สมาคมประกันวินาศภัยมาเลเซียกางสถิติครึ่งปีแรก 2566(เม.ย-ก.ย.) อุตสาหกรรมประกันวินาศภัยเติบโต 7.3% แต่กำไรรับประกันสวนทาง วูบถึง 38% ผลพวงเคลมรถยนต์พุ่งพรวด Loss Ratio ทะลุ 67 % เท่ากับในช่วงก่อนโควิดทั้งอุบัติเหตุทางถนนเยอะ ค่าอะไหล่สูงปรี๊ด ขณะที่น้ำท่วมใหญ่หลายระลอกกระชาก Loss ประกันอัคคีภัยพุ่งตาม แต่ละวันบริษัทประกันควักเงินจ่ายสินไหมอ่วมอรทัย เผยประกันรถยนต์-อัคคีภัย ส่งผลกระทบเยอะเพราะเป็นพอร์ตใหญ่ที่สุด
เว็บไซต์ AsiaInsuranceReview รายงานว่า สมาคมประกันวินาศภัยมาเลเซีย (General Insurance Association of Malaysia (PIAM) เปิดเผยผลการดำเนินงานของอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยในช่วงครึ่งปีแรก 2566 (เมษายน-กันยายน) เติบโตเพิ่มขึ้น 7.3% เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 1.05 หมื่นล้านริงกิตมาเลเซีย (2.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) (1ริงกิตประมาณ 8 บาท) เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี แม้จะมีแนวโน้มเชิงบวกจากเบี้ยประกันภัยที่เพิ่มขึ้น แต่กำไรจากการรับประกันภัยก็ลดลง 37.8% อยู่ที่ 500 ล้านริงกิต เนื่องจากการหดตัวของกำไรในธุรกิจประกันภัยรถยนต์และประกันภัยอัคคีภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเสียหาย(loss)หรือสินไหมทดแทนที่เพิ่มขึ้นในการประกันภัยรถยนต์ที่พุ่งทะลุ 200 ล้านริงกิตมาเลเซีย เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปี2565 เป็นผลจากอัตราการเคลมประกันภัยรถยนต์เพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิดโควิด-19 และราคาอะไหล่รถยนต์ที่สูงขึ้นในมาเลเซีย ในขณะเดียวกัน ความสามารถในการทำกำไรโดยรวมในการประกันภัยอัคคีภัยก็ได้รับผลกระทบในทางลบจากเหตุการณ์น้ำท่วมต่างๆ ที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินที่มีการทำประกันภัยไว้และต้นทุนการประกันภัยต่อที่เพิ่มขึ้น
สมาคมฯ เผยว่า ประกันภัยรถยนต์ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมประกันวินาศภัย ด้วยสัดส่วน 44% ของเบี้ยประกันภัยทั้งหมด แม้ว่าเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมจะเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 8% แตะระดับ 4.6 พันล้านริงกิตมาเลเซียในช่วงครึ่งปีแรก 2566 แต่ประกันภัยรถยนต์มีผลขาดทุนจากการรับประกันภัย 54 ล้านริงกิต เนื่องจากอัตราสินไหมทดแทนสุทธิ(Loss Ratio) เพิ่มสูงขึ้นเป็น 67.1% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับในช่วงก่อนเกิดโควิด-19
ขณะที่ ประกันภัยอัคคีภัยเติบโตเพิ่มขึ้น 8% เบี้ยประกันภัย 2.11 พันล้านริงกิตมาเลเซียเนื่องจากกิจกรรมการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมเพิ่มมากขึ้น ควบคู่ไปกับความต้องการความคุ้มครองน้ำท่วมที่เพิ่มขึ้น กระนั้นก็ตามพอร์ตโฟลิโอ ประกันภัยอัคคีภัยก็ประสบกับผลกำไรที่ลดลงเช่นกัน โดยอัตรากำไรจากการรับประกันภัยลดลงอยู่ที่ 26.8% มีสาเหตุมาจากปัจจัยเงินเฟ้อ การปรับอัตราภาษี การแข่งขันที่รุนแรงและเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดถี่มากขึ้น
ในปี 2565 เหตุการณ์น้ำท่วมในมาเลเซียทำให้เกิดความเสียหายโดยรวม 622.4 ล้านริงกิตมาเลเซีย ซึ่งคิดเป็น 0.03% ของเศรษฐกิจหรือจีดีพี( GDP )ของประเทศ
ทำนองเดียวกัน ในปี 2564 ที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ “1 ใน 100 ปี” ในมาเลเซียสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจจำนวนมากถึง 6.1 พันล้านริงกิต เทียบเท่า 0.4% ของจีดีพีมาเลเซีย ซึ่งเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วมดังกล่าวได้ส่งผลกระทบในทางลบต่อปริมาณการเรียกร้องสินไหมทดแทนโดยรวมที่มีจำนวนมากขึ้นและความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจประกันภัยอัคคีภัย
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยมีความตระหนักรู้ถึงความคุ้มครองน้ำท่วมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน สะท้อนให้เห็นถึงการมีอัตราความคุ้มครองที่เพิ่มขึ้น 2% ในภัยเพิ่มเติมความเสี่ยงภัยน้ำท่วมในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์และประกันภัยอัคคีภัย โดยประกันภัยรถยนต์เพิ่มขึ้นเป็น14% และประกันภัยอัคคีภัยเพิ่มขึ้นเป็น 33% ตามลำดับ
สมาคมฯเผยอีกว่า อุตสาหกรรมประกันวินาศภัยมีการจ่ายสินไหมทดแทนรายวันเกือบ 23 ล้านริงกิตมาเลเซียต่อวัน(ประมาณ184ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 23% จากปี2565 ทั้งปี
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (ปี 2556-2565) การจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนประกันภัยรถยนต์รายวัน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 16 ล้านริงกิตมาเลเซียต่อวัน ซึ่งคิดเป็น 70% ของการจ่ายเงินค่าสินไหมทั้งหมด โดยในปี 2565 อุตสาหกรรมประกันวินาศภัยได้มองเห็นแนวโน้มดังกล่าวที่เริ่มสังเกตได้ตั้งแต่ปี 2563 โดยมีการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนรายวันประกันภัยรถยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 13 ล้านริงกิตมาเลเซียต่อวัน ต่อมาในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 การจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนรายวันประกันภัยรถยนต์เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 16 ล้านริงกิตต่อวัน สูงที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com