มิวนิก รี เผย ปี2566 อุตสาหกรรมประกันภัยเจอภัยพิบัติถล่มอ่วมอรทัย คาดสินไหมทั้งโลก 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ พุ่งทะลุค่าเฉลี่ยในรอบ10 ปี เหตุเจอพายุรุนแรงหลายลูกกระหน่ำหนักทั้งอเมริกา-ยุโรป ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะแผ่นดินไหวที่ตุรกีและซีเรีย มิหนำซ้ำอากาศสุดโต่ง ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ จับตา! climate change ปรากฏการณ์เอลนีโญ
เว็บไซต์ Insurance Business America รายงานว่า บริษัท มิวนิก รี บริษัทรับประกันภัยต่อชั้นนำของโลกเปิดเผยตัวเลขความเสียหาย(losses )ในอุตสาหกรรมประกันภัยทั่วโลกในปี 2566 (ค.ศ.2023) พุ่งทะลุค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี มูลค่าความเสียหายประมาณ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
มิวนิก รี เผยว่า ในปี 2566 เหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลกทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นความเสียหายที่มีประกันภัยคุ้มครอง 1.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยความเสียหายโดยรวมสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปี ในขณะที่ความเสียหายที่มีประกันภัยคุ้มครองไว้ ลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 1.05 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเล็กน้อย
ทั้งนี้ ภาพรวมทั่วโลกในปีที่ผ่านมา ไม่มีเหตุการณ์ภัยพิบัติสำคัญๆเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งแตกต่างจากปีก่อนๆ ยกตัวอย่างในปี 2565 เกิดพายุเฮอริเคน”เอียน(Ian)” ส่งผลให้เกิดความเสียหายโดยรวมสูงถึง 1แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้เป็นความเสียหายที่มีการทำประกันภัยคุ้มครองไว้ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
มิวนิก รี เผยว่า ความเสียหายในปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เนื่องมาจากพายุระดับภูมิภาคที่รุนแรงหลายลูก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายจากพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยในอเมริกาเหนือ มีความเสียหายประมาณ 6.6หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นความเสียหายที่มีประกันภัยคุ้มครอง 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ยุโรปประสบความเสียหาย 1หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นความเสียหายที่มีประกันภัยคุ้มครอง 8พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและรูปแบบสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงพายุฝนฟ้าคะนองหลายลูก
มิวนิค รี เผยต่อว่า ในปี2566 มีผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติทางธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เป็น 74,000 ราย สูงกว่าค่าเฉลี่ยต่อปีที่ 10,000 รายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 63,000 รายจากเหตุการณ์ทางธรณีฟิสิกส์ ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2563( ค.ศ.2010 ) อย่างไรก็ตาม ความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจส่วนใหญ่เกิดจากเหตุการณ์พายุที่รุนแรง คิดเป็น 76% ของความเสียหายทั้งหมด ในขณะที่ความเสียหายจากเหตุการณ์ธรณีฟิสิกส์มีสัดส่วน 24%
2566 ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์
ปี 2566 ยังมีอุณหภูมิสูงเป็นพิเศษอีกด้วย โดยอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกจนถึงเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ประมาณ 1.3°C สูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม พ.ศ. 2393-2443(ค.ศ.1850–1900) ทำให้ปี 2566 อาจเป็นปีที่มีอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยนักวิจัยส่วนใหญ่อ้างถึงสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยอุณหภูมิตามฤดูกาลทำลายสถิติทั่วโลก ส่งผลให้เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ในภูมิภาค เช่น แคนาดา ที่ทำลายพื้นที่ป่าไม้กว่า 18.5 ล้านเฮกตาร์หรือ 115.625 ล้านไร่
Ernst Rauch หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศมิวนิก รี เน้นย้ำถึงความต้องการของสังคมและอุตสาหกรรมในการปรับตัวให้เข้ากับความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยได้ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของความเสียหายที่เพิ่มขึ้นจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดโต่ง โดยมีสาเหตุมาจากอุณหภูมิและความชื้นในชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้น
“สังคมและอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เช่นนั้นภาระความเสียหายจะเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การวิเคราะห์ความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงนั้นถูกฝังลึกอยู่ใน DNA ของมิวนิก รี นั่นคือสิ่งที่ช่วยให้เราสามารถเสนอการประกันภัยที่ครอบคลุมต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างสม่ำเสมอ และแม้กระทั่งการขยายความคุ้มครองออกไปให้สอดรับกับความเสี่ยงให้มากที่สุดด้วย สิ่งนี้ช่วยให้เราสามารถบรรเทาความเสียหายบางส่วนและบรรเทาความยากลำบากบางส่วนที่เกิดขึ้นได้”
สำหรับเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของปี 2566 คือแผ่นดินไหวหลายครั้งทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีและซีเรีย โดยแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดขนาด 7.8 แมกนิจูด ซึ่งรุนแรงที่สุดในตุรกีมานานหลายทศวรรษ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 58,000 รายและก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานอย่างมีนัยสำคัญ ความเสียหายโดยรวมประมาณ 5หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นความเสียหายที่มีประกันภัยคุ้มครองมูลค่าเพียง 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
พายุไต้ฝุ่น” ทกซูรี (Doksuri) ” ในจีนและเฮอริเคน”โอทิส (Otis)” ในเม็กซิโกถือเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่เช่นกัน โดยผู้เชี่ยวชาญได้เชื่อมโยงเหตุการณ์เหล่านี้กับรูปแบบการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ( climate change) ซึ่งรวมถึงพายุที่รุนแรงและมีฝนตกหนักมากขึ้น
Thomas Blunck บอร์ดมิวนิก รี กล่าวสรุปว่า “ปี 2566 ถือเป็นปีที่โดดเด่นอีกครั้งด้วยมูลค่าความเสียหายที่มีประกันภัยคุ้มครองจากเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สูงมาก แม้ว่าจะไม่มีการสูญเสียส่วนบุคคลมากนักก็ตาม สิ่งนี้ตอกย้ำถึงบทบาทสำคัญของการประกันภัยในการรองรับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ”
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com