ราคาสินค้าเกษตรหลักของไทยในปี 2566 คงได้รับแรงหนุนจากจีนเปิดประเทศ ดันความต้องการและช่วยพยุงราคาได้ระดับหนึ่ง ซึ่งคงชดเชยแรงฉุดด้านราคาจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยมีทั้งกลุ่มที่ราคาปรับขึ้นและลดลงปะปนกันไปตามแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรโลก โดยสินค้าเกษตรในกลุ่มที่น่าจะมีราคาปรับขึ้นจากปีก่อน คือ ข้าวและมันสำปะหลัง ขณะที่กลุ่มที่อาจมีราคาปรับลดลงจากปีก่อน แต่ก็ยังเป็นระดับที่ค่อนข้างสูง คือ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอ้อย
ทั้งนี้ ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ที่อยู่ในระดับสูงและความไม่แน่นอนด้านอุปทาน ตลอดจนการรับมือกับประเด็นความยั่งยืนที่เป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น อาจกระทบธุรกิจปลายน้ำที่ใช้พืชเกษตรเป็นวัตถุดิบให้เผชิญความท้าทาย ทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องวางแผนบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่องราคาสินค้าเกษตรไทยปี 2566 คาดมีทั้งกลุ่มที่ราคาขึ้นและลง ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรโลก
แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรโลกปี 2566 ให้ภาพที่ปะปนกันมีทั้งกลุ่มที่ราคาปรับขึ้นและลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ตามความเสี่ยงของความไม่แน่นอนด้านอุปทาน และแรงหนุนจากการเปิดประเทศของจีน รวมถึงต้องจับตาต้นทุนการผลิตที่ยังผันผวนสูง โดยสามารถแบ่งสินค้าเกษตรออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ราคาปรับขึ้น คือ ข้าวและมันสำปะหลัง เป็นกลุ่มพืชอาหารที่มีอุปสงค์รองรับดีตามความต้องการเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร โดยเฉพาะจีนที่มีการเปิดประเทศ และกลุ่มที่ราคาปรับลดลง คือ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และน้ำตาล เป็นกลุ่มพืชอาหาร/พืชพลังงาน/พืชที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งคงขึ้นกับอุปทานเป็นหลัก และมีความท้าทายสอดคล้องไปกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีความผันผวนสูง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
คาดการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรโลก ปี 2566
สินค้าโภคภัณฑ์เกษตรโลก |
รายละเอียด |
|
กลุ่มราคาปรับขึ้น โดยมีอุปสงค์ผลักจากจีนเปิดประเทศและ Food Security |
ข้าว |
ความต้องการข้าวโลกมีรองรับเพิ่มขึ้นจากจีนเปิดประเทศและเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งความต้องการมีมากกว่าผลผลิตที่โลกผลิตได้ (ผลผลิตอินเดียถูกฉุดจากภัยแล้ง) ทำให้สต็อกข้าวโลกลดลง รวมไปถึงอินเดียและเวียดนามอาจส่งออกลดลง ดันราคาข้าวโลก |
มันสำปะหลัง |
จีนซึ่งเป็นผู้บริโภคมันสำปะหลังรายใหญ่ของโลก มีสต็อกข้าวโพดลดลงและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต อีกทั้งการผลิตมันสำปะหลังของจีนยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ เนื่องจากจีนเปิดประเทศ ดันความต้องการใช้มันสำปะหลังพุ่ง เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์และอาหารสัตว์ที่เติบโตดี |
|
กลุ่มราคาปรับลดลง โดยถูกฉุดจากอุปทาน เนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงท่ามกลางสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย |
ยางพารา |
โลกเผชิญภาวะอุปทานยางส่วนเกิน ทั้งไทย อินโดนีเซีย และเวียดนามที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น จะกดดันราคา อีกทั้งราคายางพารายังมีทิศทางสอดคล้องไปกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อาจผันผวนลดลงจากที่พุ่งสูงในปีก่อน |
ปาล์มน้ำมัน |
ราคาน้ำมันปาล์มโลกคงลดลงตามอุปทานที่เพิ่มขึ้น ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย จากปัญหาขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยวผลปาล์มที่คลี่คลายมากขึ้น ดันปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มโลกพุ่งสูง และกดดันราคา |
|
น้ำตาล |
ราคาน้ำตาลโลกอาจลดลงตามผลผลิตบราซิลที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก ขณะที่ผลผลิตอินเดียอาจลดลงจากภัยแล้ง และจีนเปิดประเทศ อาจช่วยหนุนราคาให้ปรับลดลงไม่มากนัก |
ที่มา: ข้อมูลจาก USDA (As of March 2023) และศูนย์วิจัยกสิกรไทย
มองมาที่ประเทศไทย ในฐานะที่ไทยมีบทบาทเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับต้นๆ ของโลก และพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ทำให้ราคาสินค้าเกษตรของไทยจึงต้องขึ้นอยู่กับราคาในตลาดโลกเป็นสำคัญ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาสินค้าเกษตรหลักของไทยในปี 2566 คงเป็นไปตามแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรในตลาดโลกที่มีทั้งกลุ่มที่ปรับขึ้นและลดลงปะปนกันไป โดยไทยคงได้รับอานิสงส์จากการที่จีนเปิดประเทศ จะช่วยดันความต้องการสินค้าเกษตรให้เพิ่มขึ้นและช่วยพยุงราคาได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งคงชดเชยแรงฉุดด้านราคาจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและอุปทานที่ผ่อนคลายลงจากปีก่อน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
กลุ่มราคาปรับเพิ่มขึ้น คือ ข้าวและมันสำปะหลัง เป็นกลุ่มที่ได้รับแรงหนุนด้านราคามาจากฝั่งอุปสงค์เป็นหลัก ตามความต้องการของจีนที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศ และความมั่นคงด้านอาหาร
กลุ่มราคาปรับลดลง คือ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอ้อย เป็นกลุ่มที่ได้รับแรงฉุดด้านราคาในฝั่งอุปทานเป็นหลัก ตามผลผลิตที่อยู่ในระดับสูงจากภาพรวมสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย นอกจากนี้ จากการที่สินค้าเกษตรกลุ่มนี้ยังเป็นพืชที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมและเป็นพืชน้ำมันเพื่อนำไปผลิตพลังงาน จึงอาจได้รับแรงฉุดด้านราคาจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีความผันผวนสูงด้วย
อย่างไรก็ดี ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรไทยยังคงทรงตัวในระดับสูง และมีความเป็นไปได้น้อยที่จะกลับไปอยู่ในระดับต่ำเช่นในอดีต ด้วยหลายปัจจัยเสี่ยงที่ยังดันราคา ตามปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อุปทานโลกยังคงตึงตัว เช่น ปริมาณสต็อกธัญพืชโลกที่ยังอยู่ในระดับต่ำ สภาพภูมิอากาศแปรปรวน ประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ มาตรการจำกัดการส่งออกโดยหลายประเทศ โรคระบาดในพืช และต้นทุนการผลิตที่ผันผวนสูง ล้วนกดดันปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตร และดันราคาให้ยังยืนสูง
ธุรกิจปลายน้ำที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบตั้งต้น เผชิญความท้าทายมากขึ้น ทั้งต้นทุนราคาวัตถุดิบสูงและต้นทุนเพิ่มเติมด้านมาตรการสิ่งแวดล้อมของคู่ค้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจปลายน้ำที่ใช้พืชเกษตรเป็นวัตถุดิบตั้งต้น คงต้องเผชิญราคาวัตถุดิบที่อยู่ในระดับสูงและความไม่แน่นอนด้านอุปทานที่อาจกระทบต่อสายการผลิต ท้ายสุด จะกระทบไปยังผลประกอบการหรือกำไรของธุรกิจให้อาจผันผวน ดังนั้น ธุรกิจจำเป็นต้องบริหารจัดการด้านต้นทุนการผลิตหรือบริหารสต็อกในแต่ละช่วงเวลา รวมไปถึงการจัดหาแหล่งวัตถุดิบราคาถูกหรือแหล่งผลิตที่มีวัตถุดิบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้สายการผลิตต้องหยุดชะงัก นอกจากนี้ อาจพิจารณาปรับเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบทดแทนอื่น ในจังหวะที่วัตถุดิบหลักค่อนข้างตึงตัว
นอกจากภาคธุรกิจจะต้องแบกรับต้นทุนราคาวัตถุดิบที่ยืนสูงมาตั้งแต่ช่วงก่อนหน้าแล้ว ยังต้องเผชิญกับต้นทุนเพิ่มเติมในประเด็นความยั่งยืน (Sustainability) ที่ปัจจุบันผู้บริโภคหรือตลาดคู่ค้ามีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา เช่น
กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free products) ของยุโรป ซึ่งมียางพาราและปาล์มน้ำมันรวมอยู่ด้วย ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมิ.ย.2566
Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของยุโรป ที่จะเริ่มในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transitional Period) ในเดือนต.ค.2566 จนถึงปี 2568 ซึ่งจะเป็นการรายงานข้อมูลตามกลไกของ CBAM และจะเริ่มบังคับใช้การเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนเต็มรูปแบบในปี 2569 ทั้งนี้ แม้ในระยะแรกจะมีเป้าหมายใช้ในอุตสาหกรรมหนักอย่างเหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอะลูมิเนียม แต่ในอนาคต อาจมีความเป็นไปได้ที่จะขยายมาตรการนี้ให้ครอบคลุมสินค้าในกลุ่มเกษตรและอาหารด้วย
ประเด็นนี้ แม้อาจเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจที่สามารถปรับตัวได้ แต่ขณะเดียวกัน ก็คงจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ ที่ก็กำลังเผชิญความท้าทายจากความสามารถในการแข่งขันของพืชเกษตรของไทยที่มีแนวโน้มลดลงอยู่แล้วด้วย
ไทยมีปริมาณการส่งออกยางพาราและมันสำปะหลังเป็นอันดับ 1 ของโลก และมีปริมาณการส่งออกข้าวและน้ำตาลเป็นอันดับ 3 ของโลก
ยูเครน-รัสเซีย ได้ต่ออายุข้อตกลงส่งออกธัญพืชต่อไปอีกอย่างน้อย 60 วัน จากเดิมที่ได้สิ้นสุดในวันที่ 18 มี.ค.2566 จะเป็นการเปิดทางให้ยูเครนสามารถส่งออกธัญพืชผ่านช่องทางทะเลดำได้ (ข้อมูลจากสำนักข่าวบีบีซี เอพี และรอยเตอร์) อาจช่วยให้ปริมาณการค้าธัญพืชโลกคล่องตัวมากขึ้น และทำให้ราคาไม่เร่งขึ้น
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com