จีนพังยับ ปี2566 เจอน้ำท่วมใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจสูญ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกันภัยจ่ายแค่ 1,400ล้านเหรียญเพราะส่วนใหญ่ไม่มีประกันคุ้มครอง ชี้ความเสียหายในจีนกินแชร์ 50% ของความเสียหายทั้งหมด 6.5หมื่นล้านเหรียญในเอเชีย แปซิฟิก
เว็บไซต์ Asiainsurancereview รายงานว่า ในปี 2566 ความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งหมดในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติมีมูลค่ารวมสูงถึง 6.5หมื่นล้านดอลลาร์ โดยมีช่องว่างความคุ้มครอง( protection gap ) ที่สูงอย่างมีนัยสำคัญถึง 91% อย่างไรก็ตาม ความเสียหายเหล่านี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 48% และต่ำกว่าค่ามัธยฐานของศตวรรษที่ 21 ถึง 32%
ในความเสียหายทางเศรษฐกิจข้างต้น เป็นความเสียหายที่มีประกันภัยคุ้มครองอยู่ประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในศตวรรษที่ 21 ที่ระดับ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าสถิติจะเบี่ยงเบนไปจากปีที่ผิดปกติอย่างปี 2554 (ปีที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้นที่เมืองโทโฮคุ (Tohoku) ในญี่ปุ่น) แต่ในปี 2566 ความเสียหายที่มีประกันภัยคุ้มครอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความเสียหายจากภัยพิบัตทางธรรมชาติในนิวซีแลนด์ มูลค่าความเสียหายยังคงต่ำกว่าค่ามัธยฐานถึง 44%
“น้ำท่วม” สร้างความเสียหายสูงสุด
ความสูญเสียจากน้ำท่วมยังคงมีสัดส่วนสูงสุดในฐานะภัยธรรมชาติที่สร้างเสียหายมากที่สุดเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน โดยมีสัดส่วนมากกว่า 64% ของความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา สำหรับภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ภัยน้ำท่วมยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2553 น้ำท่วมสร้างความเสียหายกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยในปี2566 ที่ผ่านมา หลายพื้นที่ประสบน้ำท่วมครั้งใหญ่และมีฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ อาทิ นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ อินเดีย และปากีสถาน โดยน้ำท่วมในเอเชียใต้ (ปากีสถานและอินเดีย) ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 2,900 คน
เกือบครึ่งหนึ่งของความเสียหายที่มีประกันภัยคุ้มครองในเอเชีย แปซิฟิกเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนิวซีแลนด์ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ คือเกิดน้ำท่วมใหญ่เป็นบริเวณกว้างในเมืองโอ๊คแลนด์ ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ 3.4 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นความเสียหายที่มีประกันภัยคุ้มครอง 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้นเพียงสามสัปดาห์ เกิดพายุไซโคลน”กาเบรียล: Gabrielle” สร้างความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็นพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์นี้กลายเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่มีความเสียหายสูงสุดสำหรับอุตสาหกรรมประกันภัยในท้องถิ่น( insured losses) เมื่อพิจารณาจากตัวเลขที่ปรับตามอัตราเงินเฟ้อแล้ว
บริษัทประกันภัยของออสเตรเลียประสบความเสียหายอย่างมากจากเหตุการณ์พายุลูกเห็บ”นิวคาสเซิล: Newcastle )ในเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะในเดือนธันวาคมที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 2 เหตุการณ์ เหตุการณ์แรกคือน้ำท่วมอย่างกว้างขวางทางตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์จากอิทธิฤทธิ์ของพายุไซโคลน”แจสเปอร์ Jasper” และเหตุการณ์ที่สองคือพายุ”คริสต์มาส: Christmas) ที่ส่งผลกระทบต่อออสเตรเลียตะวันออก และส่งผลให้มีการเคลมสินไหมทดแทนมากกว่า 65,000 ครั้ง
ในปี 2566 ความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจเกือบ 1.3หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นความเสียหายที่มีประกันภัยคุ้มครอง 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งความเสียหายเนื่องจากพายุไซโคลนเขตร้อนในเอเชียและโอเชียเนียต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในศตวรรษที่ 21 ถึง 53% และ 70% ตามลำดับ ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากพายุหมุนเขตร้อนยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเป็นปีที่สองติดต่อกัน อาจเป็นผลมาจากมาตรการรับมือภัยพิบัติและการปรับตัวที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ชุมชนหลายแห่งในหลายประเทศยังคงมีความเสี่ยงอยู่ อาทิ เมียนมาร์ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 463 คนจากเหตุการณ์พายุไซโคลน” โมคา: Mocha “ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
แผ่นดินไหว
ในปี 2566 ภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกสั่นสะเทือนด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ที่เกิดขึ้นหลายครั้ง มีผู้เสียชีวิตเกือบ 1,500 คน จากแผ่นดินไหวหลายครั้งในจังหวัดเฮรัต (Herat Province) ของอัฟกานิสถานในเดือนตุลาคม และบ้านเรือนมากกว่า 200,000 หลังได้รับความเสียหายในมณฑลกานซู (Gansu Province) ของจีนในเดือนธันวาคม
เกือบทั้งภูมิภาคเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงมากเป็นเวลานานในปี 2566 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คลื่นความร้อนที่กินเวลานานหลายสัปดาห์ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ความเสียหายที่เพิ่มขึ้นหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นผลมาจากภาวะภัยแล้งที่ส่งผลกระทบอย่างหนักโดยเฉพาะจีนและอินเดีย
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com