กองทุนประกันวินาศภัย เป็นองค์กรรัฐ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติประกันวินาศภัยฉบับที่ 2 พ.ศ.2551 เพื่อเข้ามาให้ความคุ้มครอง “ผู้เอาประกันภัย ผู้รับผลประโยชน์ และผู้ได้รับความเสียหายที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามสัญญาประกันภัย”  กรณี “บริษัทประกันวินาศภัย” ถูกเพิกถอนใบอนุญาต

ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหา “บริษัทประกันวินาศภัย” ปิดตัวไปเช่นที่ผ่านมา เราจะเห็น กองทุนประกันวินาศภัยเข้ามามีบทบาท เป็น “ผู้จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามความคุ้มครองแทนบริษัทที่ปิดตัวไป ในวงเงินไม่เกิน 1,000,000 บาท ตามกฎหมาย”

และการปฏิบัติงานของกองทุนประกันวินาศภัยหลังบริษัทประกันฯปิดกิจการ ในฐานะเป็นองค์กรรัฐ มีระเบียบที่ต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมายซึ่งรวมใช้เวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน 

โดยทันทีที่ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” มีคำสั่ง “เพิกถอนใบอนุญาต” หรือ “ปิด” บริษัท ประกันวินาศภัย คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ “สำนักงาน คปภ.” ในฐานะ “นายทะเบียน” ก็จะมีคำสั่ง แต่งตั้งให้ “กองทุนประกันวินาศภัยหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใด” เป็น “ผู้ชำระบัญชี” ของบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตนั้น

หลังจากนั้น “สำนักงานคปภ.” จะส่งมอบหลักทรัพย์ประกันและเงินสำรองของบริษัทประกันวินาศภัยที่วางไว้กับสำนักงาน คปภ.ให้ กับ “กองทุนประกันวินาศภัย หรือบุคคลอื่นใดที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชี” ภายใน 30 วันทำการ 

ส่วนของ กองทุนประกันวินาศภัย เมื่อถูกแต่งตั้งเป็น ผู้ชำระบัญชี จะมีขั้นตอน ดำเนินการ ดังนี้

1.ทำการจดทะเบียนเลิกกิจการ และประกาศทางหนังสือพิมพ์ภายใน 7 วัน เพื่อให้ประชาชนทราบว่าบริษัทประกันวินาศภัยนั้น ถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือถูกสั่งปิด นั่นเอง

2.กองทุนฯจะส่งจดหมายให้ทางเจ้าหนี้ และลูกหนี้ของบริษัทรับทราบภายใน 30 วัน ตามรายชื่อที่ปรากฎในข้อมูลของบริษัท

3.กองทุนฯจะประกาศให้บรรดาเจ้าหนี้ทราบว่า กองทุนฯจะกำหนดวันใดให้มา ยื่นคำทวงหนี้ ซึ่งมีระยะเวลาการยื่นภายใน 60 วัน

4.หลังสิ้นสุดระยะเวลาการยื่นคำทวงหนี้ กองทุนฯ จะเร่ง พิจารณา ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามสัญญาประกันภัยจาก  “คำทวงหนี้ของเจ้าหนี้” แต่ละรายที่มายื่นกับ กองทุนฯโดยเร็ว

ซึ่งการพิจารณาชำระหนี้ ทางกองทุนฯ จะมีคณะอนุกรรมการต่างๆ เข้ามาร่วมพิจารณาเพื่อความถูกต้องและเป็นธรรม และหลังจากผ่านการอนุมัติจาก คณะกรรมการบริหารกองทุนประกันวินาศภัยเรียบร้อยแล้ว ทางกองทุนฯ จะแจ้งให้ลูกหนี้ ทราบทางไปรษณีย์ ตามที่อยู่ที่เจ้าหนี้ฯได้แจ้งไว้กับกองทุนฯ

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดของการปฏิบัติงานในด้านการตรวจสอบเอกสาร หลักฐาน ยอดเงินจ่ายคืน “เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย” ที่ “ยื่นคำขอรับชำระหนี้” ยิ่งต้องใช้ระยะเวลามากขึ้น ดังเช่น 4 บริษัทประกันฯที่เพิ่งปิดตัวไปมีเอกสารหลักฐานสำคัญ 5 อย่างของ “ผู้ยื่นคำขอทวงหนี้” ประกอบด้วย

1. กรมธรรม์ประกันภัย

2.ผลการตรวจ RT-PCR (ตัวจริง)

3. ใบรับรองแพทย์ (ตัวจริง)

4. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และ

5. สำเนาหน้าสมุดเงินฝากธนาคาร

เท่ากับว่า 1 รายมีเอกสารให้พิจารณา 5 แผ่นหรือมากกว่า 5,000,000 แผ่นเมื่อเทียบกับจำนวน “ผู้ยื่นคำขอรับชำระหนี้” กว่า 600,000 ราย และเทียบกับบุคลากรที่มีอยู่ปัจจุบัน

ซึ่ง  นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย ได้มีการปรับจ้างเพิ่มบุคลากร พร้อมกับร่วมมือกระทรวงสาธารณสุข เชื่อมโยงระบบการตรวจสอบข้อมูลผลตรวจ RT-PCR ของ “ผู้ยื่นคำขอรับชำระหนี้” ประกันภัยโควิด-19 แบบ เจอ จ่าย จบ ผ่านระบบสารสนเทศ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อช่วยให้ขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่กองทุนฯ พิจารณาเอกสารเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยโควิดของ 4 บริษัทที่ใช้สิทธิยื่นคำทวงหนี้ต่อกองทุนฯ ได้รวดเร็วขึ้นแล้ว

ดังนั้น จะเห็นว่าการชำระหนี้ของ“ผู้ชำระบัญชี” หรือ “กองทุนประกันวินาศภัย” ซึ่งเป็นองค์กรรัฐ ก่อนทำการจ่ายเงินใดๆออกไปให้กับ “เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย” นั้นกองทุนฯจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายซึ่งใช้ระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินคืนให้กับบรรดาเจ้าหนี้ซึ่งมีจำนวนค่อนข้างเยอะมากรวมกับต้องผ่านระบบการตรวจสอบเอกสาร หลักฐานต่างๆอย่างรอบคอบ ถูกต้องแล้วจึงจะสามารถจ่ายไปได้ จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการจ่ายเงิน

ข้อมูลติดต่อ “กองทุนประกันวินาศภัย” เลขที่ 1010 อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ชั้น 15 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทรศัพท์ 02 791 1444  เว็บไซต์ www.gif.or.th

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....