สทนช.แผนแก้วิกฤติน้ำอีสานอย่างยั่งยืนชัดก.ย.
นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า การประชุมแนะนำโครงการและรับฟังความคิดเห็น โครงการศึกษาติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สทนช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เร่งดำเนินงานโครงการศึกษาติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมุ่งหวังให้ได้ข้อมูลประกอบการกำหนดแนวทางปรับปรุงบูรณาการการทำงานของหน่วยงานด้านน้ำของประเทศซึ่งมีอยู่กว่า 30 หน่วยงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้สามารถแก้ไขวิกฤติการณ์น้ำด้านต่างๆ ได้ตรงกับสภาพปัญหาและบริบทของพื้นที่นั้นๆ อย่างแท้จริง
โดยแม้ว่าที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามทุ่มเทเพื่อรับมือสถานการณ์ แต่ข้อเท็จจริงคือภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน และเกษตรกรยังปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ทาง สทนช. จึงเห็นว่า ข้อมูลเชิงพื้นที่ เป็นคำตอบสำคัญที่จะนำไปสู่การวางกรอบแนวทางเพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาได้อย่างเหมาะสม และยั่งยืน
“กำหนดกรอบประเด็นหลักในการศึกษาไว้ 4 มิติ คือ ด้านปริมาณน้ำ ด้านคุณภาพน้ำ ด้านองค์กรที่ครอบคลุมการทำงานของหน่วยงานปฏิบัติการ และคณะกรรมการลุ่มน้ำและองค์กรผู้ใช้น้ำ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ และมิติสุดท้ายคือ ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน จะจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชุมปรึกษาหารือกับผู้แทนหน่วยงานและคณะกรรมการลุ่มน้ำ ทั้งสิ้น 11 ครั้ง รวมทั้งจะทำการสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ครอบคลุมการดำเนินโครงการทุกลักษณะงานใน 3 ลุ่มน้ำ โดยได้พัฒนาแบบสอบถามเพื่อสัมภาษณ์ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่ครอบคลุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภาคส่วนต่างๆ นอกจากนั้นโครงการจะทำการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอุตุ-อุทกวิทยา แหล่งน้ำผิวดินและใต้ดิน ความต้องการใช้น้ำ คุณภาพน้ำ สภาพเศรษฐกิจและสังคม และปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำระบบ Web Application เพื่อนำเสนอข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ ใช้ประกอบการตัดสินใจ”
นายสำเริง กล่าวต่ออีกว่า “ในระยะนี้ สทนช. ได้จัดให้มีการศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในหลายเรื่อง และจะนำผลจากการศึกษาดังกล่าว ไปประกอบการกำหนดแนวทางปรับปรุงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ตลอดจนจัดทำเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ ทั้งในภาวะปกติ เพื่อรับมือกับปัญหาและแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านน้ำ อย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ” นายสำเริง กล่าว
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com