ผลจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้บริษัทประกันชีวิตในเอเชีย ได้เผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง แต่การปรับตัวลงของผลตอบแทนพันธบัตร น่าจะเป็นความท้าทายที่หนักสุด  แม้แต่ก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19 ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลได้ปรับตัวลงอย่างรุนแรง ตัวอย่างเช่น ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยที่มีอายุไถ่ถอน 10 ปี ได้ลดลงเกือบ 1% ในปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปลายปี 2562 อยู่ที่ 1.5%

ในปีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0.5% หลังจากที่ได้ลดมาต่อเนื่อง ในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และพฤษภาคม  ในขณะเดียวกันธนาคารกลางอื่นๆในภูมิภาคก็ได้ตอบโต้ในแบบเดียวกัน ซึ่งฉุดผลตอบแทนพันธบัตรลงและทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงอีกสำหรับบริษัทประกันชีวิต

แม้ว่าตลาดเอเชียได้รับผลกระทบจากความผันผวน ในปี 2562 แต่บริษัทประกันชีวิตในเอเชียยังคงมีฐานะแข็งแกร่งในช่วงสิ้นปี  โดยมูลค่าทั้งหมดของบริษัทประกันชีวิต (Embedded Value-EV) ในเอเชียโตประมาณ 11.1% เป็น 816,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มจาก 734,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2561

บริษัทไชน่า ไลฟ์  บริษัท ผิงอัน ไลฟ์  และบริษัท เอไอเอ มีค่า EV มากสุดในภูมิภาค โดยมีมูลค่า 135,000 ล้านดอลาร์ 109,000 ล้านดอลลาร์ และ 62,000 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ

มูลค่าสุทธิที่ปรับตัวเลขแล้ว เป็นบวกในทุกตลาดยกเว้นในญี่ปุ่น โดยตลาดไต้หวันมีการเติบโตมากสุด 53%  ตามมาด้วยฮ่องกงโต 27%  ขณะที่ญี่ปุ่นโตลดลง 2%  ส่วนใหญ่เป็นเพราะว่ากำไรจากการลงทุนในหลักทรัพย์ภายในประเทศลดลง

มูลค่าของธุรกิจภาคบังคับโตในทุกตลาด ยกเว้น ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน โดยส่วนใหญ่เป็นเพราะมีการสมมุติฐานว่าการลงทุนจะลดลง  โควิด-19 ไม่ได้ถูกสะท้อนอย่างเต็มที่ในผลประกอบการปลายปีในหลายตลาด แม้ว่าวันที่รายงานผลประกอบการคือวันที่ 31 มีนาคม

ผลประกอบการครึ่งปีของบริษัทประกันจำนวนหนึ่งชี้ว่า การระบาดกำลังส่งผลกระทบต่อตลาดประกันชีวิตของเอเชียรุนแรงเพียงไร

ค่าอีวี โดยรวมของบริษัทเอไอเอ ลดลงประมาณ 3.9% ในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้ หลังจากที่โตเกือบ 10% ในปี 2562 โดยในประเทศไทยค่าอีวีลดลงมากสุด -14%  ฮ่องกงอยู่ที่ -6 และสิงคโปร์อยู่ที่ -7%

อย่างไรก็ดี อีวีของเอไอเอในจีนแผ่นดินใหญ่โตประมาณ 10% และบริษัทกล่าวว่า ธุรกิจในที่อื่นๆเริ่มจะฟื้นตัวกลับมา

ลี หยวน ซอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกลุ่มเอไอเอ กล่าวว่า ยอดขายของธุรกิจใหม่มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งมากในหลายๆตลาดเนื่องจากมีการคลายมาตรการ

อย่างไรก็ดีโควิด-19 ส่งผลกระทบมากต่อผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกของเอไอเอ  โดยธุรกิจใหม่ในฮ่องกงลดลงมากสุด 68% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ในขณะที่ มาเลเซีย ธุรกิจใหม่ลดลง 38% และในสิงคโปร์ลดลง 27%

พรูเด็นเชียลก็ได้รับผลกระทบมากสุดในตลาดฮ่องกง โดยเบี้ยประกันของธุรกิจใหม่ลดลงประมาณ 64% และอีวีทั้งหมดซึ่งรวมในสหรัฐด้วย ลดลง ประมาณ 10.5%

ด้วยภาวการณ์ที่ยากลำบาก บริษัทประกันชีวิตจำนวนหนึ่งในเอเชีย กำลังขอความเข้าใจจากผู้คุมระเบียบ ตัวอย่างเช่น ผลตอบแทนที่ต่ำในประเทศไทย ได้ทำให้บางบริษัทขอให้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ) ทบทวนค่าความเสี่ยงที่มีการปรับปรุงใหม่เมื่อปลายปี 2562

ในขณะที่ได้มีการเลื่อนใช้มาตรฐาน  IFRS 17 ทั่วโลกไปเป็นปี 2566  ยังต้องดูว่า การระบาดจะท้าทายตารางเวลาในอนาคตหรือไม่   แม้เป็นที่แน่นอนว่าปี 2563 จะเป็นปีที่ลำบากสำหรับภาคประกันชีวิต แต่ก็อาจเป็นจุดเปลี่ยนได้ โดยความคุ้มครองจะเริ่มมีมูลค่ามากกว่าการออม

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....