ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดปีใหม่ 61 คนกรุงใช้จ่าย 29,600 ลบ.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 จะอยู่ที่ 29,600 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้ว่ามาตรการช็อปช่วยชาติในปีนี้จะออกมาเร็วกว่าปีก่อนๆ แต่ผู้ประกอบการก็มีการกระตุ้นการขายต่อเนื่องไปตลอดทั้งช่วงเทศกาล อย่างไรก็ดี กำลังซื้อของผู้บริโภคในภาพรวมยังถูกกดดันด้วยหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงความกังวลกับกำลังซื้อในอนาคต ทำให้การวางแผนใช้จ่ายของผู้บริโภคยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้มีฐานรายได้ต่อเดือนไม่สูงมาก

โดยเม็ดเงินใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 แยกเป็นค่าใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่ม 9,000 ล้านบาท รองลงมาคือ ท่องเที่ยวในประเทศ (เฉพาะค่าที่พักและค่าเดินทาง) 8,200 ล้านบาท ซื้อของขวัญ/ของฝาก (ทั้งมอบให้ตัวเองและผู้อื่น) 8,100 ล้านบาท การให้เงินพ่อแม่/พี่น้องเป็นของขวัญปีใหม่ 2,000 ล้านบาท และทำบุญ/ไหว้พระ 1,600 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ (อาทิ ดูหนัง ฟังเพลง) 700 ล้านบาท ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ได้แก่ ค่าซื้อของขวัญ/ของฝาก และท่องเที่ยวในประเทศ (เฉพาะค่าที่พักและค่าเดินทาง) ในขณะที่งบประมาณใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 5,400 บาท

ทั้งนี้คนกรุงฯ ร้อยละ 75 เลือกจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการจากร้านค้าปลีกที่มีหน้าร้าน (Offline) นำโดยห้างสรรพสินค้า ตามมาด้วยดิสเคาน์สโตร์และร้านขายของฝากทั่วไป ชี้ให้เห็นว่า ร้านค้าปลีกที่มีหน้าร้านยังตอบสนองไลฟ์สไตล์ในการจับจ่ายคนกรุงฯ ได้เป็นอย่างดี ส่วนกระแสช็อปปิ้งออนไลน์ (คนกรุงฯ ร้อยละ 25 เลือกใช้จ่ายผ่านช่องทางนี้) ก็ถือว่ามาแรงไม่น้อยเช่นกัน เพราะจากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างพบว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มหันมาจับจ่ายผ่านช่องทางนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงาน ซึ่งการสั่งซื้อที่ได้ความนิยมสูงคือ การสั่งซื้อผ่านช่องทาง Social Commerce อาทิ Facebook/ Instagram/ Line เพราะมีการเข้าถึงอยู่เป็นประจำ

นอกจากนี้เทศกาลปีใหม่ 2561 คาดคนกรุงฯ ยังเดินและทำกิจกรรมในห้างสรรพสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการนัดเลี้ยงสังสรรค์/ กินข้าวกับครอบครัวและเพื่อนฝูง ช็อปปิ้งเลือกซื้อสินค้าของขวัญ/ของฝาก ดูหนัง/ ฟังเพลง ฯลฯ ซึ่งจุดขายสำคัญของห้างสรรพสินค้าที่ดึงดูดใจให้คนเข้ามาใช้บริการก็คือ การสร้างบรรยากาศและประสบการณ์ในการช็อปปิ้งใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคเข้ามาสัมผัส จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลการสำรวจจะพบว่า คนกรุงฯ กว่าร้อยละ 37 ที่สนใจเข้ามาเดินเลือกซื้อสินค้าผ่านหน้าร้าน เพราะต้องการสัมผัสสินค้าจริง ทดลองชิม/ ใช้ และสามารถซื้อได้ทันทีหากถูกใจ รองลงมาคือ เข้ามาเดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจ (ร้อยละ 19) และร่วมกิจกรรมหรืออีเว้นท์ที่จัดขึ้น (ร้อยละ 19)

โดยสรุป เทศกาลปีใหม่ถือเป็นไฮไลท์การทำตลาดที่สำคัญงานหนึ่งของปี ที่ทุกธุรกิจหวังจะใช้โอกาสนี้เพิ่มยอดขาย แต่ในยุคที่ร้านค้าปลีกที่มีหน้าร้านอย่าง ห้างสรรพสินค้า เริ่มประสบปัญหาในเรื่องของยอดขายและจำนวนลูกค้าที่ลดลง จากพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีการใช้จ่าย และมีทางเลือกหลากหลายในการเลือกซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น การสร้างประสบการณ์ที่ดีในการช็อปปิ้งให้เกิดกับผู้บริโภค เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่คาดว่าจะช่วยดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการ รักษาฐานลูกค้าที่มีอยู่ ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าและบริการได้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเจาะกำลังซื้อในช่วงเทศกาลปีใหม่เท่านั้น ยังครอบคลุมไปถึงเทศกาลสำคัญอื่นๆ ที่ผู้บริโภคจะออกมาจับจ่ายใช้สอยมากกว่าปกติ อาทิ ตรุษจีน สงกรานต์ เปิดเทอม หรือกินเจ เป็นต้น

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....