เทรนด์รักสุขภาพเริ่มมาชัดขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม, กิจกรรม, เวลาทำงาน, เวลาพักผ่อน แทบจะอยู่ที่บ้านเกือบ 100%  ดังนั้น วงจรชีวิตรูปแบบใหม่จึงเริ่มกลืนกินกันเอง ไม่มีการแบ่งเวลาให้ชัดเจนอย่างที่เคย จนลามมาถึงช่วงเวลาการนอนที่ถูกเบียดเบียนด้วยกิจกรรมอื่น

ในเมื่อกิจกรรมเราเปลี่ยนไป นาฬิกาชีวิตจึงเปลี่ยนตาม ซึ่งการนอนที่เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดที่จะฟื้นฟูความเหนื่อยล้าระหว่างวันได้ กลับมีเวลานอนน้อยลงเรื่อยๆ เพราะผู้คนเสพติดกิจกรรมตอนกลางคืนมากขึ้น ไม่ว่าจะเล่นมือถือ, ดูหนัง-ซีรีส์, เล่นเกม ฯลฯ

คำถามก็คือ ฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ฮอร์โมนที่ผลิตมากในตอนกลางคืนที่จะช่วยให้เรานอนหลับสนิท นอนหลับสบายจะได้รับผลกระทบไปด้วยหรือไม่ เพราะผลิตออกมาแล้วแต่เรากลับไม่นอนกันตามนาฬิกาชีวิตที่ควรจะเป็น

บทวิเคราะห์ของ David N. Neubauer, MD บนเว็บไซต์ Psychiatric Times ได้พูดถึงผลการศึกษาว่า ในเมื่อนาฬิกาชีวิตคนเราที่ต้องนอนให้เป็นเวลาพังลงเพราะกิจกรรมที่บ้านมันมากเกินไป ยาเสริมหรืออาหารเสริมที่มีส่วนผสมของเมลาโทนิน จำเป็นต่อร่างกายหรือไม่ เพราะอาจช่วยให้นอนหลับสนิทขึ้น (เพราะว่าเหลือเวลานอนเพียงไม่กี่ชั่วโมง)

คำตอบก็คือ “ไม่จำเป็น” ในกลุ่มคนที่สามารถปรับตารางการนอนได้ตามธรรมชาติ เพราะฮอร์โมนเมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่ผลิตได้เองตามธรรมชาติ แต่เมื่ออายุมากขึ้นระดับของฮอร์โมนเมลาโทนินจะลดลง แต่ไม่ได้หยุดการผลิตจนทำให้เราไม่หลับ ดังนั้น เราสามารถกระตุ้นการนอนหลับให้ดีขึ้นได้ ด้วยอาหารที่มีประโยชน์ เช่น สับปะรด กล้วย และ ส้ม ซึ่งมีสารบางอย่างที่ทำให้ระดับของฮอร์โมนเมลาโทนินเพิ่มขึ้นได้

แต่ไม่ควรกินยานอนหลับ หรืออาหารเสริมที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนตัวนี้ ซึ่งในสหรัฐอเมริกาจะอนุญาตให้กลุ่มคนที่สามารถกินได้ คือ คนที่มีปัญหาเรื่องการนอนจริงๆ ยานอนหลับก็ยังไม่ช่วย หรือ สารที่หลั่งในสมองบางอย่างทำงานอยู่ตลอดเวลาจนทำให้นอนหลับไม่ได้ ซึ่งการซื้อยาเสริมหรืออาการเสริมจะต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น

มีข้อถกเถียงเกิดขึ้นในวงการแพทย์ในสหรัฐฯ เกี่ยวกับยาที่เสริมด้วยเมลาโทนินว่า ทำไมถึงไม่ควรทานเพิ่มทั้งๆ ที่ฮอร์โมนตัวนี้ร่างกายเราสามารถผลิตได้เองอยู่แล้ว โดยแพทย์ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า ในขณะที่เรานอนหลับ อัตราการเต้นของหัวใจก็จะช้าลง ดังนั้น หากในร่างกายของเรามีฮอร์โมนตัวนี้มากเกินไป (overdose) จะทำให้การนอนหลับนานเกินความจำเป็นของนาฬิกาชีวิต อีกทั้งตอนที่เราตื่นขึ้นมาความ active ของร่างกายอาจไม่สมบูรณ์

ผลศึกษาจากผู้สมัครใจ (ไม่ระบุจำนวน) พบว่า หลังจากที่ทานยาเสริมที่มีฮอร์โมนเมลาโทนินผสม มีผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น ง่วงนอนในตอนกลางวัน (ทั้งที่ฮอร์โมนตัวนี้จะผลิตน้อยลงมากในช่วงที่มีแสง), ฝันร้ายบ่อยขึ้น และ ระบบเผาผลาญไม่เต็มที่เพราะสมองส่วนกลางจำว่าตอนนี้เรายังนอนหลับอยู่ เป็นต้น

อีกหนึ่งคำแนะนำจากทีมแพทย์สหรัฐฯ ที่พูดถึงฮอร์โมนเมลาโทนิน ก็คือ ฮอร์โมนตัวนี้จะผลิตน้อยลงกว่าปกติหากมีแสงสว่าง ดังนั้น เวลาที่เรานอนเล่นมือถือ, ดูหนังซีรีส์ ฯลฯ และเปิดไฟสว่างอยู่ มีส่วนทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนตัวนี้น้อยลง และทำให้เราไม่รู้สึกง่วง แต่ความเสี่ยงก็คือ หากพฤติกรรมนี้ยังอยู่กับเราเรื่อยๆ จะทำให้ระบบการผลิตฮอร์โมนเมลาโทนินผิดปกติ และสามารถผลิตออกมาในปริมาณมากในช่วงกลางวันได้ หรือ จากที่ผลิตประมาณ 8 ชั่วโมงในตอนกลางคืน อาจผลิตน้อยลงเหลือแค่ 5-6 ชั่วโมง ซึ่งนั่นจะส่งผลต่อร่างกายในระยะยาว และทำให้เราเหนื่อยล้าง่าย นอนเท่าไหร่ก็ไม่พอ พักนานแค่ไหนก็ไม่อิ่ม

ดังนั้น ข้อปฏิบัติที่ดีที่สุด คือ แบ่งเวลาชัดเจนว่าเข้านอนกี่โมง และหากจำเป็นต้องใช้ไฟช่วงเวลากลางคืน ควรเปลี่ยนเป็นแสงสีส้ม หรือเหลือง ไม่ใช่สีขาวสว่าง LED สุดท้ายนี้อยากจะย้ำด้วยประโยคของ ดร.Neubauer รองศาสตราจารย์ในภาควิชาจิตเวชศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์, Johns Hopkins University School of Medicine, Baltimore ที่พูดว่า “นาฬิกาชีวิตที่ดีที่สุด คือ นาฬิกาที่แบ่งเวลาชัดเจนและมีวินัย เพราะหากเราไม่ช่วยรักษาเสถียรภาพให้ร่างกาย ความผิดปกติจะปิดไว้ได้ไม่นานและมันก็จะปรากฏขึ้นสักวัน” 

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....