส่วนการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้นั้นก็จะต้องมีความพร้อมในเรื่องของการออกกรมธรรม์ การเคลม การบริการหลังการขายต่างๆ ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลานานประมาณ 1-2 ปี
นายรัฐพล กิติศักดิ์ไชยกุล กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจประกันภัยรถยนต์ ในปี 2563 มีเบี้ยประกันภัยรับทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 254,000 ล้านบาท เติบโต 3.9 เปอร์เซ็นต์ ใน 254,000 ล้านบาท เป็นประกันภัยรถยนต์ประมาณ 145,000 ล้านบาทหรือประมาณ 57 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของรถยนต์เติบโตประมาณ 1.4 เปอร์เซ็นต์ จะเห็นได้ว่า ตัวเลขเบี้ยประกันภัยรถยนต์เป็นจำนวนค่อนข้างสูงมากของเบี้ยประกันภัยทั้งหมด ฉะนั้นปริมาณรถยนต์ภายในประเทศยังขายได้อยู่แต่ยอดอาจจะลดลงมาบ้าง และสถานการณ์ตลาดประกันภัยรถยนต์ในปี 2563 ตัวเลขของเบี้ยประกันภัยลดลง แต่ในทางกลับกันด้วยสาเหตุจากสถานการณ์ COVID-19 มีการ Lockdown ช่วง มีนาคม-พฤษภาคม 2563 ทำให้คนใช้รถน้อยลงเป็นอย่างมาก ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและการทำงานใหม่ จากการเดินทางไปออฟฟิศมาเป็น Work from Home ทำให้ประกันภัยรถยนต์มีอัตราการเสียหายลดลง
“สิ่งหนึ่งที่บริษัท หลายๆบริษัทที่รับประกันภัยรถยนต์ลดลง มีเรื่องน่ายินดี ในตัวผลกำไรจากที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในส่วนของประกันภัยรถยนต์ ที่เห็นผลกำไรเป็นปีแรก ครั้งแรก อย่างบริษัทเองก็เห็นเป็นปีแรกในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา” นายรัฐพลกล่าว
ทั้งนี้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลให้ธุรกิจประกันต้องค้นหาโซลูชันที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุค New Normal จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่จะพัฒนาแผนประกันภัยรถยนต์ที่มีเบี้ยประกันภัยสมเหตุสมผล จ่ายเมื่อขับและหากไม่ได้ขับก็ไม่ต้องจ่าย เป็นไปตามพฤติกรรมการใช้งานของผู้ขับขี่รถยนต์จริงๆ ตาม concept ที่ว่า “ขับไม่เหมือนกัน ทำไมต้องจ่ายเท่ากัน”
นายรัฐพล กล่าวอีกว่า บริษัทได้ใช้เวลาพัฒนา ประกันขับดี กว่า 6 เดือนและพบว่า ต้องใช้อุปกรณ์ OBD II หรือ MSIG Car Informatics และซิมการ์ดทำงานร่วมกัน ทางบริษัทจึงได้เลือกใช้อุปกรณ์จาก AIS บริษัทที่มีสัญญาณครอบคลุมทั่วประเทศมากที่สุด โดย MSIG Car Informatics จะเก็บพฤติกรรมการใช้รถจาก 5 ตัวแปรหลัก ได้แก่ ระยะทาง / ความเร็ว / ระยะเวลาการขับขี่ / ช่วงเวลาการขับขี่ และพื้นที่การขับขี่ ประกันขับดีจะมีค่าเบี้ยประกันพื้นฐานรายปี โดยประกันรถยนต์ชั้น 1 เริ่มต้นที่ 6,499 บาท ประกันรถยนต์ 2+ ราคา 3,299 บาท ทุกทุนประกันภัยและรถทุกรุ่น หลังจากนั้นจะคิดค่าเบี้ยประกันตามการขับขี่
ซึ่งเบี้ยประกันจะถูกคำนวณเป็นรายวัน แต่ละวันก็จะไม่เท่ากัน แต่ละคนก็จะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับ 5 แฟคเตอร์ และเราจะรวบจากเบี้ยรายวันเพื่อคิดค่าเบี้ยประกันเป็นรายเดือน สามารถตรวจสอบเบี้ยได้เลยจากแอปพลิเคชันประกันขับดี การชำระเบี้ยจะตัดจากบัตรเครดิตที่ผูกไว้ตั้งแต่ลงทะเบียน
นอกจากนี้ ประกันขับดียังถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของประกันภัยรถยนต์ที่ใช้รูปแบบ Parametric ต้องเข้า Insurance Regulatory Sandbox เพื่อทดสอบนวัตกรรม ซึ่ง MSIG เห็นว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยรถยนต์ต่อผู้เอาประกันภัยหรือผู้บริโภคในอนาคต จึงได้นำเสนอและทางสำนักงาน คปภ. ก็ได้อนุมัติให้เข้าโครงการเรียบร้อยแล้ว”
นายอลิสแตร์ เดวิด จอห์นสตั้น กรรมการผู้จัดการหน่วยธุรกิจพัฒนาธุรกิจใหม่ เอไอเอส กล่าวว่า AIS Insurance Service ได้ร่วมพัฒนาอุปกรณ์ MSIG Car Informatics ที่ฝังอุปกรณ์ IoT ให้สามารถส่งสัญญาณผ่านโครงข่ายของเอไอเอส และประมวลผลเข้าสู่ระบบ Cloud ของ MSIG ได้อย่างแม่นยำ มีเสถียรภาพ ตรงตามพฤติกรรมการใช้งานจริงของลูกค้าแบบ Real Time อีกทั้งยังได้สนับสนุนช่องทางการชำระค่าบริการรายเดือนผ่านระบบ Digital Payment Gateway ที่ช่วยอำนวยสะดวกและมีความปลอดภัยสูงสุด โดยถือเป็นต้นแบบของ InsurTech ครั้งแรกเพื่อลูกค้า.
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com