ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าความเสียหายของข้าวนาปีจากผลกระทบของน้ำท่วมในช่วงเดือนส.ค.-ต.ค.2565 น่าจะอยู่ที่ราว 2,900-3,100 ล้านบาท และน่าจะดันราคาข้าวให้ประคองตัวในระดับสูงได้ในช่วงนี้ มองต่อไป ในช่วงเดือนต.ค.2565 ไทยน่าจะยังได้รับอิทธิพลจากพายุเขตร้อนอยู่ ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณน้ำฝนให้อยู่ในระดับสูง เนื่องจากยังไม่สิ้นสุดฤดูฝน และอาจมีพายุเข้ามาเพิ่มเติมได้อีก จึงยังคงต้องจับตาถึงระดับความรุนแรง/จำนวนลูกของพายุที่อาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวนาปี เนื่องจากเป็นช่วงที่กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตมากขึ้น ซึ่งหากมีความรุนแรงเพิ่มจนทำให้พื้นที่ข้าวนาปีได้รับผลกระทบและเสียหายขยายเป็นวงกว้างขึ้น ก็อาจทำให้มูลค่าความเสียหายของข้าวนาปีในปี 2565 สูงกว่ากรอบบนที่ประเมินไว้ในเบื้องต้น

  • สถานการณ์น้ำที่เริ่มส่อแววรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อไทยตั้งแต่เดือนส.ค.2565 จากอิทธิพลของพายุมู่หลาน และในขณะนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ไทยจะได้รับอิทธิพลจากพายุไต้ฝุ่นโนรู ที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยในราวปลายเดือนก.ย.นี้ และอาจมีพายุลูกใหม่เข้ามาเพิ่มเติมได้อีกในช่วงเดือนต.ค. ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกชุกต่อเนื่อง[1] น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ที่จะส่งผลกระทบต่อพืชเกษตรในฤดูกาลอย่างข้าวนาปี ซึ่งเกษตรกรได้ดำเนินการปลูกไปแล้วเป็นส่วนใหญ่[2] และอาจสร้างผลกระทบต่อผลผลิตข้าวนาปีที่กำลังทยอยเก็บเกี่ยวออกสู่ตลาดในช่วงเดือนส.ค.-ต.ค.คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 22.3 ของปริมาณผลผลิตข้าวนาปีทั้งปีนี้
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนส.ค.-ต.ค.2565 จะทำให้ผลผลิตข้าวนาปีที่กำลังทยอยเก็บเกี่ยวออกสู่ตลาดอาจได้รับความเสียหาย และเมื่อผนวกกับพายุที่จะเข้ามาและทำให้เกิดการไหลของน้ำที่ท่วมหลาก และในบางพื้นที่อาจมีการแช่ขังของน้ำในระดับสูง คาดว่าจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวนาปีที่มูลค่าราว 2,900-3,100 ล้านบาท และอาจดันราคาข้าวเฉลี่ยในช่วงนี้ให้ประคองตัวในระดับสูงได้ที่ราว 10,000-11,000 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงเมื่อเทียบกับช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 ที่มีราคาข้าวเฉลี่ยราว 10,165 บาทต่อตัน

หมายเหตุ:

– * เป็นข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ตามรายงานตัวเลขผลผลิตข้าวนาปีแบบเต็มปี

– ** เป็นการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย โดยเป็นการประเมินในช่วงเดือนส.ค.-ต.ค.2565 ตามตัวเลขพื้นที่ข้าวได้รับผลกระทบตั้งต้นที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงาน ตั้งแต่ส.ค.-28 ก.ย.2565 ที่ 974,463 ไร่ และมองต่อไปในเดือนต.ค.2565 คาดว่า พายุจะมีความรุนแรงขึ้นและอาจมีพายุลูกใหม่เข้ามาเพิ่มเติมได้อีก ทำให้พื้นที่ได้รับผลกระทบและพื้นที่เสียหายในเดือนต.ค.น่าจะเพิ่มขึ้นกว่าในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. อีกทั้งราคาข้าวเฉลี่ยและผลผลิตต่อไร่ (Yield) ที่สูงกว่าปีก่อน ทำให้มูลค่าความเสียหายของข้าวนาปีจากน้ำท่วมอาจมากกว่าปี 2564

  

  • ทั้งนี้ คงต้องจับตาสถานการณ์น้ำที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากยังไม่สิ้นสุดฤดูฝน และอาจมีพายุเข้ามาเพิ่มเติมได้อีก ซึ่งมองต่อไป ในช่วงเดือนต.ค.2565 ไทยน่าจะยังได้รับอิทธิพลจากพายุเขตร้อนอยู่ ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณน้ำฝนให้อยู่ในระดับสูง จึงยังคงต้องจับตาถึงระดับความรุนแรง/จำนวนลูกของพายุที่อาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวนาปี เนื่องจากเป็นช่วงที่กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตมากขึ้น ซึ่งหากภาวะฝนมีความรุนแรงเพิ่มจนทำให้พื้นที่ข้าวนาปีได้รับผลกระทบและเสียหายขยายเป็นวงกว้างขึ้น ก็อาจทำให้มูลค่าความเสียหายของข้าวนาปีในปี 2565 สูงกว่ากรอบบนที่ประเมินไว้ในเบื้องต้น
  • โดยสรุป ในภาพรวมผลผลิตข้าวนาปีทั้งปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลผลิตข้าวนาปีในปี 2565 อาจได้รับผลกระทบ ทั้งจากราคาปุ๋ยเคมีในระดับสูงและความเสียหายจากน้ำท่วม กดดันผลผลิตข้าวนาปีให้อยู่ที่ราว 24-25 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 5.3-9.1(YoY) และเมื่อผนวกกับผลผลิตข้าวนาปรังในปีนี้ ที่คาดว่าอาจเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ราว 7.2 ล้านตัน ก็อาจดันให้ภาพรวมผลผลิตข้าวรวมทั้งปี 2565 อาจอยู่ที่ราว 31.2-32.2 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับปีก่อนที่ราว 31.7 ล้านตัน และยังเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
  • อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนพ.ย.2565 คงต้องติดตามสถานการณ์ผลผลิตข้าวที่เป็นช่วงผลผลิตข้าวนาปีออกสู่ตลาดจำนวนมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 65 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งปี ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่สถานการณ์ฝนตกหนักได้คลี่คลายลงไปแล้วจากการสิ้นสุดฤดูฝน ทำให้มีความชื้นในดินและด้วยปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวยในพื้นที่ส่วนใหญ่ อาจช่วยหนุนผลผลิตข้าวให้เพิ่มขึ้นได้ แต่เกษตรกรคงต้องเผชิญการถูกกดราคาจากความชื้นของข้าวที่สูง ทำให้ราคาข้าวในช่วงนี้อาจมีทิศที่ปรับตัวลดลงจากช่วงก่อนหน้าตามปัจจัยฉุดด้านฤดูกาลด้วย
  • แม้การประเมินตัวเลขความเสียหายต่อข้าวในปีนี้อาจมีมูลค่าไม่มากเมื่อเทียบกับในอดีตที่มีน้ำท่วมรุนแรงของไทยเช่นในปี 2554 (ราว 51,000 ล้านบาท) 2560 (ราว 17,000 ล้านบาท) และ 2562 (ราว 9,500 ล้านบาท)[1] ทั้งในมิติของมูลค่าความเสียหายของข้าว และความสูญเสียทางเศรษฐกิจในภาพรวมระดับประเทศ แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสุดขั้วที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้หากเกิดภัยธรรมชาติขึ้นในอนาคต ความเสียหายต่อพื้นที่ทางการเกษตรอาจจะยิ่งมีมากขึ้นได้ สำหรับในระดับภูมิภาค ผลกระทบจากน้ำท่วม นอกจากจะสร้างความเสียหายต่อภาคเกษตรแล้ว ยังอาจซ้ำเติมต่อภาคครัวเรือนที่เดิมเผชิญความเปราะบางด้านกำลังซื้อ ค่าครองชีพและหนี้ที่สูง นอกจากนี้ ในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.2565 อาจต้องจับตาสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ที่อาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเกษตรหลักในภาคใต้อีกด้วย

[1] มูลค่าความเสียหายของข้าวจากน้ำท่วม คำนวณจาก (พื้นที่ข้าวที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมตามรายงานของภาครัฐ*Yield) * ราคาข้าวเฉลี่ย

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....