“ชดเชยรายวัน” ไม่อยู่ในเงื่อนไขลดหย่อนประกันสุขภาพ 1.5 หมื่นบาท
นางคนึงนิจ สุจิตจร ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) .เปิดเผยถึงความคืบหน้า การพิจารณาสิทธิทางภาษีของประชาชนที่จะได้รับการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาจากการซื้อประกันสุขภาพ 15,000 บาทว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวงไปแล้วนั้นทางคปภ.ได้ประชุมหารือร่วมกับกรมสรรพากร ภาคธุรกิจ สมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัย ได้ข้อสรุปว่าจะมีการจัดทำร่างประกาศกรมสรรพากรออกมาในแนวทางเดียวกับการประกันสุขภาพบิดามารดา (ประกันภัยลูกกตัญญู) โดยมีหลักเกณฑ์ การให้ความคุ้มครองครอบคลุมทั้งหมด 4 ข้อประกอบด้วย
1. ค่ารักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วย การบาดเจ็บ การชดเชยทุพพลภาพ
2.การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) ให้ความคุ้มครอง ค่ารักษาพยาบาล
3.การประกันภัยโรคร้ายแรง และ
4.การประกันภัยการดูแลระยะยาว
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ ดังกล่าวเข้านิยามของร่าง กฎกระทรวงกรมสรรพากร 162 ที่เคยประกาศใช้ไปแล้วก่อนหน้านี้ 162 ส่วนประเด็นการชดเชยรายวันจะไม่อยู่ใน 4 เงื่อนไขที่ประชาชนจะนำมาลดหย่อนภาษีได้ ส่วนประกันสุขภาพที่มีการขายพ่วงอยู่แล้วจะมีการแยกเบี้ยตามหมวดความคุ้มครอง
และกรณีที่บริษัทเอกชนซื้อประกันสุขภาพกลุ่มให้พนักงาน ยังต้องรอหารือร่วมกับกรมสรรพากรต่อว่าจะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีฯ รวมกับส่วนบุคคลได้ทั้งหมดหรือไม่ เพราะต้องพิจารณาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย
ทั้งนี้การจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพของนายจ้างถือเป็นค่าใช้จ่ายบริษัทและเป็นรายได้ของพนักงาน ดังนั้นหากนำไปรวมกันเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนเต็มวงเงิน 15,000 บาท เบี้ยประกันฯ ที่บริษัทจ่ายให้ไปนั้น กรมสรรพากรจะถือเป็นรายได้ของพนักงานที่ต้องนำไปรวมเป็นรายได้ทั้งหมดปลายปี และต้องเสียภาษีเงินได้เพิ่มด้วย
“อย่างเช่น บริษัทซื้อประกันสุขภาพให้พนักงาน 5,000 บาท แล้วพนักงานไปซื้อประกันสุขภาพส่วนตัวเพิ่มเติมอีก 10,000 บาท เบื้องต้นพนักงานนำไปยื่นลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 10,000 บาท”
นางคนึงนิจกล่าวปิดท้ายว่า อย่างไรก็ตามประชาชนที่ซื้อประกันสุขภาพตั้งแต่ มกราคม 2560 ที่ผ่านมา สามารถนำมายื่นลดหย่อนภาษีได้เลย ส่วนความเรียบร้อยทางด้านกฎหมายเหลือเพียงระหว่างรอให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งเรื่องนี้ไปยังสำนักงานกฤษฎีกาตรวจความเรียบร้อยของกฎหมายฉบับนี้ก่อน และเมื่อผ่านแล้วจากนั้นกรมสรรพากรจึงจะออกร่างประกาศต่อไป.
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com