ออมเงินอย่างไรให้รวยเหมือน “คนจีน”

ทั่วทุกมุมโลกล้วนปลูกจิตสำนึกให้ประชากรในประเทศของตัวเองรู้จัก “ออมเงิน” เหมือนๆ กัน อย่างประเทศไทยเราน่าจะคุ้นเคยกับการสอนให้เก็บออมเงิน อย่างน้อยๆ ก็ 1 ใน 4 ของรายรับ หรือราว 2 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมดของแต่ละเดือน

ขณะซีกโลกฝั่ง “ยูโรโซน” ล่าสุดมีการทำผลสำรวจโดย “Lloyds TSB”  ธนาคารพาณิชย์ของประเทศอังกฤษ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน ได้ตั้งสมมุติฐานไว้อย่างน่าสนใจ ว่า  “ทำไมคนจีนถึงเป็นประเทศรวยเงินออมมากที่สุดของโลก”

และการขนานนามนี้เป็นที่ทราบกันในวงการเศรษฐศาสตร์มานาน จนกระทั่งตอนนี้ชาวจีนก็ยังเป็นกลุ่มคนที่มีการออมเงินมากที่สุด เมื่อเทียบกับชาติอื่นในโลก

รายงานการศึกษาของ Lloyds TSB ถูกเปิดเผยผ่านเว็บไซต์ “Lovemoney” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่รวบรวมแนวคิดเจ๋งๆ เกี่ยวกับการออมเงินและการลงทุน โดยระบุว่า เฉลี่ยแล้วการออมเงินของครอบครัวชาวอังกฤษจะเก็บเงินราวๆ  7 %  ของรายได้ในแต่ละเดือน  ฟังแล้วดูดีเลยว่ามั้ยคะ?

แต่เมื่อเทียบกับครอบครัวของ “ชาวจีน” ทุกคนต้องร้องว๊าวเป็นแน่ๆ หากรู้ว่า ครอบครัวชาวจีนส่วนใหญ่ออมเงินสูงถึง 47% ของรายได้ในแต่ละเดือน

ฉายภาพให้เห็นง่ายๆ ก็คือ ครอบครัวชาวอังกฤษส่วนใหญ่จะออมเงินเฉลี่ย 5,000 ปอนด์ต่อเดือน ขณะที่ชาวจีนเมื่อเทียบกันแล้วจะออมเงินสูงถึง 19,000 ปอนด์ หมายความว่า ชาวจีนมีการออมเงินสูงกว่าอังกฤษมากกว่า 4 เท่าตัวเลยทีเดียว

มีข้อเท็จจริงข้อหนึ่งที่สนับสนุนแนวคิดนี้ คือ จีน เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมามีอัตราการเกิดสูงลิ่ว และเติบโตขึ้นต่อเนื่อง จนรัฐบาลปักกิ่งต้องควบคุมให้ครอบครัวมีบุตรได้เพียง 1 คนเท่านั้น ก่อนที่จะเริ่มผ่อนปรนเมื่อไม่นานให้สามารถมีบุตรได้มากกว่า 2 คน

ด้วยความที่ประชากรจีนล้นทะลัก ปัญหาที่ตามมาก็คือ การกระจายความร่ำรวยอย่างไม่เท่าเทียม ส่วนสวัสดิการต่างๆ จากภาครัฐก็แทบไม่ได้ช่วยให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้นแต่อย่างใด

ดังนั้นจุดประสงค์เดียวของชาวจีนในสมัยก่อนก็คือ “ออมเงินเพื่อชีวิตช่วงวัยเกษียณ และยามเจ็บป่วย” ซึ่งเมื่อเทียบกับสวัสดิการของฝั่งยุโรปแล้ว เป็นมีความโดดเด่นพอๆ กันเลยก็ว่าได้  โดยเฉพาะประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย

ความที่ต้องดิ้นรนของชาวจีนทำให้ “การออมเงินกลายเป็นนิสัย” ไม่นิยมช้อปปิ้งพร่ำเพรื่อ และไม่มีค่านิยมแข่งขันกันที่การแต่งตัว

ชาวจีนจะมีความเชื่ออย่างนึงก็คือ การแข่งขันจะเกิดขึ้นจากคะแนนในชั้นเรียน หรือ ครอบครัวไหนสามารถส่งลูกๆ เรียนได้ในระดับสูงๆ เพราะคุณสมบัติเหล่านี้มีผลลัพธ์ไปถึงการเลือกคู่ครองของชาวจีน ซึ่งในปัจจุบันก็ยังใช้เกณฑ์ในลักษณะนี้อยู่

ในการศึกษานี้ระบุชัดว่า “ชาวจีนเป็นกลุ่มที่ไม่นิยมความหรูหรามากนักในชีวิตประจำวัน” หมายถึง การใช้เงินจะต้องเหมาะสมสำหรับโอกาสพิเศษ หรือสำคัญจริงๆ และต้องคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปด้วย”

ชาวจีนตั้งเป้าหมายการออมเงินไว้อย่างชัดเจน  เริ่มวางแผนกับเงินก้อนที่ได้มาแล้วนำเงินไปต่อยอด ในช่วงวัยหนุ่มสาว เช่น การนำเงินก้อนแรกไปลงทุนในหุ้น  ทองคำ หรือหากใครมีเงินก้อนใหญ่ขึ้นมาหน่อย ส่วนใหญ่จะนำไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนใน 3 ประเภทนี้ ชาวจีนนิยมกันอย่างมากมาตั้งแต่ในอดีต

 ปัจจุบัน กลุ่มชาวจีนสมัยใหม่เริ่มเพิ่มจุดประสงค์การออมเงินเพิ่มมากขึ้น เช่น ออมเงินเพื่อการท่องเที่ยว  แต่การท่องเที่ยวในต่างแดนสำหรับชาวจีนนั้นไม่ได้หมายถึงเพียงแค่   การมาเพื่อผ่อนคลาย หรือเยี่ยมชมสภาพแวดล้อมที่แตกต่างออกไปเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง การมองหาลู่ทางการทำธุรกิจ หรือการเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศนั้นๆ อีกด้วย อย่างที่เห็น กลุ่มเศรษฐีชาวจีนปัจจุบัน มีสัดส่วนใหญ่ลงทุนซื้อที่ดิน หรืออสังหาฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ในรายงานของ Lloyds TSB ยังระบุถึง พฤติกรรมของชาวจีนนิยมใช้บัตรกำนัลต่างๆ ในการช้อปปิ้ง รวมถึงการรับประทานอาหารในมื้อสุดหรูต่างๆ มากว่าจะใช้เงินสดจ่าย เมื่อเทียบกับชาวยุโรปที่นิยมใช้บัตรเครดิตมากกว่า และแม้ว่าบางกลุ่มจะนิยมใช้บัตรกำนัลเช่นกันกับชาวจีน แต่จะไม่ใช่ตัวเลือกแรกๆ เพราะส่วนใหญ่ชาวยุโรปจะให้ความสนใจกับคะแนนในบัตรเครดิตเพื่อเป็นส่วนลดมากกว่า

อันที่จริงหากคนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและ mind set รู้จักที่จะออมเงินสัดส่วนมากขึ้น หรือใช้จ่ายเมื่อยามจำเป็นจริงๆ กรณีศึกษาของชาวจีนก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ยิ่งวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน “จีน” อาจจะเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่ไทยน่าจะเอาเป็นแบบอย่างได้.

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....