ตลาดประกันชีวิตไต้หวันเจอหลากปัญหา หนักสุดวิกฤติสภาพคล่อง หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดรอบ40 ปี ขาดทุนลงทุน รายได้หด จ่ายเงินตามกรมธรรม์เพิ่มทันควัน แถมต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินดอลลาร์ จับตา!ปี’69 ดีเดย์ใช้ IFRS 17 บีบเพิ่มทุนอีกยก
เว็บไซต์ AsiaInsuranceReview.com รายงานข่าวจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า อุตสาหกรรมประกันชีวิตของไต้หวันมูลค่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐกำลังเผชิญกับวิกฤติสภาพคล่องหลังจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด(Federal Reserve )ที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี
ผลจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดส่งผลทำให้บริษัทประกันชีวิตเห็นการขาดทุนจากการลงทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง รายได้ลดลง และการจ่ายเงินเพิ่มขึ้นทันที
ในขณะที่ภายใต้อัตราดอกเบี้ยปกติที่สูงขึ้นน่าจะส่งผลดีต่อบริษัทประกันชีวิตในระยะยาว แต่ก็มีความเสี่ยงจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐของภาคธุรกิจประกันชีวิต หมายถึงจะมีต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อกำไร โดยประมาณ 60% ของการถือครองสินทรัพย์ลงทุนของภาคประกันชีวิตอยู่ในพันธบัตรสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อระยะยาว จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการป้องกันความเสี่ยงขนาดใหญ่ โดยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นส่งผลให้มูลค่าของการถือครองดังกล่าวลดลงและค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
ข้อมูลจากสถาบันประกันภัยไต้หวัน เผยว่า ปัจจุบัน ลูกค้าของอุตสาหกรรมประกันชีวิตยังกลับมาช้า เพราะผู้บริโภคมีความนิยมและชื่นชอบการลงทุนในพันธบัตรและเงินฝากประจำมากกว่าที่จะทำประกันชีวิต และแม้ว่าเบี้ยประกันชีวิตจะมีการเติบโตฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย แต่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทประกันชีวิตก็ยังจ่ายเงินให้แก่ผู้เอาประกันตามความคุ้มครองในกรมธรรม์ถึง 4.43 หมื่นล้านดอลลาร์ไต้หวัน (1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) มากกว่าเบี้ยประกันภัยที่ได้รับเข้ามาในระบบ
ในช่วงปีที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน ภาคประกันภัยของไต้หวัน ได้ผ่อนคลายกฎ กติกาด้านการดำเนินงานซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อลดภาระของภาคธุรกิจ อาทิ การเพิ่มระดับเงินกองทุนของบริษัทประกันภัย การออกกฎใหม่ที่อนุญาตให้บริษัทประกันภัยจัดประเภทสินทรัพย์ใหม่ได้ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี Mr Chang Shih-chieh อดีตกรรมการในบอร์ดกำกับภาคการเงิน ประกันภัยของไต้หวันให้ความเห็นว่า มีผลระยะยาวจากการตัดสินใจจัดประเภทสินทรัพย์จำนวนมากใหม่ด้วยราคาทุนที่ตัดจำหน่าย ซึ่งถ้าหากและเมื่อสหรัฐฯ เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลง บริษัทประกันชีวิตจะไม่สามารถทำกำไรได้ เนื่องจากสินทรัพย์ส่วนใหญ่ในหมวดนั้นต้องถือจนครบกำหนด
นาย Andy Chang นักวิเคราะห์บริษัท ไต้หวัน เรตติ้งส์( Taiwan Ratings) กล่าวว่า นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป อุตสาหกรรมประกันชีวิตของไต้หวันจะเริ่มใช้มาตรฐานการบัญชีสากล IFRS 17 แล้ว ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างในการรายงานทางการเงิน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะต้องใช้เงินทุนเข้ามารองรับมากขึ้น แม้ว่าขณะนี้ ยังไม่สามารถบอกได้ว่า ต้องใช้เงินทุนหรือต้องเพิ่มทุนเท่าไหร่จนกว่าหน่วยงานกำกับดูแลจะเผยแพร่รายละเอียดต่างๆ ภายใต้กรอบการใช้IFRS17ก็ตาม
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com