“พีค รี”ยักษ์ประกันภัยต่อจากฮ่องกงเผยสำรวจชี้ชัด หลังโควิด ชนชั้นกลางในเอเชียประสบเจอเสี่ยงด้านสุขภาพจิต–ความปลอดภัยทางไซเบอร์ทั้งการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต แฮ็กข้อมูลส่วนบุคคล มัลแวร์ที่ระบาดหนัก ขณะที่ประกันที่ทำไว้มีช่องว่างอีกเยอะเพราะคุ้มครองไม่ครอบคลุม จี้ภาคประกันภัยเทคแอคชั่นเร่งดูแล ย้ำแม้เจอความเสี่ยงรอบด้านแต่ผู้บริโภคยังมีมุมมองบวก จับตา!ประกันสุขภาพจิต–ประกันไซเบอร์ตอบโจทย์
เว็บไซต์ Insurance Business America รายงานว่า บริษัท พีค รี ผู้รับประกันภัยต่อชั้นนำระดับโลกจากฮ่องกง เปิดเผยผลสำรวจล่าสุดเกี่ยวกับมุมมองของผู้บริโภคชนชั้นกลางในเอเชียประจำปี 2566 ที่ได้ดำเนินการร่วมกับ Intuit Research โดยการสำรวจในปีนี้ได้เจาะลึกถึงความต้องการและทัศนคติของผู้บริโภคด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดีทางด้านจิต และความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญในด้านเหล่านี้
ผลการสำรวจพบว่า ชาวชนชั้นกลางในเอเชียมากกว่า 4 คนใน10 คนประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ชาวชนชั้นกลางในเอเชียยังคงมองโลกในแง่ดี ในขณะเดียวกันก็ยอมรับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตและความปลอดภัยทางไซเบอร์ไปพร้อมๆ กัน โดยเมื่อต้องเผชิญกับการวินิจฉัยโรคร้ายแรง กลุ่มคนเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการวางแผนทางการเงิน (18%) การเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญระดับสูง (18%) ข้อมูลเกี่ยวกับโรค (13%) และการขอความเห็นทางการแพทย์ครั้งที่สอง (12 %)
ในขณะเดียวกัน ชาวชนชั้นกลางในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียที่เข้าร่วมผลสำรวจในครั้งนี้จำนวน 43% บอกว่า เคยประสบหรือได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการทางจิตในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจเพียงประมาณ 50% เท่านั้นที่บอกว่า แผนประกันภัยที่พวกเขาทำไว้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้านสุขภาพจิต
ผลการสำรวจยังพบอีกว่า 65% ของชาวชนชั้นกลางในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียประสบปัญหาด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งรวมถึงการกลั่นแกล้งกันทางอินเทอร์เน็ต ,การถูกแฮ็กข้อมูล, มัลแวร์(Malware) , Phishing (หนึ่งในภัยคุกคามประเภท Fraud ที่มีรูปแบบการหลอกลวงบนโลกออนไลน์ผ่านการแอบอ้างเป็นเว็บไซต์หรืออีเมลที่น่าเชื่อถือ ) หรือการขโมยข้อมูลระบุตัวตน เป็นต้น โดยความกังวลหลักเกี่ยวกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามคือการสูญเสียทางการเงิน ควบคู่ไปกับความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อเครดิตส่วนบุคคล การหยุดชะงักในชีวิตประจำวัน และความเสียหายทางอารมณ์
การสำรวจยังติดตามเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติและพฤติกรรมของชาวชนชั้นกลางเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งการสำรวจพบว่า ชาวชนชั้นกลางในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียยังคงมองโลกในแง่ดีอยู่ โดย 52% ของผู้ตอบแบบสอบถามในปี 2566 คาดว่าจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งงานในระดับที่สูงขึ้น ตัวเลขนี้ยังคงสอดคล้องกับสถิติของปี 2566 ที่ 51%
หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 50% บอกว่า ได้กลับไปทำงานของพวกเขาแล้ว โดยเลือกใช้รูปแบบการทำงานแบบผสมผสาน ( hybrid working model )คือการทำงานที่บ้านหรือนอกสถานที่ทำงานกับการทำงานในที่ทำงานเหมือนก่อนเกิดโควิด-19 นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามยังแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้นในกิจกรรมทั้งในร่มและกลางแจ้ง โดยมีการทำกิจกรรมทั้งสองประเภทมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
“สุขภาพจิตและความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นความเสี่ยงสำคัญสองประการที่ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในชีวิตประจำวัน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นประเด็นเร่งด่วนที่สมควรได้รับความสนใจอย่างใกล้ชิดในภูมิภาคเอเชีย ถึงเวลาแล้วที่อุตสาหกรรมประกันภัยจะต้องพิจารณาว่าเราจะช่วยให้การสนับสนุนและปกป้องสังคมให้ดีขึ้นได้อย่างไรเพื่อร่วมสร้างความยืดหยุ่นด้านสุขภาพจิตและความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับผู้บริโภคในเอเชีย ” Clarence Wong หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์บริษัท พีค รี กล่าวสรุป
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com