3 เทคนิค ซื้อกองทุน LTF

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปให้ความรู้พนักงานของธนาคารรัฐยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศในหัวข้อ Financial Literacy ซึ่งสนุกสนานมากครับ โดยเฉพาะช่วงถามตอบจากประสบการณ์จริง

หนึ่งในคำถามที่ผมคิดว่าน่าสนใจและคิดว่าอยากนำมาแชร์ต่อก็คือ เรื่อง การเลือกกองทุน LTF ที่จะเอาไปลดหย่อนภาษี ว่าเราควรจะเลือกซื้อกองไหนดี

เพราะทุกแห่งก็มักจะโฆษณาว่า กองทุนของตัวเองได้รับรางวัลยอดเยี่ยมบ้าง ผลตอบแทนย้อนหลังดีที่สุดบ้าง สรุปแล้วเหมือนจะดีทุกกอง เลยเลือกไม่ถูกว่าจะเลือกอย่างไรดี

เอาเป็นว่าถ้าเพื่อนๆ ยังเลือกไม่ถูก ผมก็ขอแนะนำเทคนิคส่วนตัวของผม 3 ข้อ ให้เพื่อนๆ เอาไปลองใช้กันครับ

1. ตัดสินใจก่อนว่าจะเลือกกองทุนแบบมีนโยบายจ่ายเงินปันผล หรือไม่ ซึ่งทั้งสองแบบนี้มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน คือ

กองทุน LTF ที่มีนโยบายจ่ายปันผล จะทำให้เรามีกระแสเงินสดรับตลอด หากกองทุนมีผลการดำเนินงานที่ดี และเราสามารถนำเงินปันผลนั้นกลับไปลงทุนเพิ่มได้อีก

แต่การที่เรารับเงินปันผลนั้น เงินปันผลของเราจะถูกหักภาษี ที่จ่าย 10% จึงทำให้เราได้รับเงินไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ต่างจากกองทุนที่มีนโยบายไม่จ่ายปันผลที่หากกองทุนมีกำไรตอนเราขายคืน ส่วนต่างของกำไรนั้นเราไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใดครับ

2. อย่าซื้อตามกระแส เพราะหลายครั้งผมได้ยินบ่อยมากว่าคนแห่ไปซื้อกองทุน LTF ตัวนั้นตัวนี้เนื่องจากตอนนี้ผลตอบแทนดีที่สุด อย่าลืมนะครับว่าเราต้องถือกองทุนนี้ต่อไปอีกอย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน

ดังนั้น ผมตั้งเกณฑ์ว่า กองทุน LTF ที่ผมจะลงทุนนั้นควรมีผลการดำเนินงานย้อนหลังติดอันดับอยู่ในควอไทล์แรก ในช่วง 1 ปี 3 ปี และ 5 ปีย้อนหลังทุกช่วงเวลา

(*กองทุน LTF ที่ติดควอไทล์แรก หมายถึงกองทุนที่มีผลการดำเนินงานย้อนหลังอยู่ใน 25% แรก เมื่อเทียบกับกองทุน LTF ทั้งหมด)

เพราะไม่มีทางที่กองทุน LTF ใดที่จะมีผลตอบแทนย้อนหลังเป็นอันดับหนึ่งได้ตลอดเวลา แต่อย่างน้อยเราก็เลือกกองทุนไหนติดอันดับต้นๆ ตลอด มันก็แสดงให้เห็นถึงความสม่ำเสมอของกองนั้นๆ ได้ในระดับหนึ่ง

ส่วนที่ผมเลือกที่จะไม่มองผลตอบแทนระยะ 1 เดือน 3 เดือน หรือ 6 เดือน เพราะมันระยะสั้นเกินไปในการวัดผลการดำเนินงานของกองทุนหุ้น ส่วนผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปีนั้น ก็นานเกินไปที่จะนำมาเปรียบเทียบเช่นกันครับ

3. ให้พิจารณาที่ค่าธรรมเนียมการซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุน (Front-End Fee / Back-End Fee) และค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุน (Management Fee) ประกอบการตัดสินใจด้วย

โดยกองทุน LTF ส่วนใหญ่มักจะยกเว้นค่าธรรมการซื้อและขายคืนหน่วยลงทุนอยู่แล้ว แต่ก็มีบางกองที่ไม่ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมในส่วนนี้นะครับ ส่วนค่าธรรมเนียมการจัดการนั้นก็จะเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5 – 2.0% ต่อปี ไม่ต่างกันมาก

ดังนั้นเราต้องพิจารณาให้ดีว่า ผลตอบแทนที่ปรากฏนั้น เมื่อหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ของกองทุนแล้ว เราจะได้รับผลตอบแทนสุทธิเท่าไหร่

ทั้งหมด นี้ก็เป็นเทคนิคส่วนตัวง่ายๆ ที่ผมใช้ในการเลือกกองทุน LTF ของผมเอง และอยากจะมาแชร์ต่อให้เพื่อนๆ เอาลองใช้กันดูครับ

แต่อย่าลืมนะครับว่าการลงทุนมีความเสี่ยง และเราควรศึกษาก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง ส่วนเพื่อนๆ คนไหนที่อยากพูดคุยหรือสอบถามเรื่องการลงทุน ก็สามารถเข้าไปพูดคุยสอบถามกับผมกันได้ที่ https://www.facebook.com/drpeerapat.fและตอนนี้ผมได้ทำ Youtube Channel ที่ชื่อว่า Dr.Peerapat ซึ่งรวบรวมคลิปเรื่องการวางแผนการเงินและกฎหมาย ที่ผมไปออกรายการต่างๆ ไว้นะครับ

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....