คาดปี2568 ประกันชีวิตเวียดนามหดตัวต่อเนื่องหลังปี2566 และ2567 ชะลอ12% และ 5.7% ผลพวงประชาชนไม่เชื่อมั่นแบงก์แอสชัวรันส์ ขายผิดกฎเยอะ ส่งผลกระทบยาว คาดปี2569 ฟื้นตัวจากปัจจัยหนุนเพียบทั้งแรงซื้อจากประชากรสูงอายุ อัตราการทำประกันยังต่ำ รายได้ครัวเรือนพุ่ง กฎหมายเข้มงวด
เว็บไซต์ Insurance Asia รายงานข่าว GlobalData คาดการณ์ ในปี 2568 ตลาดประกันชีวิตเวียดนามจะหดตัว 1.3% มีเบี้ยประกันภัยรับรวม (GWP) อยู่ที่ 6.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจาก 6.1 พันล้านเหรียญในปี2567
การชะลอตัวลงดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องจากปี2566 ที่หดตัวลง 12% และในปี2567 คาดว่าจะหดตัวลง 5.7% เป็นผลกระทบจากการทำผิดกฎระเบียบในช่องทางขายประกันผ่านธนาคารหรือแบงก์แอสชัวรันส์( bancassurance)และความท้าทายทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี แม้จะประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่คาดว่าตลาดประกันชีวิตเวียดนามจะฟื้นตัวขึ้นได้ในปี 2569 โดยมีแรงสนับสนุนจากกลุ่มประชากรสูงอายุ อัตราการทำประกันที่ยังคงต่ำอยู่ รายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น และการปฏิรูปกฎระเบียบ
GlobalData คาดว่า ในระยะ5 ปีข้างหน้า ตั้งแต่ปี 2568 -2572 อัตราการเติบโตแบบทบต้นต่อปี (CAGR) จะอยู่ที่ 3.2% โดยจะมีเบี้ยประกันชีวิตเติบโตทะลุ 165.4 ล้านล้านดอง (6.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี 2572
Swarup Kumar Sahoo นักวิเคราะห์ประกันภัยอาวุโส GlobalData กล่าวว่า การชะลอตัวลงของตลาดประกันชีวิตเมื่อเร็วๆ นี้เกิดจากการกระทำผิดของช่องทางจัดจำหน่ายผ่านธนาคารที่สร้างปัญหามากมาย อาทิ การให้คำมั่นสัญญาเป็นเท็จแก่ลูกค้า เงื่อนไขความคุ้มครองที่ไม่ชัดเจน การขายที่ผิดวิธี และการขายพ่วงผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตเข้ากับสินเชื่อธนาคาร ทำให้ความมั่นใจของผู้บริโภคลดลง
ส่งผลให้จำนวนการยกเลิกกรมธรรม์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้จำนวนกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ยังมีผลบังคับอยู่ลดลง 7.5% ในปี 2566 และ 3.7% ในปี 2567
เบี้ยประกันชีวิตต่อจีดีพีลดลงจาก 1.9% ในปี 2565 เหลือ 1.5% ในปี 2566 และคาดว่าจะลดลงแตะ 1.3% ในปี 2567
Sahoo กล่าวว่า “อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤติความเชื่อมั่น ด้วยกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อควบคุมการกระทำผิดต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจะสนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดได้ นอกจากนี้ เบี้ยประกันชีวิตต่อจีดีพีที่ต่ำในเวียดนาม ซึ่งต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกค่อนข้างมาก อาทิ ไทย (3.5%) และไต้หวัน (8.7%) เพิ่มโอกาสในการเติบโตของตลาดประกันชีวิตเวียดนาม”
กฎหมายประกันภัยฉบับแก้ไขใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายน ปี2566 ห้ามการขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตก่อนและหลัง 60 วันของการเบิกจ่ายเงินกู้ และกำหนดค่าปรับธนาคารกรณีพ่วงแบบประกันที่ไม่ใช่ภาคบังคับเข้ากับสินเชื่อธนาคาร โดยมาตรการเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดประกันชีวิต
ในปี2567 ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์( Endowment ) มีสัดส่วน 86.1% ของเบี้ยประกันภัยรับรวม ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดของภาคประกันชีวิต
GlobalData คาดว่า ความต้องการประกันชีวิตจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเปิดตัวประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมโรคร้ายแรงและการเข้ารักษาในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชากรสูงอายุโดยเฉพาะ
นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อาทิ ปัญญาประดิษฐ์(AI ) การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่( big data) และแพลตฟอร์มดิจิทัล ก็พร้อมที่จะยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าและคุณภาพการบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปัจจุบัน บริษัทประกันชีวิตกำลังมุ่งขยายความคุ้มครองและปรับปรุงคุณภาพการบริการเพื่อดึงดูดลูกค้าให้มากขึ้น
Sahoo กล่าวเพิ่มเติมว่า “หลังจากปี2568 เป็นต้นไป ตลาดประกันชีวิตของเวียดนามดูมีแนวโน้มที่ดีเนื่องจากกฎระเบียบที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจของผู้บริโภค ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการโฟกัสผลิตภัณฑ์ที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง”
นอกจากนี้ ต้นทุนด้านการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้นและประชากรสูงอายุจะกระตุ้นความต้องการประกันชีวิตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ธุรกิจประกันชีวิตเวียดนามมีการเติบโตอย่างมั่นคงในปีต่อๆ ไป
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com