สรรพากรร่อนหนังสือขอสลิปรายได้ตัวแทนกรองภาษีทุกเม็ดเข้าชาติ

สรรพากร! ร่อนหนังสือขอ “สลิปรายได้” นักขายทุกคนจากบริษัทประกันชีวิต กรองภาษีทุกเม็ดเข้าชาติ ท่ามกลางกระแสข่าวลือ “แบงก์” เล็งส่งคนไปสอบ “ตัวแทนเดี่ยว” โยนคำถาม “คปภ.” อย่าวัวหายล้อมคอกตรวจสอบต้นสังกัด “บริษัท-ธนาคาร” ก่อนออกใบอนุญาต

เพิ่มเพื่อน

               นายสมโพชน์ เกียรติไกรวัล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โตเกียวมารีนประกันชีวิต (ประเทศไทย) กล่าวถึงกระแสข่าวที่ธนาคารพาณิชย์มีความพยายามเพิ่มยอดขายประกันชีวิตผ่านพนักงานประจำที่จะส่งไปสมัครสอบขอรับใบอนุญาตตัวแทนประกันชีวิตทั่วไปว่า นับเป็นการปฏิบัติขายที่ไม่ถูกต้องตามแนวทางของธนาคารหรือโบรคเกอร์นิติบุคคล ที่จะต้องขายประกันชีวิตให้กับลูกค้าได้เฉพาะจุดบริการของสถานที่ตั้งธนาคารเท่านั้น และการส่งพนักงานธนาคารไปสอบใบอนุญาตตัวแทนแล้วไปขายประกันชีวิตถึงบ้านลูกค้านั้นก็ถือเป็นการหลบเลี่ยงภาษีทั้งขององค์กรและบุคคลธรรมดา

                “ต้องถามว่าทุกวันนี้แบงก์ให้คอมมิชชั่นกับพนักงานที่ไปขายประกันฯ หรือไม่ ถ้าให้พนักงานแบงก์ที่ไปขายประกันชีวิตกับลูกค้าถึงบ้านได้รับคอมมิชชั่นด้วย ก็ต้องจ่ายภาษีเหมือนตัวแทนที่จ่ายตามกรอบ 40(2) เหมือนกัน แต่ถ้าไม่ก็ถามกลับไปที่แบงก์อีกว่า แล้วแบงก์เสียภาษีเหมือนตัวแทนหรือไม่ เพราะทุกวันนี้แบงก์เสียภาษีในนามนิติบุคคลเพียง 20% หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว ขณะตัวแทนมีระดับจ่ายสูงสุดถึง 42%”นายสมโพชน์กล่าว และว่า

               ทั้งนี้การจ่ายภาษีของตัวแทน อยู่ในเกณฑ์ของบุคคลธรรมดาตามกรอบ 40 (2) ที่ไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายในการบริการลูกค้าหรือบริการใดและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพื่อขายประกันชีวิตไปหักค่าใช้จ่ายในกรอบการเสียภาษีประจำปีได้ และหากตัวแทนคนใดมีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาท ต่อปี จะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ซึ่งถ้ารวมการจ่ายภาษีตามขั้นบันไดรายได้แล้วก็จะเป็น 35%+7% ก็คือ 42% ขณะที่ธนาคารจ่ายตามโครงสร้างภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 20%

               ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 กรมสรรพากร โดยกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ได้มีหนังสือถึงบริษัทประกันชีวิตทุกแห่งให้นำส่งข้อมูลการเสียภาษีของตัวแทนในสังกัดไปสรรพากรโดยอ้างถึงความประสงค์ทางราชการที่บริษัทฯต้องให้ความร่วมมือนำส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการประกอบกิจการ เพื่อการตรวจและแนะนำด้านภาษีอากรเป็นไปอย่างประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง

             เอกสารที่สรรพากรขอให้นำส่งคือ 1.รายชื่อตัวแทนและนายหน้าประกันชีวิต พร้อมเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร 13 หลัก และเลขที่ใบอนุญาตตัวแทนนายหน้าประกันชีวิต 2. ข้อมูลจำนวนค่าตอบแทนที่จ่ายในปี 2560 และ 2561 โดยมีกำหนดให้ส่งภายในวันที่ 15 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา

             ต่อกรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า สรรพากรไม่นิ่งนอนใจที่จะตรวจสอบรายได้ของตัวแทนแม้แต่คนเดียว ดังนั้นเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ เบื้องต้นทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบกิจการธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ควรตรวจสอบต้นสังกัดว่าเป็นบริษัทประกันชีวิต หรือเป็นธนาคารของผู้ที่ขอรับใบอนุญาตตัวแทนให้รอบครอบเป็นสำคัญด้วย.

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....