ผลไม้มงคล “ส้มโอเวียงแก่น” ทำเงินล้านให้ชุมชน

“มกอช.” เผยปีหน้าบุกตลาดจีน-ยุโรป

 

 

ปัจจุบัน “ส้มโอ” ได้รับการยกระดับด้วย มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรหรือจีเอพี (GAP) มีการคัดบรรจุสินค้าในโรงคัดที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจีเอ็มพี (GMP) โดยการส่งเสริมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้วันนี้ “ส้มโอ” กลายเป็นสินค้าเกษตรของไทยที่มีศักยภาพการผลิตและส่งออกสูง มีความปลอดภัยและตรงตามความต้องการของตลาดอย่างมาก

ล่าสุด คุณดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) บอกว่า ส้มโอพื้นที่อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย จัดเป็นแหล่งผลิตส้มโอที่ได้มาตรฐานทั้ง GAP และ GMP  เป็นแหล่งปลูกเดียวที่ส่งออกไปยังตลาดกลุ่มสหภาพยุโรปหรืออียู (EU) ได้ตั้งแต่ปี 2552 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีตั้งแต่พันธุ์ทองดี พันธุ์ขาวใหญ่ และพันธุ์เซลเลอร์

พื้นที่ปลุูกมีทั้งหมดมีกว่า 5,000 ไร่ รวมผลผลิตได้ประมาณ 2,200,000 ผล และปีนี้ส้มโอเวียงแก่นส่งออกไปยัง EU ได้ประมาณ 40,000 ผล คิดเป็นมูลค่าหลักล้านบาท สามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกวิสาหกิจชุมชนส้มโอเวียงแก่นค่อนข้างสูง

 

 

ไม่เพียงเท่านี้ ทางวิสาหกิจชุมชนส้มโอเวียงแก่นฯ ได้ขยายตลาดส่งออกส้มโอไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง และเวียดนามด้วย โดยเฉพาะจีนมีความต้องการนำเข้าค่อนข้างมากและมีโอกาสทางการตลาดสูง คาดว่าน่าจะส่งออกส้มโอเวียงแก่นไปจีนได้ถึง 140 ตู้คอนเทนเนอร์ (บรรจุตู้ละ 13,000-14,000 ผล) หรือประมาณ 1.82-1.96 ล้านผล ผ่านเส้นทางสาย R 3 จากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ไปสปป.ลาวและเข้าสู่จีนทางตะวันตกเฉียงใต้ ใช้ระยะเวลาขนส่งสินค้า 2-3 วัน โดยราคาส้มโอส่งออกเกรด A อยู่ที่กิโลกรัมละ 60-70 บาท เกรดรองลงมาราคา ประมาณ 30-50 บาท/กิโลกรัม นับว่าเป็นราคาที่สูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา

 

 

คุณดุจเดือน บอกด้วยว่า ทาง มกอช.ได้ส่งเสริมการผลิตส้มโอนอกฤดู ออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ทำให้ส้มโอเวียงแก่นขายได้ราคาดี โดยช่วงต้นฤดูราคาซื้อขายส้มโอขาวใหญ่ อยู่ที่กิโลกรัมละ 50-60 บาท ส่วนส้มโอทองดีขายได้ผลละ 37 บาท

 

 

ไม่เพียงเท่านี้ ทางกระทรวงเกษตรฯ ยังมีแผนส่งเสริมการผลิตและส่งออกส้มโอพันธุ์ทองดีเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น ซึ่งประเทศไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ในการส่งออกส้มโอไปญี่ปุ่นได้อัตราภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 ในเดือนเมษายน 2560 นี้อีกด้วย จึงนับเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยขยายตลาดส่งออกส้มโอสู่ต่างประเทศให้แแก่เกษตรกรได้เพิ่มมากขึ้น

 

 

ทั้งนี้ ตลาดจีนและฮ่องกง มีความต้องการนำเข้าส้มโอเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากชาวจีนมองว่า ส้มโอเป็นผลไม้มงคลสื่อถึงความสมบูรณ์พร้อม จึงนิยมใช้ในการประกอบพิธีต่างๆ ทุกเทศกาล โดยเฉพาะช่วงเดือนกันยายนซึ่งมีเทศกาลไหว้พระจันทร์ ความต้องการนำเข้าจะมากกว่าเดือนอื่นๆ

 

 

มกอช.เสริมแกร่งมาตรฐานสินค้า“โครงการหลวง”

 

 

ด้าน นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ทางกระทรวงเกษตรฯได้มอบหมายให้ มกอช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการส่งเสริมและพัฒนายกระดับการผลิตสินค้าพืชผักและผลไม้ ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวง จำนวน 38 ศูนย์ ในพื้นที่ 5 จังหวัดรวมพื้นที่กว่า 10,000 ไร่ให้ได้มาตรฐาน ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน และพะเยา ซึ่งที่ผ่านมา  กระทรวงเกษตรฯ ได้รับรองแหล่งผลิตพืชผัก ผลไม้ และสมุนไพรของชาวเขาในพื้นที่โครงการหลวงตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีหรือจีเอพี (GAP)

 

 

ทั้งนี้ได้รับรองแปลงปลูกไม้ผลเมืองร้อนตามมาตรฐาน GAP จำนวน 4 ชนิด ไม้ผลเมืองหนาว 4 ชนิด ไม้ผลขนาดเล็ก 5 ชนิด และรับรองแหล่งผลิตผักอินทรีย์ จำนวน 16 ชนิด ปัจจุบันเกษตรกรในโครงการหลวงกว่า 70% ปลูกพืชผักในโรงเรือน รวมกว่า 2,000 โรงเรือน

 

 

โดยกระทรวงเกษตรฯให้ความสำคัญกับ การสนับสนุนโครงการหลวงให้โรงคัดบรรจุสินค้าในโรงคัดบรรจุที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจีเอ็มพี (GMP) และมีห้องปฏิบัติการตรวจสอบสารพิษตกค้างในพืชผักและผลไม้อย่างต่อเนื่อง ทำให้สินค้าของโครงการหลวงมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยสูง และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ

 

 

ซึ่งสามารถสร้างอาชีพให้กับชาวเขาทดแทนการปลูกฝิ่น ช่วยแก้ปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย ที่สำคัญยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตครอบครัวชาวเขาในโครงการฯให้ดีขึ้น ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9

 

 

 

นายพันนุมาศ ทองกระจ่าง หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง หนึ่งใน 38 ศูนย์ ที่ได้นำมาตรฐาน จีเอพี มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพผลผลิต     กล่าวว่า  ศูนย์พัฒนาโครงการผาตั้ง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย งานจะเน้น 2 ส่วนคืองานทดสอบและสาธิตการปลูกพืช

 

 

ส่วนผักที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้งส่งเสริมการปลูกมีจำนวน 18 ชนิด อาทิ แครอทม่วง ถั่วลันเตาหวาน ต้นหอมญี่ปุ่น กระเทียมต้น ถั่วน้อย คะน้าฮ่องกง ผักกาดหวาน คะน้ายอดโครงการหลวง ผักกาดหอมห่อ บัตเตอร์เฮดสลัด ฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก เบบี้ฮ่องกงเต้ เบบี้คอส   ผักกาดหอมโอ๊คลีฟแดง ผักกาดหอมโอ๊คลีฟเขียว เป็นต้น

 

 

หากเป็นไม้ผลก็มีจำนวน 7 ชนิด คือ อะโวคาโด พีท พลัม องุ่นดำไร้เมล็ด สตอเบอรี เคพกูสเบอร์รี่และพลับและกาแฟอาราบิกา นอกจากนั้นยังส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ไก่กระดูกดำ ไก่พื้นเมืองและหมูหลุม

 

 

โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้งได้ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้แก่เกษตรกร ด้วยการเน้นปลูกผักภายใต้โรงเรือนและการลดการใช้สารเคมีให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยหมักทดแทนเพื่อเข้าสู่การปลูกพืชในระบบ GAP ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตและปรับปรุงฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตครอบครัวชาวเขาในโครงการฯ ให้ดีขึ้น และเดินหน้าพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าโครงการหลวงให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9.

 

 

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....