หน่วยงานกำกับเกาหลีใต้ปฏิรูปภาคประกันภัยครั้งใหญ่  รื้อระบบจ่ายค่าคอมมิสชั่นตัวแทน ปรับใหม่จ่ายเป็นรายเดือนตลอด3-7ปี  จากเดิมจ่าย 2 ปีแรกส่งผลตัวแทนย้ายค่าย ชวนลูกค้ายกเลิกกรมธรรม์เปลี่ยนทำบริษัทใหม่หวังกินค่าคอมม์ ดีเดย์ไตรมาสแรก2568 นี้ ควบคู่เปิดเผยค่าคอมม์แก่ลูกค้า อีกด้านสั่งแบนกรมธรรม์ประกันภัยการจ่ายเงินตามสัดส่วน( proportional payout insurance products ) ผวา!ลูกค้ารักษาเกินจริง ส่งผลระบบประกันสุขภาพแห่งชาติแบกคอสต์บาน

เว็บไซต์  AsiaInsuranceReview รายงานข่าวอ้างอิงรายงานของสื่อในเกาหลีใต้ว่า คณะกรรมการกำกับดูแลภาคการเงินเกาหลีใต้ประกาศการปฏิรูปภาคประกันภัยใหม่  กำหนดว่า ค่าคอมมิสชั่นจากการขายประกันที่จ่ายให้กับตัวแทนจะถูกปรับใหม่ กระจายการจ่ายเป็นรายเดือนตลอดระยะเวลา 3-7 ปี เพื่อปรับปรุงอัตราการคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันภัยให้ดีขึ้น ซึ่งกฎใหม่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2568 เป็นต้นไป

ปัจจุบัน ค่าคอมมิชชั่นจากการขายประกันกำหนดจ่ายในช่วง  2 ปีแรกหลังกรมธรรม์มีผลบังคับ  ซึ่งนำไปสู่การย้ายบริษัทประกันบ่อยครั้งในหมู่ตัวแทนประกันและเกิดการยกเลิกกรมธรรม์เปลี่ยนไปทำกับบริษัทใหม่ที่ตัวแทนไปสังกัดอยู่

นอกจากนี้ ตั้งแต่ครึ่งปีแรก 2568 เป็นต้นไป กฎใหม่ยังกำหนดให้ตัวแทนเปิดเผยข้อมูลค่าคอมมิชชั่นโดยละเอียดแก่ลูกค้าเมื่อลูกค้าต้องการซื้อประกัน 

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า   หน่วยงานกำกับดูแลฯได้เริ่มควบคุมผลิตภัณฑ์ประกันภัยเนื่องจากพบว่า ผู้บริโภคมักถูกชักชวนให้ซื้อประกันที่มีค่าคอมมิชชั่นสูงซึ่งเป็นประโยชน์ต่อตัวแทนมากกว่าแบบประกันที่เหมาะสมกับลูกค้าจริงๆ

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการกำกับดูแลบริการทางการเงินและสำนักงานกำกับดูแลทางการเงิน (The Financial Services Commission and the Financial Supervisory Service) ได้จัดประชุมเกี่ยวกับการปฏิรูปภาคประกันภัยกับผู้แทนจากภาควิชาการ  ,สถาบันวิจัย ,บริษัทประกันภัย และสมาคมประกันภัยต่างๆ โดยแผนการปฏิรูปจะแล้วเสร็จหลังจากหน่วยงานกำกับฯรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ ผ่านการบรรยายสรุปกับตัวแทนและนายหน้าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568

หน่วยงานกำกับฯกล่าวว่า หน่วยงานฯได้ห้ามขาย (ban) กรมธรรม์ประกันภัยการจ่ายเงินตามสัดส่วน (proportional payout insurance products )เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลที่มากเกินไปและภาระทางการเงินต่อระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ

กรมธรรม์ประกันภัยการจ่ายเงินตามสัดส่วนจะมีการจ่ายเงินสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นเมื่อค่าใช้จ่ายทางการแพทย์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงทางศีลธรรม( hazard )กรณีผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยอาจแสวงหาการรักษาที่ไม่จำเป็นเพื่อเพิ่มผลประโยชน์สูงสุดภายในวงเงินความคุ้มครองประจำปี  โดยแบบประกันเหล่านี้มักจะอยู่ในความคุ้มครองโรคมะเร็ง,โรคสมองและหัวใจ , การรักษาโรคระบบไหลเวียนโลหิต และการดูแลอาการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย

อย่างไรก็ดี ในการบังคับใช้กฎห้ามขายกรมธรรม์ประกันภัยการจ่ายเงินตามสัดส่วนนี้  ทางหน่วยงานกำกับฯวางแผนจะทบทวนมาตรฐานการคัดกรองผลิตภัณฑ์ประกันภัยภายใต้ข้อบังคับประกันภัยใหม่ด้วย

นอกเหนือจากมาตรการข้างต้นแล้ว  หน่วยงานกำกับฯยังจะมุ่งเน้นส่งเสริมการบริหารจัดการทางการเงินที่ดีในหมู่บริษัทประกันภัย หลังการใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 (IFRS 17) ในปี 2566  พบว่า มีบริษัทประกันภัยบางบริษัททำให้ผลการดำเนินงานทางการเงินเกินจริงโดยการปรับสมมติฐาน เช่น อัตรากรมธรรม์ขาดอายุ( lapse rates ) เป็นต้น

หน่วยงานกำกับฯ ยังได้กำหนดขั้นตอนในการช่วยเหลือผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยกรณีการเรียกร้องเงินค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทประกันภัยยังไม่จ่าย  โดยบริษัทประกันภัยจะต้องพัฒนาฟังก์ชันการสอบถามข้อมูลและการคืนเงินที่ใช้งานง่ายในแอปพลิเคชันของบริษัท ในขณะเดียวกันจะมีการจัดทำเอกสารแนะนำที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุเพื่อให้มั่นใจถึงการเข้าถึงได้

 

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....