ประกันทรัพย์สินย่านเอเชีย แปซิฟิคขยายตัวต่อเนื่อง คาด 5 ปีเติบโตปีละ 11.3% เบี้ยประกันกว่า  1.4แสนล้านบาทในปี 2570  เหตุความต้องการที่เพิ่มขึ้นในภาคการก่อสร้างและพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน  ภาคเกษตร บวกยุค Hard Market เบี้ยประกันแพง   3ชาติมหาอำนาจกลุ่ม TopThree   “จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย” ยึดเบ็ดเสร็จ แชร์76% 

            เว็บไซต์(  The Insurer) รายงานว่า บริษัท โกลบอลดาต้า (GlobalData)  บริษัทจัดทำข้อมูลและวิเคราะห์ตลาดชั้นนำ ฉายภาพแนวโน้มธุรกิจประกันภัยทรัพย์สินในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค(APAC)คาดว่า ในระยะ5 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2570 จะมีอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR)  อยู่ที่ 11.3 %  เบี้ยประกันภัย 1.418 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับในปี2566 ที่น่าจะจบปีด้วยเบี้ยประกันภัยประมาณ 9.23  หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

การเติบโตจะมีแรงผลักดันจากปัจจัยบวกหลายประการ  อาทิ ความต้องการความคุ้มครองความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นมากขึ้น  การลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure projects)  ผลิตภัณฑ์ประกันภัยนวัตกรรมใหม่  กฎระเบียบต่างๆ เป็นต้น

สำหรับตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค 3 ตลาด ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาด(market share) รวมกันประมาณ76%  ของเบี้ยประกันภัยทรัพย์สินทั้งหมดในภูมิภาค

โกลบอลดาต้ากล่าวว่า   จีน ซึ่งปัจจุบันเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคโดยมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ประมาณ  35.3 % คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี อยู่ที่ 14.4 % ในอีก 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากความต้องการความคุ้มครองภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Manogna Vangari นักวิเคราะห์ด้านประกันภัยบริษัท โกลบอลด้าต้าให้ความเห็นว่า การประกันภัยแบบพาราเมตริก(Parametric )  จะมีบทบาทสำคัญในการเติบโตดังกล่าว เนื่องจากในตลาดมีความสนใจระบบประกันภัยแบบพาราเมตริกเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2566 เป็นต้นมา  เมื่อคณะกรรมการกำกับดูแลภาคการธนาคารและการประกันภัยของจีน( China Banking and Insurance Regulatory Commission) ให้บริษัทประกันภัยขยายและปรับปรุงประสิทธิภาพความคุ้มครองและผลิตภัณฑ์ประกันภัยทางการเกษตร

“ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บริษัทประกันภัยได้ขยายการประกันภัยแบบใช้ดัชนีพารามิเตอร์ในการประกันภัยทางการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่ครอบคลุมความเสียหายที่เกิดจากภัยแล้ง  ประกันภัยแผ่นดินไหว ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ประกันภัยพลังงานเนื่องจากความเสี่ยงจากสภาพอากาศ และประกันภัยความเสียหายเนื่องจากพายุหมุนเขตร้อน”

สำหรับ ญี่ปุ่น ที่เป็นตลาดประกันภัยทรัพย์สินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาค คาดว่า ภายในปี 2570 จะมีอัตราการเติบโตต่อปีอยู่ที่ 9.1 % เป็นผลจากเบี้ยประกันอัคคีภัยที่เพิ่มขึ้นซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการลงทุนในโครงการก่อสร้าง  พลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

                ขณะที่ออสเตรเลีย ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่3   ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาด  15.6 % คาดว่า ในระยะ5ปีข้างหน้า จะมีอัตราการเติบโตต่อปีอยู่ที่  11.7  โดยการเติบโตมีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของเบี้ยประกันภัยอัคคีภัยและเบี้ยประกันภัยความเสี่ยงที่ครอบคลุมสำหรับที่อยู่อาศัย

โกลบอลดาต้าได้ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเร็วๆนี้ บริษัทประกันภัยในออสเตรเลียได้ปรับเบี้ยประกันภัยทรัพย์สินเพิ่มขึ้นหรือลดความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินลงเพื่อรับมือกับความเสียหายที่ไม่ยั่งยืน (unsustainable losses ) และแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากบริษัทรับประกันภัยต่อ( reinsurers)

“โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และการสนับสนุนจากรัฐบาลคาดว่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของการประกันภัยทรัพย์สินในออสเตรเลีย โดยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลออสเตรเลียได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ประกันภัยความรับผิดรูปแบบใหม่ คือประกันภัยความรับผิดต่ออายุ (decennial liability insurance product )  ซึ่งจะสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับบริษัทประกันภัย โดยผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่นี้มีความคุ้มครองครอบคลุมส่วนต่างๆของอพาร์ตเมนต์พักอาศัย อาทิ ระบบดับเพลิงและระบบป้องกันการรั่วซึม   เพื่อช่วยเจ้าของในการบำรุงรักษาอาคาร”  Vangari กล่าว

สำหรับตลาดอินเดียและนิวซีแลนด์ ก็มีส่วนในการผลักดันการเติบโตของประกันภัยทรัพย์สินในภูมิภาคนี้เช่นกัน โดยคาดว่า ในระยะ5ปีข้างหน้า  การประกันภัยทรัพย์สินของทั้งสองประเทศจะขยายตัว 8.7 %และ 10.6 % ตามลำดับ  

“ความต้องการที่เพิ่มขึ้นในภาคการก่อสร้างและพลังงาน ประกอบกับราคาเบี้ยประกันภัยที่เพิ่มขึ้น คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของการประกันภัยทรัพย์สินในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิคในอีก 5 ปีข้างหน้า”

Vangari กล่าวอีกว่า “การปรับพอร์ตโฟลิโอเพื่อจำกัดความเสี่ยงจากความเสียหายที่มีความรุนแรงมากขึ้นและการรักษาความสามารถในการทำกำไรจะยังคงเป็นเป้าหมายหลักสำหรับบริษัทประกันภัยทรัพย์สินในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค”

 

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....