นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ อดีตนายกสมาคมตัวแทนและที่ปรึกษาการเงิน (Thaifa)​ และอดีตประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก (APFinSA) ได้โพสต์ผ่านเฟสบุค เล่าเรื่องราวความอึดอัดของตัวแทนประกันชีวิต เมื่อลูกค้าถามถึงเงินปันผลของกรมธรรม์ประกันชีวิตที่เคยขายไว้ในอดีต แต่ไม่สามารถตอบได้ โดยมีเนื้อหาดังนี้

เงินปันผลประกันชีวิต หายไปไหน? ประเด็นร้อนในแวดวงประกันชีวิตไทยที่ยังคงคุกรุ่นอยู่ทุกวันนี้ คือกรมธรรม์ที่ครบสัญญาในช่วงนี้ ทำไม เงินปันผลลดฮวบจนน่าใจหาย

ตัวแทนประกันชีวิตกลายเป็นด่านหน้าที่ต้องตอบคำถามนี้ เพราะตอนไปเสนอขายเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ได้ทำข้อเสนอ ทำประมาณการไปว่า จะได้รับเงินปันผล 50%ของทุนประกันบ้าง 100%บ้าง แต่พอเงินปันผลออกมาจริง ได้เพียง 7%บ้าง 14%บ้าง ทำไมลดลงจนน่าใจหาย

ลูกค้าหลายคนไม่พอใจ หาว่าตัวแทนโกหก ขณะที่ลูกค้าบางคนมีความเข้าใจหน่อย บอกว่าฉันไม่โทษตัวแทนหรอก เพราะตัวเลขเหล่านี้ จู่จู่มันจะเกิดขึ้นมาเองไม่ได้ ถ้าบริษัทไม่สอนให้ตัวแทนพูด

เมื่อตัวแทนไปถามบริษัทประกันชีวิต บริษัทก็จะตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า เงินปันผลขึ้นกับผลประกอบการ เมื่อดอกเบี้ยพันธบัตรมันลดลงอย่างฮวบฮาบ จาก 6% ลงไปเหลือ 1-2% ผลตอบแทนจากการลงทุนมันก็ลดลงแบบนี้แหละ

แต่มีลูกค้าบางคนตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจว่า “ฉันเห็นว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจประกันชีวิตก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตดีมากมาโดยตลอด แถมยังมีข่าวเมื่อหลายปีก่อนว่า ธุรกิจมีกำไรดีจากการลงทุนในหุ้น บางปีกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำไมไม่ตกมาถึงผู้เอาประกันบ้าง”

ผมเองถึงแม้จะมีจะมีความรู้เรื่องการลงทุนบ้าง แต่ก็ตอบตรรกะง่ายๆแบบนี้ไม่ได้ จึงพยายามโทรศัพท์ขอข้อมูลจากบุคลากรหลายๆฝ่าย ทั้งผู้บริหารคปภ. นักวิชาการ รวมถึงผู้บริหารบริษัทประกันชีวิต ยังอธิบายไม่ตรงกันนัก

บ้างก็ว่าพอร์ตการลงทุนของบริษัทกับเงินของลูกค้าแยกออกจากกัน กล่าวคือ พอร์ตของบริษัทดูจาก กำไรที่ได้จากการดำเนินงาน (operation profit)ด้วย ขณะที่พอร์ตของลูกค้า ดูจากผลตอบแทนจากการลงทุน (investment profit) อย่างเดียว บ้างก็ว่าวิธีคำนวณเงินปันผลของแต่ละบริษัทไม่เหมือนกัน ขึ้นกับโครงสร้างของสูตรการคำนวณที่ส่งขออนุมัติจากคปภ.ในการออกกรมธรรม์รุ่นต่างๆ

ผมจึงคิดว่า คนที่น่าจะรู้เรื่องนี้ดีที่สุด คือ อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน) อดีตนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย จึงได้โทรศัพท์ไปขอความรู้จากท่าน โดยผมได้รับข้อมูลมาว่า ตัวแปรสำหรับการคำนวณผลกำไรของบริษัทประกันชีวิต สามารถขึ้นกับ 4 ตัวแปรนี้ คือ

1. ผลการลงทุน
2. การควบคุมค่าใช้จ่าย
3. อัตราความยั่งยืนของกรมธรรม์
4. อัตรามรณะ

ตัวแปรทั้งหมดนี้ ต้องเปรียบเทียบกับสมมติฐานที่ตั้งขึ้นตั้งแต่วันแรกที่นำมาใช้ในการคำนวณราคาเบี้ย ซึ่งการคำนวณเงินปันผล ก็ขึ้นกับตัวแปรเหล่านี้เช่นกัน

ผมจึงสอบถามต่อว่า ถ้าอย่างนั้น หากการลงทุนไม่ถึงกับขาดทุน คือยังได้ดอกเบี้ยอยู่บ้าง ลำพังแค่จำนวนเบี้ยประกันของแบบเงินปันผล ที่ลูกค้าต้องจ่ายสูงกว่าแบบไม่มีเงินปันผลประมาณ 3% เฉพาะเงินต้นส่วนนี้ รวมกับผลตอบแทนที่ได้นิดหน่อย ก็ควรจะออกมามากกว่าเงินปันผลที่บริษัทจ่ายออกมาในปัจจุบัน ทำไมมันเหมือนกับว่า เงินส่วนเพิ่มที่จ่ายเข้าไป มันก็หดหายไปด้วย

อาจารย์ทอมมี่ชี้แจงว่า “แต่ละบริษัทอาจมีสูตรในการจ่ายปันผลแตกต่างกัน ต้องไปดูเนื้อในว่า เขาใช้สูตรอะไร ขณะที่ในบางประเทศจะมีมาตรฐานให้ใช้สูตรไปในแนวทางเดียวกันมาคำนวณ แต่โดยหลักการแล้วจะเหมือนกัน

โดยที่แบบประกันที่มีส่วนร่วมในเงินปันผลนั้น จะถือว่าผู้ถือกรมธรรม์ได้ถือสินทรัพย์เสี่ยงไปส่วนหนึ่งด้วย และถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั้น (ถึงแม้จะเป็นบวกก็ตาม) แต่ได้ผลลัพธ์ที่ไม่ตรงกับที่ตั้งเป้าไว้ในความคาดหมายของสมมติฐานที่วางไว้ตั้งแต่แรก ก็จะทำให้ผู้ที่ถือกรมธรรม์ที่เป็นแบบมีเงินปันผลนั้น มีโอกาสที่จะไม่ได้รับเงินปันผลนั้นเลย

ยกตัวอย่างเช่น เบี้ยประกันแบบไม่มีส่วนร่วมในเงินปันผลคือ 100 บาท และเบี้ยประกันแบบมีส่วนร่วมในเงินปันผลคือ 103 บาท ส่วนต่างของเบี้ยประกัน 3 บาทนั้น เป็นเหมือนเงินลงทุนที่ผู้ถือกรมธรรม์แบกรับความเสี่ยง ซึ่งถ้าบริษัทประกันชีวิตสามารถดำเนินการได้ตามสมมติฐานที่คาดไว้ ตอนวางแผนออกแบบประกันตอนแรก

เช่น เมื่อ 20 ปีที่แล้ว จะกำหนดสมมติฐานอัตราดอกเบี้ยจากการลงทุนอยู่ที่ 6% แต่เวลาผ่านไป บริษัทลงทุนเฉลี่ยได้แค่ 3%-4% เท่านั้น นั่นก็แปลว่า เงิน 3 บาทที่หยอดลงไปนั้น ก็จะหายไปบางส่วน (หรือหายไปหมดเลย ในกรณีที่ไม่เหลืออะไรให้ตัด) เพื่อไปโปะชดเชยส่วนที่บริษัททำตามสมมติฐานไม่ได้

แต่ในทางกลับกัน ถ้าบริษัทประกันชีวิต ลงทุนเฉลี่ยได้ตามเป้าหมาย ก็จะสามารถจ่ายเงินปันผลได้ตามเป้าหมาย หรือถ้าลงทุนได้เกินเป้าหมาย ก็จะจ่ายเงินปันผลที่มากกว่าที่เคยกำหนดไว้แต่แรกได้

ผมฟังแล้วก็ยังงงๆ ทั้งที่เป็นคนวงในของธุรกิจประกันชีวิต ถ้าคนที่อยู่วงนอกอย่างลูกค้าประกันชีวิต แทบไม่ต้องพูดถึงเลย พวกเขาเพียงใช้ตรรกะง่ายๆว่า ใส่เงินเพิ่มไป 3% ทุกปี บริษัทนำเงินส่วนนี้ไปลงทุน กำไรไม่ได้ตามเป้าคือ 6% แต่ก็ทำได้ 2-3%ทุกปี แล้วทำไมเงินต้นที่ใส่เพิ่มไป 3%จึงต้องหายไปด้วย

ผมจึงใคร่ขอฝากถึงสมาคมประกันชีวิตไทย ที่เป็นผู้แทนของบริษัทประกันชีวิตทุกบริษัท คงต้องออกมาชี้แจงปัญหาคาใจให้ประชาชนทราบว่า ทำไม ธุรกิจประกันชีวิตก็ไปได้ดี บริษัทประกันชีวิตหลายแห่งทำกำไรได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ทำไมฝนตกไม่ทั่วฟ้า เงินปันผลลูกค้าไม่โตไปด้วย ซ้ำยังได้น้อยจนน่าใจหาย

ขณะเดียวกัน ก็ขอฝากโจทก์ไปถึงท่านเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยว่า ที่ผ่านมา คปภ.มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการจ่ายเงินปันผลของบริษัทประกันชีวิตหรือไม่ และตรวจสอบดีแล้วหรือยังว่า เขาจ่ายถูกต้องตามสูตรที่นำเสนอมา ตอนออกแบบประกันภัยหรือไม่

ฟังดูเหมือน ผมกำลังตั้งคำถามที่แข็งกร้าวให้กับผู้บริหารบริษัทประกันชีวิตและผู้บริหารสำนักงานคปภ.ต้องออกมาตอบ แต่ผมมีความเชื่อว่า ธุรกิจใดจะไปได้ดีอย่างต่อเนื่อง ดีอย่างยั่งยืน ต้องเป็นธุรกิจที่โปร่งใส อธิบายได้ และได้รับความเชื่อถือจากประชาชน

ที่เขียนมาทั้งหมด ไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและความยั่งยืนของธุรกิจประกันชีวิตในระยะยาวครับ

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....