สถาบัน สวิส รี  (Swiss Re Institute) ผู้รับประกันภัยต่อแถวหน้าของโลกรายงานว่า ความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ( NatCat )ทั่วโลกที่บริษัทประกันภัยรับประกันภัยไว้พุ่งสูงถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งปี  2567 เฉพาะสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวประสบกับพายุรุนแรงถึง 12 ลูก

ทั้งนี้ความเสียหายข้างต้น ส่วนใหญ่เกิดจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่มีความเสียหายขนาดเล็กไปถึงปานกลางที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง  

Balz Grollimund หัวหน้าฝ่ายภัยพิบัติสวิส รี กล่าวว่า “ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พายุฝนฟ้าคะนองรุนแรง(SCS)  กลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีการทำประกันภัยไว้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นและมูลค่าทรัพย์สินที่สูงขึ้นในเขตเมือง รวมถึงทรัพย์สินที่ทำประกันภัยไว้มีความเสี่ยงต่อภัยจากพายุลูกเห็บมากขึ้น ดังนั้น เหตุการณ์เสียหายมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐจากภัยพิบัติทางธรรมชาติจึงมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น”  

เหตุการณ์พายุฝนฟ้าคะนองรุนแรงโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา คิดเป็น 70% ของความเสียหายทั้งหมด  หรือคิดเป็นความเสียหายมูลค่ารวม 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยในสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวประสบกับพายุรุนแรงถึง 12 ครั้งในช่วงครึ่งปีแรก 2567  แต่ละครั้งก่อให้เกิดความสูญเสียมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามรายงานซิกม่า 1/2024 ของสถาบันสวิส รี  ระบุว่า ความเสียหายที่มีการทำประกันภัยไว้จากเหตุการณ์พายุฝนฟ้าคะนองรุนแรงในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นในอัตราประมาณ 8% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา

ภัยน้ำท่วมก็มีส่วนทำให้เกิดความเสียหายที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงครึ่งปีแรก2567  คิดเป็น 14% ของความเสียหายที่ทำประกันภัยไว้ทั่วโลก โดยเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยอรมนี และบราซิลสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก

ในเดือนเมษายน พายุฝนฟ้าคะนองรุนแรงทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในคาบสมุทรอาหรับ ส่งผลให้มีความเสียหายที่ทำประกันภัยไว้ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายสูงที่สุดของประเทศนี้ที่มีการบันทึกไว้เลยทีเดียว  โดยปัจจัยต่างๆ อาทิ การเติบโตอย่างรวดเร็วของเมือง การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ตลอดไปจนถึงระบบระบายน้ำที่ไม่เพียงพอ และผืนดินแห้งแล้ง ทำให้ความเสียหายเหล่านี้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

Jérôme Jean Haegeli หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์กลุ่มของสวิส รี กล่าวเสริมในตอนท้ายว่า “ความเสียหายที่มีการทำประกันภัยไว้จากเหตุการณ์พายุฝนฟ้าคะนองรุนแรงมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเนื่องจากปัจจัยหลายอย่างรวมถึงเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการก่อสร้างสูงขึ้น และด้วยการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ความเสี่ยงโดยรวมจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป นั่นคือเหตุผลที่การลงทุนในมาตรการป้องกันต่างๆ  เช่น การปกป้องชุมชนที่เปราะบางจากน้ำท่วมหรือการปรับปรุงกฎหมายอาคารเพื่อปกป้องบ้านอยู่อาศัยจากพายุลูกเห็บรุนแรง จึงมีความสำคัญอย่างมาก”

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....