เว็บไซต์ InsuranceBusiness.com   รายงานว่า สถาบันสวิส รี( Swiss Re Institute) บิ๊กประกันภัยต่อแถวหน้าของโลกได้เผยแพร่รายงาน”ซิกม่า” ฉบับที่ 5   หัวข้อ “Restoring Resilience: The Need to Reload Shock-Absorbing Capacity”  ไฮไลต์ของรายงานได้เน้นย้ำถึงช่องว่างความคุ้มครอง (Protection Gaps)  ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกทั้งด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ  ,ด้านพืชผล ,การเสียชีวิตและการประกันสุขภาพ ซึ่งความต้องการเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดเบี้ยประกันภัยต่อปีสูงถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงสุดงเป็นประวัติการณ์  โดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ช่องว่างความคุ้มครองเหล่านี้เพิ่มขึ้น 20%  เป็นผลมาจากความต้องการทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ดี แม้ช่องว่างความคุ้มครองจะเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ แต่รายงานของสวิส รี ก็แสดงให้เห็นพัฒนาการเชิงบวกในสังคมว่าสามารถรับมือกับผลกระทบทางการเงินที่ไม่คาดคิดได้  โดยปัจจุบัน 57% ของความเสี่ยงทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ,พืชผล,การเสียชีวิตและสุขภาพได้รับการคุ้มครองภายใต้ระบบประกันภัย  ซึ่งเพิ่มขึ้น3% นับตั้งแต่ปี 2555

รายงานดังกล่าวได้แนะนำตัวบ่งชี้ใหม่ของความยืดหยุ่นที่มุ่งเน้นไปที่ความมั่นคงทางอาหาร  ซึ่งจากการตรวจสอบ ขอบเขตของการทำประกันภัยที่ต่ำในภาคการผลิตพืชผลทั่วโลก พบว่า 60% ของการผลิตพืชผลของโลกยังคงไม่มีประกันภัย  โดยช่องว่างความคุ้มครองที่สำคัญที่สุดอยู่ในภูมิภาคเอเชียเกิดใหม่  ซึ่งการปิดช่องว่างนี้จะต้องใช้เบี้ยประกันภัยรายปีถึง  1.13 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับการซื้อประกันภัยเพื่อคุ้มครองพืชผล

Jerome Haegeli หัวหน้ากลุ่มนักเศรษฐศาสตร์สวิส รี  กล่าวว่า “เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของนโยบายด้านเศรษฐกิจทั่วโลก เนื่องจากรัฐบาลในประเทศต่างๆ ได้ตอบสนองต่อสงคราม  ,การแพร่ระบาดของโควิด-19 และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี แม้จะมีความไม่แน่นอนและความผันผวน แต่โลกก็มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในปัจจุบัน และการประกันภัยก็มีบทบาทที่แข็งแกร่งมากกว่าเมื่อทศวรรษที่แล้ว  กระนั้นก็ตาม ความยืดหยุ่นยังคงอ่อนแอเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติการเงินโลกถึง 15% และความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้น  โดยกระบวนการคุมเข้มทางการเงินที่ควบคุมอัตราเงินเฟ้อทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินและเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่สูงอย่างต่อเนื่องทำให้ครัวเรือนต้องการการสนับสนุนทางการเงินมากขึ้นเพื่อชดเชยกำลังซื้อที่ลดลง  เราคาดว่าความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจมหภาคจะดีขึ้นเล็กน้อยในปี 2566 นี้”

เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น  Haegeli ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการลงทุนในมาตรการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบเพื่อลดการสูญเสียให้เหลือน้อยที่สุด  โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในด้านนี้ พร้อมกับเสนอแนะให้มีการพัฒนาพันธบัตรเพื่อความยืดหยุ่น (resilience bonds) เพื่อดึงดูดแหล่งเงินทุนใหม่ ๆ ในขณะที่ให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย

นอกเหนือจากการมุ่งเน้นไปที่การฟื้นตัวของพืชผลแล้ว รายงานดังกล่าว ยังให้ข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจโลกโดยรวม การประกันสุขภาพ การเสียชีวิตและภัยพิบัติทางธรรมชาติสำหรับปี 2565

ข้อค้นพบที่สำคัญจากรายงานประกอบด้วย:

ความยืดหยุ่นทั่วโลกดีขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา  ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากพัฒนาการของพืชผล  ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และความยืดหยุ่นด้านสุขภาพ ซึ่งความคุ้มครองที่มีอยู่เติบโตเร็วกว่าความต้องการความคุ้มครองโดยรวม

สวิส รี ระบุว่า ประมาณ 43% ของความเสี่ยงทั่วโลกไม่ได้มีประกันภัยคุ้มครองในปี 2565 ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 46% เมื่อทศวรรษที่แล้ว

ช่องว่างความคุ้มครองทั่วโลกยังคงกว้างขึ้น โดยเบี้ยประกันภัยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐใน 2565 ซึ่งสูงกว่าระดับ  1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561

ในปี2565 ความยืดหยุ่นด้านสุขภาพโดยรวมดีขึ้น  โดย 78.3% ของความต้องการความคุ้มครองอยู่ภายใต้ระบบประกันภัย  เพิ่มขึ้นจาก 77.5% ในปี 2564  ขณะที่ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียได้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกนี้ โดยได้รับประโยชน์จากมาตรฐานด้านสุขภาพที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องว่างความคุ้มครองด้านสุขภาพคิดเป็นเบี้ยประกันภัย 8.89 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับช่องว่างความคุ้มครองการเสียชีวิต ซึ่งวัดจากการมีประกันภัยที่จำเป็นเพื่อให้ครอบคลุมความต้องการทางการเงินของครอบครัวอย่างเต็มที่ในกรณีที่บุคคลที่เป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวเสียชีวิต เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 43.4% ในปี 2565 หรือคิดเป็นเบี้ยประกันภัย 4.06 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์  การเพิ่มขึ้นนี้อาจเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อ การปรับขึ้นค่าจ้าง และตลาดการเงินที่อ่อนแอลง

อย่างไรก็ดี ความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติยังคงอยู่ในระดับต่ำในปี 2565 โดย 76% ของความเสี่ยงทั่วโลกขาดความคุ้มครองจากการประกันภัย ซึ่งการปิดช่องว่างนี้จะต้องมีเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นอีก 3.68  แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในอนาคต

สวิส รี กล่าวว่า กลยุทธ์ในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นครอบคลุมการลงทุนในการป้องกันการสูญเสียและการขยายความคุ้มครองของประกันภัย

ตลาดเกิดใหม่ต่างๆ ต้องใช้เงินลงทุนต่อปีประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐตลอดทศวรรษนี้ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ยืดหยุ่นมากขึ้นรวมถึงเพิ่มความยืดหยุ่นในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเกษตรจากความเสียหายเนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

พันธบัตรความยืดหยุ่นและเครื่องมือทางการเงินที่เป็นนวัตกรรมอื่น ๆ สามารถอำนวยความสะดวกในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน,อสังหาริมทรัพย์และความยืดหยุ่นของพืชผล การลงทุนเชิงรุกเหล่านี้ให้อัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุนที่สูงตั้งแต่ 2:1 ถึง 10:1

สวิส รี ระบุอีกว่า เมื่อการป้องกันการสูญเสียถึงขีดจำกัด การถ่ายโอนความเสี่ยงผ่านระบบประกันภัยเพิ่มขึ้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่ออำนวยความสะดวกในการสร้างแรงจูงใจและเพิ่มความสามารถในการประกันภัยความเสี่ยงที่ยากต่อการรับประกันภัย

 

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....